เวทีการแข่งขันไอเดียธุรกิจใหม่ๆ ในแบบที่คนสตาร์ทอัพจัดขึ้น เพื่อให้ไอเดียธุรกิจว๊าวๆ มาเจอกับนักลงทุนที่พร้อมจะเทเงินให้ไอเดียโดนๆ ที่บ่อยครั้งเกิดขึ้นปุบปับฉับพลัน และ สามารถพลิกความหวังเป็นโอกาสของทั้งสองฝ่ายเพียงชั่วข้ามคืน… ซึ่งต่างก็มักจะเห็นหนทางรวยชัดๆ อยู่ตรงหน้า “ด้วยภาพที่ตรงกัน” โดยเจ้าของไอเดียธุรกิจ มักจะมีความสามารถในการโน้มน้าวนักลงทุนให้เห็นภาพอนาคตของธุรกิจได้อย่างแจ่มแจ้งถึงขั้นเสนอให้เงินทุนในทันทีเพราะกลัวพลาดโอกาส
มาตรฐานข้อมูลเพื่อนำเสนอไอเดียธุรกิจในวงการสตาร์ทอัพที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มักจะถูกเตรียมด้วยเครื่องมือรวบรวมไอเดียธุรกิจหลักๆ อยู่ 2 ชนิดเป็นหลักคือ… BMC หรือ Business Model Canvas หรือไม่ก็ Lean Canvas… โดยเครื่องมือทั้ง 2 แบบ ล้วนเป็นเครื่องมือกลุ่ม “แผนภาพรวมไอเดีย” ที่มีจุดประสงค์เดียวกันคือ รวบรวมตัวแปรสำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวกับไอเดียธุรกิจเอาไว้ในภาพเดียว… ซึ่งเครื่องมือทั้ง 2 แบบมีความแตกต่างกันในรายละเอียด และ วิธีการใช้งานอยู่พอสมควร…
BMC หรือ Business Model Canvas จะใช้กับไอเดียธุรกิจที่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน โดยให้ความสำคัญกับ “คุณค่าที่ต้องการนำเสนอ หรือ Value Proposition” ซึ่งโมเดลธุรกิจจะมีภาพค่อนข้างชัดเจน… ในขณะที่ Lean Canvas จะใช้นำเสนอไอเดียธุรกิจที่ยังมี “สมมติฐาน” ในองค์ประกอบทางธุรกิจให้ต้องลงทุน และ ดำเนินการเพื่อพิสูจน์ไอเดียก่อน… Lean Canvas จึงเหมาะกับไอเดียธุรกิจใหม่สด และ ไอเดียนวัตกรรมที่ยังหาหลักฐานเชิงประจักษ์ไม่ได้ และ ต้องหากันเองด้วยการดำเนินกลยุทธ์ตามที่ระบุลง Lean Canvas… ซึ่งโฟกัสพื้นฐานสำคัญอยู่สองด้านคือ ผลิตภัณฑ์ หรือ Product… และ ตลาด หรือ Market ก่อนจะเชื่อมโยงด้วย Unique Value Proposition ซึ่งเป็นคุณค่าที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงและแตกต่าง… เพราะถ้าไม่ต่างจนไม่ซ้ำใครก็เรียกว่าใหม่ไม่ได้ และ ถ้าใหม่ไม่ได้ก็เป็นนวัตกรรมไม่ได้ด้วย
ในทางกายภาพ… Lean Canvas กับ Business Model Canvas จะมีโครงสร้างเป็นตาราง 9 ช่องไม่ต่างกัน ท่านที่คุ้นเคยกับ Business Model Canvas จึงสามารถเติมข้อมูลลง Lean Canvas ได้ไม่ยาก เพียงแต่ข้อมูลและความหมายของตารางรับข้อมูลจะแตกต่างกันเท่านั้น โดย…
1. Customer Segments… จะอยู่ช่องขวาบนและใช้ระบุกลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าเป็นใคร? และ ถ้าไอเดียธุรกิจมีลูกค้าเป้าหมายหลายกลุ่มที่แตกต่างกัน การเขียน Lean Canvas ก็มักจะแยกชุดข้อมูลกันเขียน
2. Problem… จะอยู่ช่องซ้ายบนและใช้ระบุปัญหาของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยมักจะทำรายการ หรือ ลิสต์เรียงลำดับความสำคัญของปัญหา
3. Unique Value Proposition… จะอยู่ช่องกลางและใช้ระบุจุดเด่นตามลำดับที่ลูกค้าเป้าหมายจะตัดสินใจเลือกซื้อหรือเลือกใช้เรา
4. Solution… จะอยู่ช่องกลางซ้ายบนและใช้ระบุ “วิธีแก้ปัญหา” ทางซ้ายสุดเพื่อให้ได้คุณค่าในช่องกลางสำหรับลูกค้าทางขวา
5. Channels… จะอยู่ช่องกลางขวาล่างและใช้ระบุช่องทางและวิธีการนำคุณค่าในช่องกลางไปถึงลูกค้าฝั่งขวา
6. Revenue Streams… จะอยู่ช่องขวาล่างและใช้ระบุช่องทางและรูปแบบของรายได้ รวมทั้งข้อมูลรายรับที่สำคัญ
7. Cost Structure… จะอยู่ช่องซ้ายล่างและใช้ระบุต้นทุน และหรือ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เป็นตัวเลขของฝั่งรายจ่าย
8. Key Metrics… จะอยู่ช่องกลางซ้ายล่างและใช้ระบุตัวชี้วัดที่ใช้บอกความสำเร็จ–ล้มเหลวของธุรกิจ
9. Unfair Advantage… จะอยู่ช่องกลางขวาบนและใช้ระบุสิ่งที่ทำให้ไอเดียธุรกิจนี้มอบคุณค่าจากช่องกลางไปถึงลูกค้าทางขวาในแบบที่ได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
รายละเอียดไม่ลงลึกกว่านี้แล้วน๊ะครับ… เพราะท่านที่เขียน BMC หรือ Business Model Canvas เป็นก็จะไม่งงอยู่แล้ว… ส่วนท่านที่เขียนไม่เป็น หรือ เขียน BMC และ Lean Canvas ไม่ออกก็มักจะไม่ใช่ปัญหาทางเทคนิคจากเครื่องมือ… เพราะทั้งหมดจะเป็นเพราะไอเดียที่มีไม่สามารเขียนออกมาเป็นชิ้นเป็นอันได้จริงมากกว่า!!!
References…