แนวทางการจัดการศึกษาเพื่อหนีโมเดล “โรงผลิตแรงงาน” ของสถาบันกันศึกษา โดยมุ่งเป้าหาทางพัฒนาสมรรถนะส่วนบุคคล หรือ Competency Based Education ซึ่งสนับสนุนการเรียนรู้อิง “พื้นฐานความสนใจใฝ่เรียนส่วนบุคคล หรือ Personalized Learning” โดยมีสมรรถนะของผู้เรียนเป็นแกน หรือ เอาสมรรถนะของผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง จนสามารถปรับเปลี่ยนเวลาและวิธีการเรียนการสอนได้อย่างยืดหยุ่นเฉพาะคน
ปัญหาใหญ่ก็คือ… เมื่อต้องอิงพื้นฐานความสนใจใฝ่เรียนส่วนบุคคล หรือ Personalized Learning ก็จำเป็นจะต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า… ผู้เรียนแต่ละคนสนใจอะไร? หนึ่ง กับผู้เรียนมีพื้นฐานหรือสมรรถนะอย่างไร? อีกหนึ่ง และ มีเป้าหมายการนำใช้องค์ความรู้และทักษะของผู้เรียนในอนาคตอย่างไร? อีกหนึ่ง… ซึ่งทั้งหมดเป็นความต้องการของผู้เรียน หรือ Learner Needs ที่หน่วยการจัดการเรียนรู้จำเป็นจะต้อง “ได้ข้อมูลที่แม่นยำ” มากพอ… เพื่อใช้ข้อมูลที่แม่นยำนี้ ไปช่วยผู้เรียนให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้แบบ… อยากโตมาเป็นอะไรก็จะได้ทำอาชีพที่ต้องการจะเป็นตามนั้น
ความจริง… โรงเรียนมัธยมหลายแห่งที่มีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนทั้งในกรุงเทพมหานคร และ ในหลายๆ จังหวัดภูมิภาค ต่างก็มีโปรแกรมการเรียนให้เด็กๆ เลือกเรียนตามความต้องการมากมาย ซึ่งหลายโรงเรียนที่มีศักยภาพถึงขั้นสามารถช่วยนักเรียนและผู้ปกครองเตรียมพอร์ตโฟลิโอ หรือ Portfolio ตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยเป้าหมาย ที่เด็กๆ สนใจจะเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรี… ซึ่งเด็กมัธยมปลายกลุ่มที่มีเป้าหมายความต้องการในอนาคตอย่างชัดเจนนี้ มีโอกาสได้สิทธิเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยไม่ต้องแข่งขันด้วยเกณฑ์เข้าเรียนผ่านเงื่อนไขอื่นๆ อีกเลย…
แต่ “เด็กพอร์ต” ที่ถึงเกณฑ์จริงๆ ก็ไม่ได้มีมาก และ ยังมีความซับซ้อนของการพัฒนาสมรรถนะตามความต้องการของผู้เรียนมากมาย เช่น ตัวผู้เรียนเองไม่รู้ความต้องการที่ชัดเจนของตน หรือ ความต้องการของเด็กกับผู้ปกครองขัดแย้งกัน หรือ โรงเรียนขาดทรัพยากรที่เพียงพอและดีพอ รวมทั้งประเด็นที่โรงเรียนหรือครูอาจารย์ไม่สามารถวิเคาะห์ความต้องการของผู้เรียน หรือ Learner Needs ได้ถูกต้อง… โดยเฉพาะการวิเคราะห์ได้ถูกต้องถึงขั้นชี้นำ และ สนับสนุนเป้าหมายชีวิตให้ผู้เรียนได้
กล่าวเฉพาะประเด็นการวิเคราะห์ผู้เรียนเพื่อหาความต้องการเรียนรู้ หรือ Learning Needs ซึ่งในยุคที่มีการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อข้าม “ขีดจำกัดด้านทรัพยากรทางการศึกษา” ในขั้นสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Hybrid Education ได้แล้วในปัจจุบัน… แต่ก็ยังเห็น Hybrid เพียงประเด็น “สถานที่เรียน กับ เวลาเรียน” เป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่สามารถ Hybrid ข้ามโรงเรียนหรือข้ามสถาบันและข้ามช่วงชั้นกับเกณฑ์อายุได้แล้วด้วยซ้ำ… แต่ระบบ และ ปัจจัยอื่นๆ อีกมากก็ยังคงก้าวไปไม่ถึง ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องเริ่มต้นที่การวิเคราะห์ผู้เรียนก่อน
คำถามคือ วิเคราะห์ยังไง?
ที่จริง… การวิเคราะห์ผู้เรียนจนได้ข้อมูล Learner Needs นั้น ส่วนที่เรียกว่าการวิเคราะห์จริงๆ ไม่ได้มีอะไรยุ่งยาก ถ้า! สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้เรียนในมิติต่างๆ ได้แม่นยำครบถ้วน ทั้งด้านความรู้ ความสามารถ และ ประสบการณ์… ด้านสติปัญญา… ด้านอารมณ์และพฤติกรรม… ด้านร่างกายและสมรรถภาพทางกาย รวมทั้งด้านสังคม…
ส่วนเครื่องมือสำหรับเตรียมข้อมูลสู่การวิเคราะห์หลักๆ ก็ยังเป็นการสอบวัดความรู้แบบต่างๆ เพื่อประเมินความรู้ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างอะไรมากมายจากที่เป็นมาและทำกันอยู่ในปัจจุบัน… นอกจากนั้นก็จะมีการใช้แบบสำรวจต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงสถิติให้ครอบคลุมด้านต่างๆ เป็นรายบุคคล… ใช้การสังเกต หรือ Observations… ใช้การสัมภาษณ์แบบสนทนากลุ่ม หรือ Focus Group รวมทั้งการทำผังสายอาชีพ หรือ Job Mapping สะสมไปตามช่วงชั้น
ประเด็นก็คือ… การสืบค้นและรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ Learner Needs ในระบบการศึกษาเพื่อนำทางไปสู่ Personalized Learning มีรายละเอียดที่กระทบ “โครงสร้างระบบการศึกษา” ที่เป็นอยู่อย่างมาก… ซึ่งการรู้ Learner Needs แม่นยำถูกต้องแค่ไหนก็ไร้ประโยชน์อย่างสิ้นเชิง ถ้า! “ระบบ” ไม่ยืดหยุ่นรองรับการปรับเปลี่ยนปัจจัยแวดล้อมให้สอดคล้องกับบริบทของ Learner Needs…
ส่วนประเด็นเครื่องมือข้อมูลสำหรับ Learner Needs Analysis… โดยส่วนตัวยังหาใครรวบรวมเอาไว้เป็นคำภีร์ไม่ได้เลยครับ แต่ก็เชื่อว่าเครื่องมือ Behavioral Personas ที่นักการตลาดใช้มีความน่าสนใจมาก ถึงแม้จะต้องประยุกต์ และ ศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือเฉพาะกันอย่างจริงจังอีกมาก… โดยเฉพาะ Learner Needs ในระดับเป้าหมายชีวิตตั้งแต่เด็กจนโต… ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับ Personalized Learning แบบ “ครูยิงมุขถูกใจนักเรียน” แบบคนละเรื่องเดียวกัน
แนะนำถกเถียงโต้แย้งได้ทุกช่องทางครับ!
References…