ถือเป็นตอนที่ 3 ของซีรีย์ Learning Experience Design… ถ้าท่านเปิดมาเจอบทความนี้ครั้งแรก และยังไม่รู้จัก LX Design ขอให้ท่านกลับไปอ่านบทความก่อนหน้าทั้งสองตอนก่อนนะครับ… ตอนแรกชื่อ Learning Experience Design… การออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ และตอนที่สองเรื่อง Niels Floor และ Learning Experiences Canvas
และตอนนี้มากางผืนผ้าใบเพื่อร่างประสบการณ์การเรียนรู้กันเลย… สิ่งที่ต้องเตรียมคือ Template หรือโครงต้นแบบตาราง 11 ช่องของ LX Canvas ท่านจะร่างขึ้นเองตามรูป หรือจะ Download จากเวบไซต์ Lxcanvas.com โดยตรงก็ได้ครับ… ส่วนที่เหลือก็เตรียมปากกาดินสอและ Post-it Note ด้วยก็จะดีมาก
ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่า แต่ละช่องเอาไว้เติมข้อมูลหรือไอเดียอะไร
- Strategy หรือ กลยุทธ์… ช่องตรงกลางที่เป็นหัวใจสำคัญ จนต้องใช้ LX Canvas แต่จะเป็นช่องที่ข้อความในช่องนี้จะเติมเสร็จก็ต่อเมื่อข้อความใน 4 ช่องด้านซ้ายกับ 4 ช่องด้านขวาเติมเสร็จก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากการวิเคราะห์หาเทคนิคและวิธีการด้วยข้อมูลฝั่งขวาทั้งหมด เชื่อมโยงกับข้อมูลฝั่งซ้ายทั้งหมด… ซึ่งข้อมูลที่ได้ในช่องนี้อาจเป็นเพียงเทคนิควิธีการสามัญที่มีใช้กันทั่วไป… หรืออาจเป็นเทคนิควิธีการใหม่ๆ ระดับนวัตกรรมการเรียนการสอนก็ได้
- Learning Outcomes หรือ เป้าประสงค์ของการเรียน… ช่องซ้ายบนซึ่งต้องเขียนลงไปว่าเรียนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น… เรียนแล้วได้ความรู้อะไรไป หรือเรียนแล้วทำอะไรเป็น
- Learning Objective หรือวัตถุประสงค์การเรียนรู้… ช่องซ้ายบนที่สอง จะบอกความสำคัญของสิ่งที่ต้องเรียน ซึ่งอาจจะสำคัญกับพฤติกรรม หรือ Behavior… สำคัญกับข้อมูลเบื้องลึก หรือ Insight… หรือสำคัญกับทักษะ หรือ Skill… หรือว่าสำคัญกับองค์ความรู้และความเข้าใจหรือ Knowledge… สามารถเติมได้ทั้ง 4 ประเด็นย่อยหรือเว้นไว้บางประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องก็ได้
- People หรือ ผู้เรียน… ช่องซ้ายกลางด้านนอก สำหรับใส่ข้อมูลคนเรียน… เช่น นักเรียน ป.6 หรือพนักงานทดลองงาน
- Characteristic หรือ ลักษณะของผู้เรียน… ช่องซ้ายกลางด้านใน เอาลักษณะของคนจาก People มาอธิบาย… ตรงนี้จะเรียกว่าเป็นข้อมูล Personars ก็ได้ ซึ่งหลายครั้งอาจจะมีข้อมูล Demographic แตกต่างหลากหลาย เช่นเพศ อายุ ฐานะรายได้… ก็ต้องหาจุดร่วมใน Personars ที่คนเหล่านี้สามารถเรียนร่วมกันได้… สิ่งสำคัญก็คือ เรากำลังออกแบบการเรียนรู้โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึงการปรับแต่งกลยุทธ์การเรียนรู้ต้องเหมาะสมกับลักษณะของผู้เรียนทั้งหมด… ย้ำว่าทั้งหมด! ที่หากแตกต่างออกไปควรแบ่งแยกให้ชัดเจน
- Location หรือ สถานที่… ช่องขวาบนที่ต้องระบุว่าจะเรียนจะสอนกันที่ไหน… ในห้องเรียน… ห้องประชุม… Co-working Spaces… สวนสาธารณะ… หรือเรียนแบบ Anywhere หรือเรียนออนไลน์
- Environment หรือ สภาพแวดล้อมของสถานที่… ช่องขวากลางต้องบรรยายสถานที่จากช่อง Location ทั้งลักษณะทางกายภาพ หรือ Physical ว่าเป็นตึก เป็นบ้าน อยู่กลางแจ้ง ริมแม่น้ำ… หรือมีอะไรเพิ่มเติมอื่นอีกจากลักษณะทางกายภาพที่จำเป็นจำพวก เครื่องฉายโปรเจคเตอร์ เครื่องเสียง ซอฟท์แวร์ อันเป็นทรัพยากรแบบ Virtual ที่อาจจำเป็นต้องมีและต้องใช้… ถัดมาก็เป็นประเด็นลักษณะทางสังคม หรือ Social เช่นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในวัด จะมีผู้มาปฏิบัติธรรมนุ่งขาวห่มขาวอยู่เต็มไปหมด… และสุดท้ายอย่าลืมโฟกัสวัฒนธรรมของพื้นที่ๆ เราจะใช้จัดการเรียนรู้ ซึ่งให้ดูกิจกรรมและกิจวัตรเดิมของผู้คนในสถานที่ที่เราจะใช้กับการเรียนรู้
- Resources หรือทรัพยากร… ช่องขวากลางด้านนอกหมายถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ในการเรียนการสอนอย่างเครื่องเขียน สี พู่กัน เครื่องครัว ของสด โต๊ะเก้าอี้ เต็นท์ ฯลฯ… ซึ่งเป็นของที่ต้องมีเพื่อการนี้ทั้งหมด
- Constraints หรือข้อจำกัด… ช่องขวากลางด้านใน ให้บรรยายข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคกับการจัดการเรียนรู้ รวมทั้งทรัพยากรที่หาไม่ได้หรือไม่มีให้
- Activities หรือกิจกรรม… ช่องซ้ายล่างให้บรรยายหรือทำรายการกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นตลอดการเรียนรู้ที่กำลังออกแบบอยู่นี้
- Process หรือขบวนการ หรือขั้นตอนต่างๆ… ที่ช่องขวาล่าง ที่จะต้องบอกขั้นตอนกลไกที่จะทำให้กิจกรรมในช่อง Activities เกิดได้ จนตอบ Learning Objective และได้ Learning Outcomes ตามต้องการ… โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเชื่อมโยงด้วย Strategy ให้ทรัพยากรไหลจากขวาไปซ้ายหาผู้เรียนอย่างราบรื่น
คร่าวๆ สำหรับ LX Canvas ก็ประมาณนี้ โดยการออกแบบและพัฒนาข้อมูลและเนื้อหาทั้งหมด ก็เพื่อตรวจสอบสถานะทั่วไปที่ต้องเตรียมการนั่นเอง… ซึ่งเป้าหมายปลายทางจะอยู่ฝั่งซ้าย ในขณะที่สิ่งของและสถานที่จะอยู่ฝั่งขวา ส่วนวิธีการจะอยู่ตรงกลางและการดำเนินการจะเป็นฐานอยู่ส่วนล่าง
ทั้งหมดจะทำให้เราเห็นภาพรวมเพื่อเตรียมการสอนอย่างแท้จริงโดยไม่ขาดหกตกหล่น…
แต่ความยากของ LX Design รวมทั้งการทำข้อมูลดูบน LX Canvas นั้น คือการโฟกัสแบบ Goal Oriented หรือใช้ Learning Outcome เป็นสำคัญ… นั่นหมายความว่า ทุกการออกแบบการเรียนรู้ด้วย LX Design จะต้องยึด People หรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่แปลว่าจะต้องเข้าใจผู้เรียนอย่างลึกซึ้งก่อน
LX Design จึงหาทางออกด้วยการยกเอา Design Thinking Framework มาใช้ในขั้นตอนการหา Insight ไปจนทำ Prototype และ Test จนโมเดลชัดเจนอย่างแท้จริง
พรุ่งนี้มาดูด้วยกันว่า Design Thinking สำคัญแค่ไหนกับ Learning Experience Design