วันนี้เป็นวันที่ 1 พฤษภาคม… เป็นวันแรงงานสากล ซึ่งมีขึ้นเพื่อให้เกียรติหยาดเหงื่อแรงงานของคนส่วนใหญ่ในโลก ที่ยังต้องใช้แรงกายทำมาหากินเพราะขาดโอกาสหลายอย่างจนเหลือทางเลือกไม่มาก ซึ่งส่วนใหญ่เหลือเพียงทางเลือกเดียวด้วยซ้ำ
โลกในยุคก่อนจะมีเครื่องจักรผ่อนแรงกาย หรือช่วงเวลาก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเริ่มมีการใช้เครื่องจักรไอน้ำ… ก่อนจะมีเครนช่วยยกของ… ก่อนจะมีเครื่องยนต์เดินเรือแทนฝีพาย… ก่อนจะมีรถขุดตักขนย้าย ไปจนถึงโรงโม่หิน… งานทุกอย่างต้องใช้แรงคนและแรงสัตว์… ซึ่งจำนวนผู้ใช้แรงงานทั่วโลกและความต้องการใช้แรงงานทั่วโลกในยุคนั้น… มีมากไม่จำกัดจนเกิดระบอบทาสและการค้าทาส ไปจนถึงสงครามกวาดต้อนเอาแรงงานไปใช้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ยุคโบราณมากมาย ทั้งที่เหลือให้เห็นเป็นซากพุพัง และหายสาบสูญไปกับกาลเวลา ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ยุคโบราณของทุกอารยธรรม…
กระทั่งมาถึงยุคผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ถูกเรียกว่าทาสในทางเทคนิค แต่ในทางปฏิบัติที่นายจ้างบางส่วนใช้ความได้เปรียบและโอกาสที่เหนือกว่า… เอาเปรียบ “แรงกายและเวลาทั้งหมด” ของลูกจ้าง จนไม่เหลือ “แรงใจและเวลา” ให้โอกาสอื่นนอกเหนือจาก “ทุ่มแรงกายและเวลา” ให้กับโอกาสเดียวในชีวิตที่มีอยู่ตรงหน้า จากนายจ้างที่ใส่ใจเพียงผลิตผลตอบแทนตัวเองฝ่ายเดียว จนกลายเป็นปัญหาสังคมทั่วโลกยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน
กลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วโลกเริ่มกล้าต่อรองและเรียกร้องสิทธิ์มากขึ้น หลังการเลิกทาสในสหรัฐอเมริกา ที่ปลดปล่อยชาวแอฟริกันที่ถูกกวาดต้อนมาใช้แรงงานสร้างโลกใหม่ให้คนผิวขาว และคำใหญ่ๆ อย่าง “สิทธิ และ เสรีภาพ” ที่มาพร้อมระบอบการปกครองแบบเลือกตั้ง ที่ต้องพึ่งพาฐานคะแนนจากทุกคนที่กฏหมายตราไว้ให้มีสิทธิ์… คนกลุ่มใหญ่ที่ยังด้อยโอกาสและใช้แรงงานเลี้ยงปากท้องและครอบครัว จึงรวมตัวกันต่อรองได้มากกว่าเดิม จนบางช่วงเวลาในหลายประเทศทั่วโลก… พลังของแรงงานที่รวมกันได้เป็นกลุ่มก้อนปึกแผ่น สามารถกดดันชี้นำการเมืองและสังคมได้อย่างน่าสนใจ
กรณีของสหภาพแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ Labor Unions In The United States ซึ่งมีสหภาพย่อยๆ ประสานกันเป็นเครือข่ายอยู่ในทุกมลรัฐ บางช่วงเวลาสามารถกดดันแม้แต่ประธานาธิบดีสหรัฐจนต้องปรับนโยบายตอบสนองมาแล้วหลายกรณี… หรือแม้แต่มีกรณีความขัดแย้งระหว่างทำเนียบประธานาธิบดี กับผู้นำสหภาพแรงงานก็มีอีกหลายกรณี เช่นกรณีความขัดแย้งระหว่าง James Riddle Hoffa หรือ Jimmy Hoffa ประธานสหภาพแรงงานที่เคลื่อนไหวในนาม IBT หรือ International Brotherhood of Teamsters ช่วงปี 1958-1971 ซึ่งเคลื่อนไหวท้าทายอำนาจประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี หรือ John F. Kennedy หรือ JFK… ถึงขั้นประธานาธิบดีสหรัฐแต่งตั้งน้องชายคนสนิทและทายาททางการเมืองคนสำคัญอย่าง โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี หรือ Robert F. Kennedy ในฐานะอัยการสูงสุดสหรัฐในเวลานั้น… หาทางเล่นงาน Jimmy Hoffa และ หาทางลดอำนาจต่อรองของสหภาพแรงงาน ซึ่งได้กลายเป็นโศกนาฏกรรมทั้งของ Jimmy Hoffa และพี่น้องตระกูล Kennedy ในขณะที่ความขัดแย้งของพวกเขาจบลงในแนวทางอื่น ที่คนอื่นๆ จัดการได้ดีกว่า
ในอังกฤษ… นายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ หรือ Margaret Thatcher ก็ถือว่าเป็นผู้นำประเทศอีกคนหนึ่งที่ห่ำหั่นกับสหภาพแรงงานอย่างถึงลูกถึงคน จนการประท้วงจากสหภาพแรงงานบางช่วง ทำให้มหานครลอนดอนมีขยะเน่าเต็มเมืองนานหลายสัปดาห์จากการหยุดงานประท้วงก็เคย
เวบไซต์ The President and Fellows of Harvard College และ Program On Negotiationในสังกัด HARVARD LAW SCHOOL ได้พูดถึง “กลยุทธ์การเจรจาต่อรองด้านแรงงาน” เพื่อช่วยหลีกเลี่ยง “การใช้ความเสียหายรุนแรง” ที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำโดยเจตนาให้เสียหายร้ายแรง ระหว่างการเจรจาหาทางออกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ โดยเฉพาะการร้องขอจากฝั่งพี่น้องผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ ที่ความต้องการพื้นฐานมักจะวันเวียนอยู่เพียงเรื่องค่าจ้างและสวัสดิภาพที่เป็นธรรมต่อพวกเขา… ซึ่งถ้าไม่มีเงื่อนงำอื่นแอบแฝงก็สามารถนำไปสู่ข้อตกลงร่วมแบบ Win-Win Situation ได้ไม่ยาก ก่อนเหตุการณ์จะบานปลายไปถึงสถานการณ์ระดับประท้วง หรือ Strike
ประเด็นก็คือ… การจัดการปัญหาที่ยากลำบากร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะ “ข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทรัพยากรที่ต้องแบ่งปันและเฉลี่ยอย่างถั่วถึง และเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย” ซึ่งในทางปฏิบัติที่จะให้ทุกคนหรือทุกฝ่ายพอใจเท่ากันหมด… ถือเป็นเรื่องเกินเลยความเป็นไปได้มาไกลมาก…
แง่มุมการต่อรองของทุกฝ่ายจึงมักจะใช้ “กลยุทธ์ภาพรวมในระยะยาว” มาพูดคุย “เพื่อชี้นำ” ให้อีกฝ่ายเห็นว่า… หากการเจรจาต่อรองนี้ล้มเหลว อีกฝ่ายจะต้องเผชิญกับผลลัพธ์อย่างไร
กรณีศึกษาการต่อรองของสหภาพครูชิคาโก หรือ Chicago Teachers Union หรือ CTU ในปี 2012 ซึ่งได้นัดหยุดงานประท้วงเพื่อเรียกร้องต่อนายกเทศมนตรีนครชิคาโก… Rahm Emanuel ที่พึ่งได้รับเลือกตั้งในปี 2011 โดยรื้อระเบียบและออกกฏหมายเกี่ยวกับสวัสดิภาพและสิทธิครูชิคาโกหลายประเด็นโดยพลการ หรือ ไม่หารือสหภาพก่อน… และยังไปเพิ่มอำนาจให้กรรมการโรงเรียนมีสิทธิ์เหนือสัญญาจ้างครู จนกลายเป็นความขัดแย้งภายในโรงเรียน ลามไปถึงสำนักงานนายกเทศมนตรี และลงเอยด้วยการหยุดงานประท้วง จนเด็กๆ ในชิคาโกหลายแสนคนไม่ได้ไปโรงเรียนถึง 10 วัน… แต่ความผิดพลาดครั้งนั้นได้รับการแก้ไขด้วยแนวทางที่ยืดยุ่นทั้งสองฝ่าย รวมทั้งเด็กๆ ที่เสียโอกาสด้วย โดยการยืดเวลาปิดเทอมให้เด็กๆ เพิ่มอัตราจ้างครูใหม่มาเสริม และเกลี่ยเงินเดือนค่าจ้างและการปรับขึ้นค่าจ้างอัตราใหม่ โดยสภาเทศบาลหางบประมาณมาสนับสนุนการต่อรองที่จบลงอย่างสร้างสรรนี้
กรณีการประท้วงต่อรองของสหภาพครูชิคาโก และ ความผิดพลาดทางกลยุทธ์ของ Rahm Emanuel นายกเทศมนตรีนครชิคาโก ที่หันหลังให้การเจราจาในช่วงต้น และ ถือข้างฟังเสียงจากฝ่ายที่ต้องการลดบทบาทและอำนาจของสหภาพแรงงานครูผ่านระเบียบใหม่ โดยเฉพาะประเด็นการปรับคะแนนโหวตของสมาชิกสหภาพครูให้หยุดงานประท้วงได้ต้องมีเสียงมากกว่า 75% จากเดิม 50% จึงจะไม่ผิดกฏหมายและไม่ผิดวินัยร้ายแรง… ครูชิคาโกเลยโหวตหยุดงานประท้วงไป 90% และหยุดงานพร้อมกันจนป่วนไปทั้งเมือง
คำแนะนำจาก Program On Negotiation จาก Harvard Law School ในการเจรจาต่อรองด้านแรงงาน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญในระดับปัญหาพื้นฐานของสังคม จึงมีว่า…
- Keep Cordial หรือ รักษาความจริงใจ… ก่อนการเจรจาหลีกเลี่ยงการยั่วยุอีกฝ่ายด้วยการใช้ข้อกฏหมายนำการพูดคุย… เหมือนตำรวจบางประเทศชอบท่องตัวบทคุยข่มกับประชาชนตอนตั้งด่านจับความเร็ว… ซึ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดทันทีจากความกลัว หรือไม่ ก็เป็นความโกรธของอีกฝ่าย
- Start Early หรือ อย่าช้า อย่าถ่วง… รีบทำคือใส่ใจต่อความสัมพันธ์ และ แสดงถึงความเข้าใจต่อประเด็นที่จะเจรจา
- Imagine Worst Case Scenarios หรือ นึกภาพสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดให้ออก… จงให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากอีกฝ่าย ก่อนจะพิจาณาว่าตัวเองสร้างผลกระทบอะไรและอย่างไรให้อีกฝ่ายได้แค่ไหน… ซึ่งทั้งหมดจากทุกฝ่าย ล้วนกำลังต่อรองกันบนความย่อยยับเป็นส่วนใหญ่
- Make A Realistic Offer หรือ ใช้ข้อเสนอที่ทำได้จริง… เตรียมข้อเสนอเปิดกว้างที่เป็นไปได้ไม่ยาก เตรียมทางเลือกที่เหมาะสมเมื่อมีการโต้แย้งต่อรอง และ หลีกเลี่ยงการปฏิเสธที่ก้าวร้าวเมื่ออีกฝ่ายต่อรองด้วยข้อเสนอที่เป็นไปได้ยาก
- Put It all On The Table หรือ กางทั้งหมดบนโต๊ะ หรือ อย่าหมกเม็ด… การเจรจาต่อรองเป็นการแลกเปลี่ยนที่ทั้งสองฝ่ายมี “จุดความพึงพอใจ” อยู่เสมอ ซึ่งถ้าสามารถ “กรอบประเด็นให้ชัดเจนระหว่างเจรจาอย่างตรงไปตรงมาได้” ย่อมหลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขที่สรุปไม่ได้ และการประท้วงที่ไร้ความจำเป็นลงไป… และต้องระมัดระวังการนำประเด็นอื่นนอกกรอบเจรจาเข้ามาในการสนทนาด้วย
ประมาณนี้ครับ ทั้งท่านจะเป็นนายจ้าง หรือ ลูกจ้าง… สิ่งสำคัญที่สุดนอกเหนือจากกลยุทธ์ที่นำเสนอไว้นี้ก็คือ สุดท้ายแล้วเราต้องพึ่งพากันกันเสมอ ทั้งนายจ้างและผู้ใช้แรงงาน… การช่วยกันสร้างโอกาสและแบ่งปันผลประโยชน์จากโอกาสอย่างเท่าเทียม ถือว่าเป็นแก่นของการอยู่ร่วมกันที่สำคัญ เว้นแต่จะเป็นการประท้วงหรือเรียกร้องทั้งที่รู้และเข้าใจดีว่ามันเป็นไปได้ยาก และ ต้องขัดแย้งแตกแยกแน่ๆ เหมือนกรณี Jimmy Hoffa และพี่น้องตระกูล Kennedy ที่ทั้งสองฝ่ายกลับไม่ได้อะไรเลยในท้ายที่สุด และ ตายจากกันไปทุกอย่างจึงสงบได้ในมือคนอื่น
ส่งกำลังใจถึงพี่น้องแรงงานทุกท่านครับ!
References…