LX Design

Learning Experience Design… การออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้

อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า… นับจากนี้ไปเราจะไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้แล้วอย่างชัดเจน และนอกจากหยุดไม่ได้แล้ว เรายังต้องเรียนรู้ให้มาก ใช้เวลาให้น้อยและประยุกต์ใช้ให้เป็น

ซึ่งการเรียนรู้จะเกิดขึ้นทุกที่กับทุกคน… ที่โรงเรียน ที่บ้าน ที่ทำงาน ในห้องประชุม ไปดูงาน ไปท่องเที่ยวหรือแม้แต่ขณะชอปปิ้ง… ซึ่งที่ว่ามาทั้งหมดนั้นคือ กิจวัตรของปุถุชน หรือ Human Journey ที่จังหว่ะชีวิตของผู้คนไม่มีทางจะเหมือนหรือเป็นอย่างเดียวกัน แหละนั่นทำให้ประสบการณ์ของผู้คน สั่งสมและสร้างสรรค์มาแตกต่างกัน… นั่นทำให้ผู้คนเหมือนกันบางสิ่งและแตกต่างกันในหลายๆ สิ่งอย่างที่เป็นและเห็นอยู่

ถึงตรงนี้… คำว่าประสบการณ์ หรือ Experience จึงเป็นอะไรที่สำคัญอย่างยิ่งยวด… เน้นว่าสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่จะเข้าถึงพฤติกรรมที่คาดหวังของมนุษย์ และประสบการณ์ต่างๆ ของมนุษย์ เกิดจากกลไกการเรียนรู้ทั้งสิ้น

การโฟกัสประสบการณ์จึงสำคัญกับผลลัพธ์สุดท้ายที่คาดหวังได้ ของทุกๆ วงการและอุตสาหกรรม… ซึ่งตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา วงการธุรกิจและอุตสาหกรรมล้วนพูดถึง Users Experience หรือ UX กันมากมาย พร้อมๆ กับ Success Story ที่องค์กรอย่าง Google, Amazon หรือ Microsoft ต่างให้ความสำคัญกับ Users Experience และพยายามที่จะเข้าถึงทุกๆ ประสบการณ์ที่สุดท้ายเปลี่ยนเป็นผลกำไรและการเติบโตอย่างยั่งยืน

ส่วนในแวดวงการศึกษา… เมื่อแนวโน้มทั้งหมดพามนุษยชาติมาถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning ที่กำลังอยู่ในกระแสหลักของการเปลี่ยนผ่านในยุคนี้… การค้นหาแนวทางที่จะนำความรู้ไปสร้างประสบการณ์ให้เป้าหมาย จึงถูกศึกษาค้นคว้า หาทั้งเทคนิคและแนวทางใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับแนวโน้มยุคสมัยแห่งการเรียนรู้ตลอดเวลา… และหนทางสายนี้ก็ตัดตรงเข้าหาคำว่าประสบการณ์ หรือ Experience เช่นเดียวกัน… ซึ่งอะไรก็ตามที่เป็นประสบการณ์ ย่อมต้องการการออกแบบที่ดี เพื่อให้ได้ผลลัพธ์สุดท้ายเป็นประสบการณ์ที่ดี… หรืออย่างน้อยๆ ก็เป็นประสบการณ์ที่ตอบเป้าหมายการออกแบบไว้แต่ต้น… และนี่คือจุดเริ่มต้นของคำว่า Learning Experience ที่กำลังจะกลายเป็นกระแสใหม่ในวงการการศึกษา

Niels Floor ผู้ที่ถูกยกให้เป็น Learning Experience Design Pioneer ได้ให้นิยามไว้ว่า… Learning Experience Design (LX Design) is the process of creating learning experiences that enable the learner to achieve the desired learning outcome in a human centered and goal oriented way. การออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ เป็นกระบวนการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ช่วยให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้อย่างที่ต้องการ โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและมุ่งเน้นต่อเป้าหมาย

ซึ่งโดยหลักการตามนิยามที่ว่ามาก็ไม่ได้มีอะไรใหม่หรอกครับ… ทุกวันนี้ครูอาจารย์ทั้งหมดก็ออกแบบทั้งหลักสูตรและบทเรียนที่มีทั้ง “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” และ “สร้างวัตถุประสงค์การเรียนรู้” ที่เป็นเป้าหมายของเนื้อหาบทเรียนทุกบททุกตอนทุกคาบเรียนกำกับไว้อยู่แล้ว… เพียงแต่หลักสูตรและบทเรียนที่เตรียมไว้ส่วนใหญ่ จะเป็นแบบ One Size Fit All แบบทำชุดเดียวใช้ได้ครอบจักรวาล… โดยมีการกล่าวอ้างถึงการให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ก็เพียงผิวเผินเท่านั้น… แต่วิธีการสร้างความรู้ให้ผู้เรียน หรือจะบอกว่าประสบการการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ได้รับ กลับถ่ายทอดส่งต่อแบบเดียวและแบบเดิมกับผู้เรียนทุกคน แม้จะต่างที่มาฐานะและประสบการณ์ และหลายบทเรียนใช้ซ้ำกับนักเรียนมาแล้วนับสิบๆ รุ่น… โดยเฉพาะระบบการศึกษาในสถานศึกษาทั้งหลาย ที่สุดท้าย… ภาคการศึกษาผลิตทรัพยากรมนุษย์ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เห็นและเป็นอยู่

ช่องว่างหรือ Gap ในการจัดการเรียนการสอนจึงอยู่ที่ประสบการณ์ของผู้เรียนที่จะ “ได้อะไรไปได้อย่างไร?” นี่เอง

สมัยเป็นเด็ก หลายท่านน่าจะเคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับครูหรือวิชาเรียนที่ทำให้เรารู้สึกไม่ฉลาดและอับอายมาบ้าง… นั่นเป็นประสบการณ์ และเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงน่ากังวลสำหรับหลายๆ ท่านมากกว่าจะท้าทาย ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงไม่มีใครอยากรู้สึกไม่ฉลาดด้วยการเรียนนั่นลองนี่ไปเรื่อย จนกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาตัวเองไปอย่างน่าเสียดาย

Niels Floor จึงเสนอการออกแบบการเรียนรู้ขึ้นใหม่ ภายใต้แนวคิด Learning Experience Design จากข้อเท็จจริงที่ว่า… “ทุกๆ อย่างที่เราเรียนจนรู้ ล้วนมาจากประสบการณ์” ซึ่งแตกต่างกลับข้างกับการพยายามให้เรียนรู้เพื่อให้เกิดหรือสร้างประสบการณ์หลังจากเรียนแล้วอย่างชัดเจน… ซึ่งองค์กรสมัยใหม่ต่างให้ความสนใจแนวคิด Learning Experience Design เพื่อใช้เป็นแนวทางฝึกทักษะและอบรมภายในองค์กร

Niels Floor
credit: https://learnjam.com/what-is-learner-experience-design/

Niels Floor เริ่มเผยแพร่แนวคิดเรื่อง LX Design ครั้งแรกในปี 2016 และเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบันเพราะคำสำคัญอย่าง สังคมการเรียนรู้หรือแม้แต่ Lifelong Learning ที่ยังต้องหาวิธีการออกจากวังวนหรือ Loop การเรียนการสอนแบบดั้งเดิมให้ได้ก่อน

โดยส่วนตัวผมเข้าร่วม LXD Manifesto ไปแล้วและกำลังลงเรียนคอร์สออนไลน์หลักสูตร LX Design ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อย… ประเด็นที่ LX Design ดึงความสนใจใฝ่รู้จากผมได้มากก็เพราะผมเชื่อว่า… การแปลงความรู้ไปเป็นประสบการณ์และส่งมอบทั้งสองอย่างให้ผู้เรียนพร้อมกัน สามารถลดเวลาการเรียนรู้ลงได้ครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย… นั่นทำให้จังหว่ะการเรียนรู้ สามารถผสมกลมกลืน หรือ Blend ไปกับจังหว่ะชีวิตของผู้คนได้อย่างแท้จริง… คำเชยๆ อย่างคำว่า “ก้าวหน้าหรือพัฒนา” ที่แปลซ้ำได้ว่า “เปลี่ยนแปลงดีขึ้น” นั้น… โดยส่วนตัวผมก็เชื่อว่า การเรียนรู้และประสบการณ์ จะเปลี่ยนแปลงปัจจุบันให้กลายเป็นอนาคตที่ดีกว่าได้

ยังไม่จบน๊ะครับ… นี่แค่เกริ่นเพื่อแนะนำ Framework ใหม่ด้านการศึกษา… สัปดาห์หน้าค่อยมาเจาะดูเครื่องมือและวิธีใช้กันอีกที

Keep Learning! ครับ


บทความเกี่ยวกับ LX Design

อ้างอิง

LearningeXperienceDesign.com
Asy Dhaif

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts