Rearrange

Learning Contracts… พันธสัญญาเพื่อการเรียนรู้

ข้อตกลงระหว่างนักเรียนและครู บางครั้งก็เกี่ยวถึงผู้ปกครองของนักเรียน รวมทั้งผู้บริหารนโยบายการศึกษาที่เกี่ยวข้อง… โดยสร้างข้อตกลงการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมระหว่างกัน อ้างอิงวัตถุประสงค์การเรียนรู้ พร้อมข้อตกลงเชิงพฤติกรรมสำหรับนักเรียนและครูอาจารย์ ที่ทุกฝ่าย… จำเป็นต้องบรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อตกลงสัญญา ซึ่งครอบคลุม เป้าหมายในข้อตกลง… หน้าที่และภาระผูกพันของแต่ละฝ่าย… กรอบเวลา และ ทรัพยากรพื้นฐานอันจำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลง

ท่านกำลังอ่านบทความชุด ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ หรือ Adult Learning Theory หรือ Andragogy Theory ที่ผมถอดสาระอ้างอิงหนังสือชื่อ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ของ Malcolm S. Knowles และคณะ… และตอนนี้เป็นประเด็น แนวทางการนำใช้ทฤษฎีการศึกษาผู้ใหญ่ ในแนวทางที่ 3 หรือโมเดลการนำใช้ลำดับ 3 ต่อจาก Facilitating Learning ที่หนังสือ The Adult Learner แนะนำไว้

Professor Allen Tough… เจ้าของผลงาน The Adult’s Learning Projects: A fresh approach to theory and practice in adult learning มีข้อสรุปบางประเด็นที่น่าสนใจ ที่เกี่ยวกับการศึกษาผู้ใหญ่ที่ว่า… เมื่อผู้ใหญ่เรียนรู้บางสิ่งด้วยตนเอง เพราะมีเหตุผลผูกมัดให้ต้องรับผิดชอบ ผู้ใหญ่จะควบคุมตัวเองรับผิดชอบการเรียนรู้ได้อย่างยอดเยี่ยม ลึกซึ้งและฝังจำนำใช้ความรู้ได้จริงในกรอบเวลาอันสั้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุฑารัตน์  คชรัตน์ อธิบายเกี่ยวกับ Learning Contracts ไว้ว่า… Learning Contract คือ ข้อตกลงระหว่างผู้เรียนหรือกลุ่มผู้เรียน กับ ผู้สอนหรือทีมผู้สอน เกี่ยวกับกระบวนการที่ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถ หรือแม้กระทั่งเจตคติเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ไม่ว่า “การเรียนรู้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในห้องเรียนหรือจะเป็นการเรียนอย่างอิสระ”

ในการศึกษาแบบคลาสสิคดั้งเดิม… กิจกรรมการเรียนรู้ถูกจัดทำโดยครูและสถาบัน โดยผู้เรียนจะได้รับการบอกกล่าวถึงมีวัตถุประสงค์การเรียนรู้… บอกกล่าวว่าอะไรที่จะนำไปใช้เป็นทรัพยากรในระหว่างเรียนรู้ และวิธีการใช้ทรัพยากรนั้น… เวลาโอกาสที่ควรพิจารณาใช้ทรัพยากรนั้น… และจะถูกประเมินความรู้แบบไหน อย่างไร… โครงสร้างแบบนี้เอง ที่สร้างความสับสนให้กับ “ความต้องการทางจิตวิทยาระดับผู้ใหญ่ ที่จะต้องกำกับควบคุมด้วยตนเอง…” เมื่อมาเจอเข้ากับ “เงื่อนไขต้องทำโดยปริยาย ห้ามคิด หมดสิทธิ์ท้วง ไร้สิทธิ์ถาม” ส่วนใหญ่จึงเกิดการต่อต้านไม่แยแส หรือ ถึงขั้นถอนตัวยกเลิกไม่ข้องแวะไปชั่วชีวิตก็มี

Learning Contracts หรือ พันธการเรียนรู้ หรือ สัญญาการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนวางแผนการเรียนรู้และประสบการณ์ โดยทำงานร่วมกันระหว่างผู้เรียนกับครูพี่เลี้ยง ครูอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้นเรียน โดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในกระบวนการวิเคราะห์ความต้องการของทุกคนที่เกี่ยวข้อง… กำหนดวัตถุประสงค์ส่วนบุคคล… ระบุทรัพยากร… เลือกกลยุทธ์และประเมินความสำเร็จ ผ่านตัวชี้วัดว่าผู้เรียนจะพัฒนา “ความรู้สึกเป็นเจ้าของแผน” แค่ไหนอย่างไร

โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่ต้องมีการฝึกปฏิบัติ หรือ ฝึกภาคสนาม หรือ Field Based Learning เช่น แพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ วิชาชีพทางช่าง และวิชาชีพด้านการบริการ… ซึ่งแต่เดิมครูอาจารย์ที่นำฝึก ล้วนแต่สั่ง บังคับ ควบคุมและอะไรอีกมากมาย… ยกเว้นให้สิทธิ์ผู้เรียนได้ “รู้สึกเป็นเจ้าของแผนการเรียนรู้”

ที่น่ากลัวกว่านั้นคือ… หลายกรณีครูคุมฝึกกลั่นแกล้งรังแกและล้อเลียนผู้เรียนแบบเห็นเป็นสนุก หรือ Bully ก็มี… และหลายกรณีมีการเอารัดเอาเปรียบ ลำเอียงและใช้วิจารณญาณที่ไม่เป็นธรรมกับผู้เรียนตามทัศนคติส่วนตนก็มี

การมีรายละเอียดชัดเจนล่วงหน้า และให้โอกาสผู้เรียนได้ต่อรองปรับแต่งเงื่อนไขถึงขั้นรู้สึก “เป็นเจ้าของแผน”… ซึ่งผู้เรียนมีหน้าที่พัฒนาความรู้ส่วนตนให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตกลงกันไว้…  มีการระบุรายละเอียดลำดับขั้นตอนและเป้าหมายต้องรับผิดชอบแค่ไหนอย่างไร… สามารถปรับเปลี่ยนเงื่อนไข วิธีการ กระบวนการ ทรัพยากรหรือกรอบเวลาส่วนไหนอย่างไรได้บ้าง?… ก็จะกลายเป็นข้อตกลงก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการเรียนรู้ หรือ ฝึกฝนทักษะประสบการณ์ ที่ผู้เรียนมีข้อผูกพันธ์ที่ออกแบบไว้เองต้องรับผิดชอบ

พรุ่งนี้มาดูกันว่า… Learning Contracts หรือ พันธการเรียนรู้มีเครื่องมือ ขั้นตอนการสร้างและการใช้อย่างไร?

ขอบคุณที่ติดตามครับ!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *