ปี 2021… จะเป็นปีที่คนทั้งโลกอ่อนล้าจากสงคราม COVID19 จนคุ้นชินกับความเปลี่ยนแปลง ที่ได้กลายเป็นความปกติ ซึ่งคนส่วนหนึ่ง ได้ปรับตัวและใช้ประโยชน์จาก “ความผันผวนไม่แน่นอนและความซับซ้อนคลุมเครือ หรือ VUCA” ทั้งมวลที่เกิดขึ้นจนเป็นปกติ… มาผลักดันการเปลี่ยนแปลงเข้าหาสมดุลย์ใหม่
การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทันความเปลี่ยนแปลงต้องการทักษะการตัดสินใจ… และการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำหน้าความเปลี่ยนแปลงยิ่งต้องการทักษะการตัดสินใจเป็นการเฉพาะที่ต้องเร็วและแม่นยำต่อเป้าหมายและทิศทาง
เมื่อพูดถึงการตัดสินใจ… อีกนัยหนึ่งจะเป็นการพูดถึง “ภาวะการนำ หรือ ภาวะผู้นำ หรือ Leadership” เสมอ… ซึ่งคำว่า “ภาวะผู้นำ” จะอธิบายถึงชุดการตัดสินใจต่อเนื่องหลายการตัดสินใจ ที่สืบเนื่องและร้อยกันเป็นห่วงโซ่ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายใดๆ เป้าหมายหนึ่ง…
ความยากของการตัดสินใจในยุคที่ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาดไปกับ VUCA World หรือ โลกที่ความผันผวนไม่แน่นอนและซับซ้อนคลุมเครือกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วนั้น… การตัดสินใจแบบสร้างทางเลือกไว้ล่วงหน้า พร้อมกำหนดเงื่อนไขการใช้ทางเลือกเอาไว้ล่วงหน้า ดูเหมือนจะเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่หลายคนเลือกใช้ในยามนี้
ประเด็นก็คือ ในการตัดสินใจแต่ละเรื่อง มีโอกาสน้อยมากที่จะหวังได้เต็มร้อยเปอร์เซนต์เกี่ยวกับผลการตัดสินใจ และเมื่อต้องตัดสินใจหลายเรื่องต่อเนื่องกัน ผลของการตัดสินใจก็อาจจะคลาดเคลื่อนจากเป้าหมายปลายหวังในเบื้องแรกได้เสมอ… ตัวอย่างเช่น ถ้าท่านตัดสินใจขับรถจากบางบัวทองไปหัวหิน ท่านต้องตัดสินใจว่าจะเลือกวิ่งออกราชบุรี หรือวิ่งออกมหาชัย ระหว่างทางต้องตัดสินใจว่าจะแวะปั๊มซื้อกาแฟ เข้าห้องน้ำ หรืออั้นฉี่ไประบายที่หัวหิน ซึ่งตัวอย่างแบบนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อนหรือมีเดิมพันมากมายอะไร… แต่ในชีวิตจริง หลายครั้งที่การตัดสินใจมีผลต่ออนาคตของตัวเองและคนรอบข้างแวดล้อมมากมาย และมักจะผ่านเข้ามาในชีวิตส่วนตัวและอาชีพการงานเสมอ
การตัดสินใจจึงต้องการภาวะการนำที่ยอดเยี่ยม ซึ่งหลายคนเริ่มตระหนักถึงขั้นยกให้ “ภาวะผู้นำ” เป็นหนึ่งในทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21 ไปแล้ว… และวันนี้ผมมีแนวทางพัฒนาภาวะผู้นำ หรือแนวทางการพัฒนาทักษะการตัดสินใจอย่างย่อมาฝากครับ…
- Empathy หรือใส่ใจ… ความเอาใจใส่ผู้คนและบริบทแวดล้อมเป็นความรอบคอบสำคัญ ที่สามารถปกป้องผลกระทบที่เสียหายได้… การใส่ใจแม้ฟังเป็นเรื่องง่าย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากในสถานการณ์ทั่วไปที่ไม่ซับซ้อน และถ้าเจอสถานการณ์ที่ซับซ้อนก็ต้อง “ใส่ใจเป็นพิเศษ” หรืออาจจำเป็นจะต้องใช้ Empathy Tools ต่างๆ เข้ามาช่วย
- Truthfulness หรืออิงข้อเท็จจริง… จงยึดข้อมูลที่เชื่อถือได้ และอยู่กับความจริงที่พิสูจน์อ้างอิงได้ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ซับซ้อนก็ไม่ได้ง่ายที่จะเข้าใจ หรือแปลความเช่นเดียวกัน ที่สำคัญก็คือ ข้อมูลที่มีหรือหาได้ส่วนใหญ่ ต้องปรับแต่งสอบทานให้เชื่อถือได้ก่อนใช้เสมอด้วย
- Clarity หรือชัดเจนโปร่งใส… การวางเป้าหมายและวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักในการตัดสินใจ ต้องชัดเจนและโปร่งใสทั้งต่อตัวเอง คนรอบข้างและบริบทแวดล้อมทั้งหมด
- Prioritization หรือวางลำดับความสำคัญ… ซึ่งการจัดการลำดับที่ดีจะหมายถึงการวางแผนที่ดี จนสามารถข้ามอุปสรรคที่พิสูจน์ทราบแต่แรกได้ทั้งหมด ซึ่งลำดับความสำคัญและการวางแผนที่ดีนี่เองที่สะท้อน “ความสามารถของผู้นำ”
- Empowerment หรือสนับสนุนส่งเสริมบริบทแวดล้อม… เพื่อให้เกิด “กลุ่มพลังการตัดสินใจ” โดยคนจำนวนมาก ซึ่งมีผู้นำส่งผ่านอำนาจการตัดสินใจไปให้คนอื่นๆ พร้อมการสนับสนุนอื่นๆ ที่จะทำให้การตัดสินใจโดยบุคคลอื่น ได้แรงสนับสนุนจนมีพลังเพียงพอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกับการตัดสินใจ ลงมือทำและสร้างสรรค์ด้วยตนเอง
- Risk Mitigation หรือบรรเทาความเสี่ยง… ในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นขั้นต่อมาของการตัดสินใจ หลายกรณีมีความเสี่ยงที่ต้อง “มองให้เห็นล่วงหน้า” เพื่อเตรียมการหลีกเลี่ยงให้หลุดพ้น หรือไม่ก็บรรเทาความเสี่ยงให้อยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้
- Agility หรือคล่องแคล่วว่องไว… ซึ่งจะมีความสำคัญต่อความผันผวนเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ที่ต้องตัดสินใจสนองตอบต่อสถานการณ์ที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุม และหลายกรณีของการบริหารความคล่องตัวในการสนองตอบต่อสถานการณ์ ต้องการกลไกระดับวัฒนธรรมของทีมหรือองค์กร เข้ามาเสริมศักยภาพเท่านั้น จึงจะเกิดภาวะลื่นไหลของการตัดสินใจในกลไกต่างๆ ได้ทันท่วงที
- Communication with Storytelling หรือสื่อสารด้วยเรื่องเล่า… เพราะเรื่องเล่าเป็นการเรียบเรียงประสบการณ์ขึ้นใหม่ ให้อยู่ในรูปที่เข้าใจง่ายกว่า เห็นแนวทางชัดเจนกว่าและนำไปปรับใช้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือใช้เป็นแนวทางตัดสินใจเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้เร็วกว่า… ซึ่งพลังของเรื่องเล่า ถือเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังที่สุด ต่อประสบการณ์มนุษย์มายาวนานไม่เคยเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ยุคบูชาเทพเจ้าและนับถือผีมาแล้ว
- Execution หรือลงมือทำ… การไม่นำแผนไปปฏิบัติ หรือไม่ยอมนำสิ่งที่คิดไปลงมือปฏิบัติ ทั้งหมดย่อมไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ อยู่แล้ว ซึ่งการพูดโดยไม่ทำ หรือแค่คิดแต่ไม่ทำ… หลายกรณีถือว่าเป็นเรื่องสูญเปล่าทั้งเวลาและโอกาส ซึ่งจะมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่ม NATO หรือ No Action, Talk Only หรือไม่ทำเสียทีดีแต่พูด แทรกปนอยู่กับคนอื่นๆ เสมอ… และต้องระวังทัศนะหรือความเห็นของคนแบบนี้
- Cost Management หรือจัดการงบประมาณให้ได้… เพราะถ้าการเปลี่ยนแปลงที่สิ้นเปลืองและไม่คุ้มค่า แม้จะทำเพื่อพิสูจน์อะไรก็ตามแต่ ย่อมเป็นเรื่องน่ากังขาทั้งในมิติของการนำ ที่แสดงผ่านการตัดสินใจอย่างสิ้นเปลือง… ซึ่งการสิ้นเปลืองในที่นี้ ไม่ได้มีมุมมองเพียงแค่เป็นเรื่องของ “ราคา” เท่านั้น เพราะหลายกรณี มีเรื่องคุณค่าและประสิทธิภาพเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างสำคัญด้วย
สรุปคร่าวๆ สั้นๆ ในแต่ละประเด็นพอเป็นไอเดียประมาณนี้ครับ… ผมลอกหัวข้อมาจาก 2021.ai ซึ่งเป็นเวบไซต์ของที่ปรึกษาการทำ Digital Transformation ในระดับองค์กร ที่ต้องให้คำแนะนำผู้นำองค์กรในหลายๆ มิติเพื่อปรับแนวคิดจนเกิดการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ… และผมเห็นว่า แนวทางการตรึกตรองด้วยภาวะผู้นำเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนที่ต้องรู้จักภาพรวมให้ครบ และนำมาฝึกฝนปรับใช้ให้ครบ จึงจะเห็นพลังระดับการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับหลายๆ ท่านครับ!
อ้างอิง