gold chess king

Leadership Endurance… ขันติธรรมแห่งการนำ #ExtremeLeadership

ยิ่งสูงยิ่งหนาว เป็นสำนวนไทยยอดนิยมตลอดกาลอีกหนึ่งบท ซึ่งมักจะใช้เพื่อบอกเล่าภาวะการเป็นผู้นำ หรือแม้แต่การเป็นบุคคลสำคัญ อันเป็นสถานะที่โดดและเด่นต่อทั้งผู้ที่ยินดีจะให้เป็นผู้นำ และ ผู้ที่ไม่ยินดีจะให้เป็นผู้นำ ไปจนถึงกลุ่มคนที่รังเกียจฐานะการเป็นผู้นำและการเป็นคนสำคัญ… ซึ่งต่างก็จับจ้องเฝ้าดูสิ่งที่ผู้นำและบุคคลสำคัญประพฤติตนและดำรงตนให้เห็น

การเห็นพฤติกรรมของผู้นำ… เห็นการตัดสินใจของผู้นำ… และเห็นผลงานของผู้นำทั้งหมด… ทั้งของกลุ่มที่ชื่นชมยินดีต่อการนำ และ กลุ่มที่รังเกียจขุ่นเคืองต่อฐานะการนำ… ทั้งหมดล้วนเอาภาพ เอาการรับรู้พฤติกรรมและการตัดสินใจของผู้นำ มาใส่ความเห็นและทัศนคติของพวกเขาเอง วิพากษ์วิจารณ์สื่อสารและบอกต่อออกไป… ซึ่งถ้าเป็นการวิพากวิจารณ์และใส่ความคิดเห็นเชิงบวกก็ไม่เท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่… จะมีส่วนน้อยที่ถูกใจคนถูกวิจารณ์ เพราะทั้งคนชอบและคนชัง มักจะบิดเบือนรายละเอียดแตกต่างจาก “ข้อเท็จจริงและเจตนา” จนคนถูกวิจารณ์ขุ่นเคืองได้มากกว่า

หนาวแรกของผู้ถือฐานะการนำจึงอยู่ที่… การถูกพูดถึงด้วยข้อเท็จจริงอันบิดเบือนทั้งที่หวังดีและหวังร้ายนี่เอง! ส่วนหนาวต่อๆ มา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาระหน้าที่อันยุ่งและยาก… หนักและเหนื่อย… ยาวนานและกลืนกินตัวผู้นำหลายมิติ… โดยทั่วไปมักไม่ค่อยมีใครกลัวงานยาก งานยุ่ง งานหนัก งานเหนื่อย หรือถูกงานกดทับกัดกินกันนักหรอก… เพราะการที่ใครจะได้ขึ้นมารับผิดชอบการนำได้… ก็มักจะมีความอดทนต่อภาระที่ต้องรับผิดชอบกันได้ดีระดับหนึ่ง… ส่วนจะทำได้ดีจนเป็นที่ชื่นชมของความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องหรือไม่… ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง!

พูดถึงความอดทน หรือ Endurance หรือที่คนไทยคุ้นเคยกับคำบาลีที่เรียกว่า “ขันติ” นั้น… โดยทั่วไปของผู้นำก็มักจะมีความอดทนอดกลั้นสูงกว่าคนอื่นๆ ที่แวดล้อมอยู่เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะความอดทนอดกลั้นต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ที่ผู้นำมืออาชีพมักจะใช้เป็นเครื่องมือฝึกจิตในการพัฒนาขันติธรรม จนกลายเป็นทักษะและบุคลิกภาพที่โดดเด่นกว่าเดิมก็มี

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… ความอดทนอดกลั้น หรือ Endurance ภายใต้บทบาทและสถานะการเป็นผู้นำนั้น โดยเนื้อแท้จะเป็น “ทักษะการหยุดภาวะอารมณ์ขุ่นข้องที่เกิดจากการไม่ได้ในสิ่งต้องการ หรือ ได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการ

ซึ่งจะแตกต่างจากความอดทนอดกลั้นทั่วไป หรือ ของคนทั่วไปที่ไม่มี “สถานะ” ให้ต้องพิจารณาสิ่งที่ได้รับ ให้ซับซ้อนจนถึงขั้น “รับผิดชอบผลักดันจนได้แต่สิ่งที่ต้องการ” เพื่อคงสถานะการนำ ที่ต้องจัดการหลายอย่างซับซ้อนเพื่อให้ “ทุกอย่างลุล่วง” โดยไม่ให้ความขุ่นข้องหมองมัวส่วนตัวมาสร้างปัญหา “ได้แต่สิ่งที่ไม่ต้องการ” จนสถานะการนำในช่วงเวลานั้น… หนาวกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งมักจะตามมาด้วย “ความล้มเหลวโดยปริยาย” ในท้ายที่สุด

ความอดทนอดกลั้นต่อเหตุการณ์ไม่ได้ในสิ่งต้องการ หรือ ได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการ จึงสำคัญกับการผลักดันจนได้แต่สิ่งที่ต้องการอย่างมาก…

ประเด็นคือ… มีคนน้อยมากที่สามารถอดทนอดกลั้นกับ “ภาวะล้มเหลวในสิ่งที่ต้องการ” ได้ทุกเรื่องจนเห็นภาวะอารมณ์ขุ่นข้อง เปลี่ยนเป็นพฤติกรรมเชิงลบตอบสนองต่อสิ่งที่ไม่ต้องการทุกรูปแบบ… ในชั่วโมงเรียนภาวะผู้นำที่เข้มข้นจริงจัง และสอนโดยอาจารย์หรือวิทยากรที่เข้าใจจริงๆ เรื่องภาวะผู้นำจึงมักจะแนะนำ “เครื่องมือช่วยหยุดภาวะอารมณ์ขุ่นข้องที่เกิดจากการไม่ได้ในสิ่งต้องการ หรือ ได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการ ไว้ 2 อย่างเป็นเบื้องต้น… หนึ่งคือ Positive Thinking หรือคิดบวกถึงบวกมากให้เป็น และสอง… Forgiveness หรือให้อภัยเป็น

ครับผม!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts