smoke stacks against blue sky

ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ #FridaysForFuture

ประเทศไทยกำลังจะมีกฎหมายโลกร้อน หรือ ร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ซึ่งมีสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. เป็นเจ้าภาพ และขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการตราอนุบัญญัติต่างๆ

ส่วนภาพรวมที่มองไกลถึงขั้นบังคับใช้แค่ไหนอย่างไรนั้น ยังถือว่าหนทางยังยาวไกลสำหรับท่าทีและบริบทของรัฐไทย กับสายสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรม… ซึ่งการร่างกฏหมายโลกร้อนขึ้น ก็เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่าภายในปี 2563 ประเทศไทยจะต้องมีร่างแรกของพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ… บังคับให้ต้องร่างกฏหมายฉบับนี้ เอาแค่ท่าทีที่ลากยาวมาจนชนไตรมาสสุดท้ายปี พ.ศ. 2563 เพิ่งจะรับฟังความเห็นร่างแรกจบ… หลายฝ่ายที่จ้องอยู่ก็หมดความเชื่อใจไปสิ้นแล้ว

เป้าหมายของร่างกฏหมายโลกร้อนฉบับนี้ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ใจความสำคัญของร่างกฏหมาย จึงมุ่งหวังให้มีกลไกการตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งในเวทีแสดงความคิดเห็นได้เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมายังไม่มีการจัดเก็บข้อมูลจากเอกชน ใช้วิธีส่งจดหมายขอความอนุเคราะห์ และอุปสรรคคือ อุตสาหกรรมไม่มีการจัดเก็บการปล่อยก๊าซเป็นสัดส่วน และห่วงเรื่องความลับของข้อมูล และเป็นผลเสียต่อการค้า จึงจำเป็นต้องร่างกฏหมายโลกร้อนฉบับนี้ขึ้น เพื่อให้หน่วยงานรัฐสามารถใช้อำนาจในการเก็บข้อมูล”

ระบบการเรียกเก็บข้อมูลตามร่างกฏหมายมีสาระเบื้องต้นดังนี้ 

ประเภทข้อมูลที่เรียกเก็บ:

ข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจก

  • ร่างมาตรา 25… สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ประมวลผลข้อมูลกิจกรรมให้เป็นข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจก เพื่อเผยแพร่ในฐานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก
  • ร่างมาตรา 26 กระทรวงที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ส่งข้อมูลรายสาขาให้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม
  • ร่างมาตรา 27 ในกรณีที่ข้อมูลที่รัฐมีไม่เพียงพอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอำนาจเรียกเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกชน แต่จะต้องออกกฎกระทรวงกำหนดบุคคลและรายการข้อมูลก่อน

การเปิดเผยข้อมูลของภาคเอกชน:

ข้อมูลกิจกรรมการปล่อย: การกักเก็บและการลดก๊าซเรือนกระจก

  • ร่างมาตรา 29 ข้อมูลกิจกรรมการปล่อย การกักเก็บ และการลดก๊าซเรือนกระจกของบุคคล ที่สำนักงานหรือหน่วยงานของรัฐได้มาหรือครอบครองอยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลของแต่ละบุคคลหรือเป็นความลับทางการค้าตามกฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้า ผู้ใดจะนำไปเปิดเผยมิได้ เว้นแต่การเปิดเผยนั้นเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้น หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้ต้องเปิดเผย แต่ไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้ใดจะอาศัยอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการหรือกฎหมายอื่นเพื่อขอข้อมูลดังกล่าวมิได้

ข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจก:

  • ร่างมาตรา 30 ในกรณีที่ข้อมูลกิจกรรมหรือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก หรือปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกในส่วนใด หากเปิดเผยต่อสาธารณะแล้ว จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นการเฉพาะ บุคคลนั้นสามารถยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อขอมิให้เปิดเผยข้อมูลนั้นได้ และให้คณะกรรมการพิจารณามีคำสั่งให้แล้วเสร็จภายใน XX วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง การยื่นคำร้องและการพิจารณาคำร้องตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

คุณ ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ร่วมก่อตั้งและทนายความของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ข้อสังเกตว่า “ตามมาตรา 29 และ 30 นี้ เท่ากับจะไม่อาจเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะได้เลย…

ประเด็นที่น่าจับตามองคือ ข้อกำหนดการเปิดเผยข้อมูลนั้น มีการกำหนดให้เปิดเผยข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อสาธารณะ แต่เป็นเพียงข้อมูลรวมของปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่อาจจะหักลบกิจกรรม CSR แล้ว… แต่ไม่จำเป็นจะต้องแจ้งรายละเอียดของกิจกรรมที่ปล่อย โดยมีข้อยกเว้นสองกรณีคือ หากการเปิดเผยจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดเป็นการเฉพาะ บุคคลนั้นอาจร้องขอต่อเลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ไม่ให้เปิดเผยได้… ช่องว่างนี้เปิดทางให้เอกชนหลีกเลี่ยงไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลได้

เรื่องขอยกเว้นการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ โดยอำนาจอยู่ที่สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม… ถือเป็นเทคนิคการบัญญัติกฏหมายที่นักเคลื่อนไหว เชื่อไปหมดแล้วว่าร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ดูเหมือนจะไม่เข้าข้างสิ่งแวดล้อมอย่างที่หวังเสียแล้ว… เพราะอำนาจในการเรียกเก็บข้อมูลมาเก็บอย่างเดียว… แม้แต่เปิดเผยต่อก็ไม่ได้ ถ้าเอกชนเจ้าของข้อมูลร้องขอให้ปกปิด… ก็คงหวังจะเอาข้อมูลที่ว่าไปผลักกดันอย่างอื่นต่อก็คงยากแล้ว 

นอกจากนั้น… ร่างกฎหมายโลกร้อนฉบับนี้ คือยังไม่รวมอุตสาหกรรมการเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ที่ส่งเสริมโดยนโยบายรัฐไทย มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและผืนป่า หรือ Landuse and Landuse Change หรือ LULUCF… รวมทั้งการเผาในที่โล่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อก๊าซเรือนกระจกและทำลายป่า ที่ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจก… ซึ่งภาคส่วนที่ควรรับผิดชอบ ควรมีการเปิดเผยข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม

#FridaysForFuture ครับ!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts