แนวคิด Minimal Style ในศาสตร์ด้านการออกแบบที่มุ่งลดเส้นสายและลวดลายกับรูปทรงให้เหลือน้อย ก่อนจะให้สีที่เรียบง่ายและน้อยเฉดที่สุด แต่ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่มาพร้อมประโยชน์ใช้สอย และ ฟังก์ชั่นการใช้งาน รวมทั้ง “เสน่ห์” ที่สามารถมอบความประทับใจได้ดีกว่า… ซึ่งความเรียบง่ายที่มองเห็นในเบื้องแรกของทุกสายตา ไม่สามารถปิดบังความน่าสนใจที่ฉายชัดดูดดึงให้ทุกคน “ตกหลุมรักแต่แรกเห็น”
ความสำเร็จของแบรนด์ Apple ในยุค 3G เป็นต้นมา ทั้ง iPod… iPad… iPhone… iMac และ Macbook ซึ่งยึดแนวทาง Minimalist ในการออกแบบ แต่ได้ใส่ความน่าสนใจเอาไว้ในผลิตภัณฑ์ทุกกระเบียดภายใต้ภาพลักษณ์ที่เรียบง่าย ซึ่งทั้งหมดได้ทำให้ Apple กลายเป็นธุรกิจมูลค่าล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในเวลาต่อมา
ส่วนกรณีความสำเร็จของแบรนด์ Mazda ยุคที่ขับเคลื่อนด้วยการออกแบบโคโดะ หรือ KODO Design ซึ่งได้นำรถยนต์ Mazda ที่กำลังถูกกลืนยอดขายจนเจียนจะหายไปจากทุกๆ ตลาดทั่วโลกช่วงก่อนปี 2015… กลับมาสู่ความนิยมของคนใช้รถจนยอดขายถล่มทลายไปทั่วโลก… ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเพราะเส้นสายบนตัวถังที่น้อยกว่ารถยนต์คู่แข่งอย่างชัดเจนนั่นเองที่นำ Mazda กลับมานำคู่แข่งเกือบทุกแบรนด์ในตลาดเดียวกัน… ทั้งๆ ที่ขายแพงกว่าไม่ต่างจากราคาขายของผลิตภัณฑ์จาก Apple
ประเด็นก็คือ… Minimal Style หรือ Minimalist ในเชิงกลยุทธ์ซึ่งอยู่เบื้องหลังการออกแบบอย่างแท้จริง… ไม่ใช่อะไรที่น้อยนิดเลยแม้แต่น้อย… โดยเฉพาะกลยุทธ์ที่ยึดหลัก Less is More ที่แปลตรงๆ ว่าน้อยก็คือมาก… ซึ่งย้อนแย้งด้วยการสอดนัยยะแห่งเสน่ห์อันล้นเหลือเข้าไปในความน้อยนิด…
เมื่อมีการใช้เสน่ห์… ก็ย่อมต้องมีเป้าหมายให้ “สาดเสน่ห์” ที่จัดวางอย่างกลมกลืนกับความเรียบง่ายเพื่อ “ดักจับความรู้สึกของเป้าหมาย” ให้ได้… ซึ่งเป้าหมายในที่นี้ก็คงเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ลูกค้า”
บทความบน INC.COM ของ David Finkel ผู้เขียนหนังสือ The Freedom Formula: How to Succeed in Business Without Sacrificing Your Family, Health, Or Life ได้พูดถึงแนวคิด Less is More ซึ่งผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นใหม่ หรือ Startup ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีทรัพยากรทางธุรกิจจำกัด… จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้สิ้นเปลืองโอกาสน้อยที่สุด เพื่อแลก หรือ ไล่ล่าโอกาสตามเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ซึ่ง David Finkel แนะนำว่า… ใช้เพียงแนวคิดพื้นฐาน 3 ประการดังต่อไปนี้ก็เหลือเฟือ…
- Clarity หรือ ชัดเจน… ซึ่งในที่นี่คือลูกค้าเป้าหมายที่ต้องชัดเจนว่าเป็นใคร และ ทำไมลูกค้าเป้าหมายจึงควรโดนเสน่ห์สาดใส่จนไปไหนไม่ได้
- Focus หรือ โฟกัส… ซึ่งจำเป็นจะต้องปรับกรอบวิสัยทัศน์ที่มีต่อเป้าหมาย หรือ ลูกค้าเป้าหมายให้แคบจนสามารถจัดการได้ดีที่สุด หรือ ทำได้ยอดเยี่ยมที่สุด… อย่าเยอะ!
- Execution and Accountability หรือ ดำเนินการได้ และ รับผิดชอบไหว… ซึ่งเป็นตัวชี้วัดว่ากลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นได้โฟกัสอย่างแม่นยำจนชัดเจนพอที่จะบริหารจัดการได้ไม่ยาก และ รับผิดชอบไหวแม้จะพบเจออุปสรรค และ ปัญหาอย่างไรบ้างก็ตาม
ง่ายๆ เรียบๆ ประมาณนี้ในหลักการ แต่ก็มีอะไรอีกมากในรายละเอียด… ซึ่งแนวคิด Less is More ในทางปฏิบัติมักจะต้องทุ่มเท “ความใส่ใจ” ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อใส่ใจ “ปัญหาของลูกค้า” เพื่อนำมาช่วยบรรเทาให้น้อยลง หรือ ให้หมดไป… โดยหลีกเลี่ยงการเพิ่มขนาดของธุรกิจ และ การเพิ่มปริมาณการใช้ทรัพยากรในการดำเนินการ… ให้ได้ดีที่สุด
References…