LMS

Learning Management Systems…

การสร้างแพลตฟอร์มจัดการเรียนรู้ออนไลน์ มีความสำคัญมากขึ้นกับองค์กรและหน่วยงานขนาดใหญ่ รวมทั้ง SME ที่มีทีมและ Know how จะต้องถ่ายทอดความรู้กันภายใน… ถ้านับรวมแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการทางการศึกษาโดยตรงด้วยแล้ว ถึงวันนี้ต้องบอกเลยว่า แพลตฟอร์มการจัดการเรียนรู้ออนไลน์และคอนเทนต์ด้านความรู้มีความสำคัญอย่างมากกับทุกคน

ถ้าท่านได้ติดตามบทความเรื่อง Virtual Education… การศึกษาบนโลกเสมือนจริง ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้ ก็จะทราบว่า… ทันทีที่โลกมีอินเตอร์เน็ตใช้ โลกก็มี e-Learning ให้ใช้ในโลกออนไลน์เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันตั้งแต่ปี 1960… และพัฒนาการของระบบการเรียนการสอนออนไลน์ก็มาถึงยุคสมัยที่… Contents หรือเนื้อหาสาระความรู้ทุกรูปแบบ สามารถส่งมอบและถ่ายทอดความรู้ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้ทั้งหมด 

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจรูปแบบการเรียนรู้ที่แบ่งด้วยวิธีการนำความรู้ไปทำประโยชน์กันก่อน… เพราะโดยพื้นฐานความสนใจใฝ่รู้ของมนุษย์ ที่คิดเป็นและโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งเหตุผลมาก่อนความรู้สึกและสัญชาตญาณในหลายๆ กรณี แม้กระทั่งการเรียนรู้ก็ถูกกรอบด้วยเหตุผล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องประโยชน์ที่จะได้รับเมื่อเรียนแล้วหรือรู้แล้ว และเป็นแล้ว

นั่นหมายความว่า… จุดประสงค์ที่โน้มน้าวให้อยากเรียนรู้ของคนๆ หนึ่งตามหลักปรัชญาการเรียนรู้แบบ Andragogy อันเป็นรากของ Self-directed Learning ที่การเรียนเกิดขึ้นโดยแรงโน้มน้าวผลักดันจากภายในตัวผู้เรียน… มากกว่าจะเกิดเพราะมีการชี้นำหรือชักจูงเหมือนปรัชญาการจัดการเรียนรู้แบบ Pedagogy ที่แปลว่า To Lead The Child หรือชี้นำเด็กๆ ที่เหมาะกับช่วงวัยเริ่มต้นประมาณหนึ่งเท่านั้น

ดังนั้น… การจัดการเรียนรู้ในโลกออนไลน์ ที่ส่วนใหญ่ไม่มีใครมาทำหน้าที่ Lead The Learners หรือนำผู้เรียนเหมือนการเรียนกับครูอาจารย์ที่ผู้เรียนถือว่ารู้มากกว่า… การออกแบบเนื้อหาเพื่อผู้เรียนจึงต้องกลับไปพิจารณาวัตถุประสงค์การสอน… ย้ำว่าเป็นวัตถุประสงค์การสอน ให้ชัดเจนว่า เนื้อหาตอนไหนของบทเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อ…

1. ให้ผู้เรียนได้เรียนเพื่อรู้… ซึ่งการเรียนเพื่อรู้เป็นพื้นฐานสำคัญหลายอย่างสำหรับขั้นต่อไปของการเรียน โดยเฉพาะ “การเรียนให้รู้” จนเห็นประโยชน์ชัดเจนจนสร้างการรับรู้หรือ Awereness จนอยากเรียนรู้และเข้าใจส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อนำไปทำประโยชน์ และอาจต่อยอดไปถึงการประกอบอาชีพจากสิ่งที่รู้หรือเรียนมา เช่น เราเรียนเรขาคณิตขั้นพื้นฐานเพื่อต่อยอดไปเรียนวิศวกรรมในอนาคตเป็นต้น

2. ให้ผู้เรียนได้เรียนเพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์… โดยในจุดประสงค์ขั้นนี้ ผู้เรียนมักจะมี Awereness หรือรับทราบและเข้าใจถึงประโยชน์ที่จะได้รับ เมื่อมีทักษะและประสบการณ์ เช่น เมื่อเรียนทำอาหารไทย 12 สูตรแล้ว สามารถเปิดร้านอาหารไทยในปักกิ่งได้ เป็นต้น

เมื่อเรากำหนดวัตถุประสงค์การสอนได้แล้วว่า… Contents หรือเนื้อหาที่เราจะสอนเป็นเรื่อง “เพื่อรู้” หรือ “เพื่อฝึกทักษะ” แล้ว… การออกแบบบทเรียนหรือ Course จะมีภาพที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า เราจะทำ Contents Digitization ออกมาแบบไหน… 

ประเด็นก็คือ… หลักคิดในการออกแบบบทเรียนหรือ Course ในแนวทางการพัฒนาหลักสูตรและการสอน ที่ตำราการพัฒนาครูรุ่นก่อนใช้อ้างอิงกันมา จำเป็นจะต้องประยุกต์ใช้ด้วยหลัก… การเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางเป็นอันดับแรก และตามด้วยการใช้ทรัพยากรประกอบบทเรียนที่เป็นดิจิตอล หรือ Digital Learning Resources

ประเด็นก็คือ Digital Learning Resources เพื่อจัดการสอนแบบ E-Learning จะหมายถึงความรู้ทั้งหมดที่ต้องถ่ายทอดให้ผู้เรียน… รวมทั้งสิ่งที่ผู้สอนจะต้องบอกเล่าหรืออธิบายเพิ่มเติมด้วย… 

กรณีการสอน การบอกเล่าหรืออธิบายแบบ Live หรือแพร่ภาพสด แบบที่เรียกกันว่า “สอนสดผ่านอินเตอร์เน็ต” จะไม่นับรวมเอาไว้กับ E-Learning แบบ Platform เพราะเป็นเพียงการเรียนการสอนในชั้นเรียนแบบที่ไม่ต้องเดินทางมาเจอกันเท่านั้นเอง และถือเป็นกรณีเฉพาะที่จำเป็นต้องแยกกล่าวถึง เพราะ Learning Resource ในกรณีนี้ทั้งหมดมักจะเป็นตัวผู้สอนเองที่การสอนสดเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ มากกว่าจะเป็นกลยุทธ์ทางการศึกษา แม้หลายกรณี… การสอนสดออนไลน์จะยืดยุ่นตามบริบทได้มากกว่า

กลับเข้าประเด็น Digital Learning Resources ที่ต้องเตรียมซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของข้อความ ภาพประกอบ วิดีโอ กราฟิกแอนิเมชั่น VR/AR/MR รวมทั้งแบบฝึกหัด แบบสอบถาม ข้อสอบและเครื่องมือประเมินความรู้ก่อนและหลังเรียนด้วย

ถึงตรงนี้เราก็จะพอรู้แล้วว่า… สิ่งที่เราอยากสอนออนไลน์นั้นต้องการระบบในการจัดการขนาดไหน องค์กรบางแห่งพัฒนาระบบอบรมภายใน หรือสอนงานโดยแปลงคู่มือมาเป็นไฟล์ HTML วางไว้ให้พนักงานเปิดอ่านเองและถือว่าทุกคนปฏิเสธว่าไม่รู้ไม่ได้… ในขณะที่หลายองค์กรมีระบบติดตามว่า พนักงานคนไหนอ่านอะไรไปแล้วบ้าง หรือเรียนรู้เรื่องอะไรไปแล้วแค่ไหน… ส่วนการจัดการสอนเต็มรูปแบบ ก็จำเป็นจะต้องติดตามและรู้จักผู้เรียนที่เข้ามาเรียนและมาใช้เนื้อหาอย่างละเอียด รวมทั้งประเมินความรู้ของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์การสอนด้วย… ซึ่งทั้งหมดต้องการระบบการจัดการบทเรียนที่มีประสิทธิภาพ และทั้งหมดมีอยู่ในซอฟท์แวร์ระบบที่เรียกว่า LMS หรือ Learning Management Systems

Learning Management Systems เป็นซอฟท์แวร์ระบบเหมือนเป็นโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ที่สามารถรวบรวมหลักสูตรเอาไว้ในรูปของ Courseware หรือซอฟท์แวร์หลักสูตร ที่ผู้สอน Digitized เอาไว้ในรูปของซอฟท์แวร์หรือไฟล์ดิจิตอล… พร้อมระบบบริหารจัดการผู้เรียน ผู้สอนและผู้ดูแลระบบให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมออนไลน์ระบบเดียวกัน…

LMS หรือ Learning Management Systems ประกอบด้วย 5 ส่วนหรือ 5 ระบบหลักได้แก่

1. Course Management หรือ ระบบจัดการหลักสูตร… โดยระบบจัดการหลักสูตรจะเก็บ Courseware เอาไว้ในระบบเพื่อให้ผู้ใช้งานแต่ละกลุ่ม เข้าถึงเนื้อหาตามบริบทของสิทธิ์ในระบบเช่น ผู้เรียนเข้าไปเปิดเรียนด้วยการอ่านฟังดูและ Interactive กับบทเรียนที่ผู้สอนกำหนดไว้… ในขณะที่ผู้สอนนอกจากได้สถานะแบบผู้เรียนด้วยแล้ว ยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติมบทเรียนแต่ละส่วนหรือทั้งหมดได้… ส่วนผู้ดูแลระบบก็จะมีงานบนระบบจัดการหลักสูตรในฐานะผู้ดูแลสิทธิ์ของทั้งผู้เรียนและผู้สอน… เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเตรียม Courseware ร่วมกับผู้สอน รวมทั้งการอำนวยความสะดวกกับผู้เรียนในมิติต่างๆ ด้วย

2. Content Management หรือ ระบบจัดการเนื้อหาและบทเรียน… เป็นเครื่องมือช่วยให้การเตรียม Courseware เพื่อแปลงให้เข้ากันได้กับ LMS ให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น โดยไม่กระทบกับ UX/UI ของ LMS… หลายกรณีของ LMS หลายๆ แพล็ตฟอร์ม ระบบจัดการเนื้อหาและบทเรียนมีความสามารถระดับ Courseware Authoring Tools ที่สามารถจัดการ Learning Resource ได้เทียบเท่าซอฟท์แวร์สร้างบทเรียน หรือ Authoring Tools ทีเดียว

3. Evaluation System หรือ ระบบการสอบประเมินผล… โดยระบบนี้เป็นได้ทั้งแบบฝึกหัดและข้อสอบ ที่อยู่ในรูปคำถามหรือ Quiz ที่ใช้ประเมินความรู้ความเข้าใจของผู้เรียน… ซึ่งระบบการสอบและประเมินผลการเรียนนี้ ส่วนใหญ่จะต้องมีคลังข้อสอบที่ถูกเตรียมพร้อมกับ Learning Resources อื่นๆ นั่นเอง

4. Course Tools หรือ เครื่องมือเสริมหลักสูตร… ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือช่วยเสริมคำบรรยาย เพิ่มเติมรายละเอียด ผ่านช่องทางการสื่อสารที่ติดตั้งมากับ LMS เช่น Webboard, Chatroom, Webinar หรือแม้แต่ระบบบริหารโครงการ หรือ Project Management เพื่อสั่งงานที่จำเป็นต้องตรวจและติดตามความคืบหน้า

5. Data Management System หรือ ระบบจัดการข้อมูล… ส่วนนี้ทั้งหมดมักจะอยู่ในความดูแลของผู้ดูแลระบบที่จะดูแลเรื่อง Learning Resource ที่ทั้งหมดจะอยู่ในรูปของไฟล์และโฟล์เดอร์… ส่วนการจัดการข้อมูลของผู้เรียนและผู้สอนจะทำได้จำกัดเฉพาะข้อมูลส่วนของตัวเอง และสิทธิ์ที่ผู้ดูแลระบบอนุญาตให้เท่านั้น

ในปัจจุบัน… LMS มีการใช้งานอย่างกว้างขวางในสถาบันการศึกษาน้อยใหญ่ แม้แต่สถานศึกษาประเภทกวดวิชา ที่เด็กๆ ไปติวกับครูตู้ยุคดิจิตอล… ซึ่งกลายเป็นที่พึ่งหลักในห้วงเวลาที่การศึกษาของชาติ กับระบบประเมินคัดเลือก แตกต่างหลงทางจนการศึกษาทั้งระบบล้มเหลวมายาวนาน… ที่น่าเศร้าก็คือ ระบบและกลไกการศึกษาที่ล้าหลัง และพัฒนาตามเทคโนโลยีและผู้เรียนยุคใหม่ไม่ทัน สร้างช่องว่างที่ตลกก็ไม่ได้ ร้องไห้ก็ไม่สะดวก จนหลายฝ่ายเริ่มเชื่อแล้วว่าคงต้องทิ้งระบอบและคนในระบอบการศึกษายุคคลาสสิกเอาไว้ข้างหลัง… และเดินหน้ากับ e-Learning ยุค 5G ที่ความรู้… ซึ่งระบอบและคนในระบอบการศึกษายุคคลาสสิกยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีเนื้อหาสาระที่ต้องศึกษาเรียนรู้อีกมากให้เรียนรู้ยิ่งกว่ายุคที่ผ่านมา

พรุ่งนี้มาต่อกันเรื่องมาตรฐาน e-Learning กันอีกวันน๊ะครับ… เดี๋ยวบทความนี้จะยาวเกินไป

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts