Lewin’s Change Model.. โมเดลการเปลี่ยนแปลงของเลวิน #ExtremeChange

เครื่องมือการบริหารที่ “นักบริหารมืออาชีพ” นิยมใช้มากที่สุดมักจะหนีไม่พ้น “เครื่องมือการเปลี่ยนแปลง” จากตำราการจัดการความเปลี่ยนแปลง หรือ Change Management ซึ่งก็มีให้เลือกใช้นับสิบหลักการ และ แนวคิดจากนับร้อยๆ ตำรา… ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะเรียนรู้ และ นำกรอบการทำงาน หรือ Framework ตามทฤษฎีที่เลือกใช้ มาออกแบบแผนกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น… ซึ่งก็มีแต่การเปลี่ยนแปลงเท่านั้นที่จะทำให้ “เป้าหมายใหม่ หรือ เป้าหมายใหญ่กว่าเดิม” มีความเป็นไปได้จริงตามที่คาด

ในบรรดา “เครื่องมือการจัดการความเปลี่ยนแปลง หรือ Change Management Tools” ที่ถูกแนะนำ และหรือ ถูกใช้มากที่สุดในลำดับต้นๆ มักจะมีชื่อ Lewin’s Change Model หรือ โมเดลการเปลี่ยนแปลงของเลวิน ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นทดสอบโดย Kurt Lewin ซึ่งเผยแพร่โมเดลผ่านผลงานตีพิมพ์เรื่อง Frontiers in Group Dynamics: Concept, Method and Reality in Social Science; Social Equilibria and Social Change ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 1947 โดยถูกอ้างอิง และ ประยุกต์ไปเป็นทฤษฎีอื่นๆ ในเวลาต่อมามากมาย… แต่โมเดลการเปลี่ยนแปลงของเลวิน หรือ Lewin’s Change Model ยังคงถูกใช้ และ แนะนำให้ใช้กับทุกๆ รูปแบบองค์กรที่กำลังต้องการความเปลี่ยนแปลงที่เห็นผล… โดยเฉพาะผลที่ชี้ชัดว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว

ส่วนที่น่าสนใจที่สุดใน Lewin’s Change Model จนได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบันก็คือ… โมเดลการเปลี่ยนแปลงของเลวิน เป็นโมเดลที่พัฒนาขึ้นจากหลักการทางจิตวิทยาองค์กร ซึ่งโฟกัสจิตวิทยาของกลุ่มคนอย่างครอบคลุม โดยมีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจเหตุผลของการเปลี่ยนแปลง… ซึ่งจะเริ่มต้นที่การตอบคำถามว่า “ทำไมจึงต้องเปลี่ยนแปลง” ก่อนจะรวบรวมรายการที่ต้องทำเพื่อส่งมอบการเปลี่ยนแปลงอย่างราบรื่นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้…  

นอกจากนั้น… Lewin’s Change Model ยังอธิบายรูปแบบปกติของการเปลี่ยนแปลง เพื่อใช้อ้างอิงในการพัฒนาแผนกลยุทธ์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยหลายส่วนเกี่ยวพันถึงปฏิกิริยาของ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” กับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกี่ยวข้องกับชีวิต และ อนาคตของของพวกเขาในอีกไม่ช้าด้วย

รูปแบบการสร้างความเปลี่ยนแปลงจาก Lewin’s Change Model จึงมีขั้นตอนการขับเคลื่อนหลักๆ อยู่ 3 ขั้น คือ

  1. Unfreezing หรือ การละลาย หรือ การละลายพฤติกรรม… อันเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับทุกสิ่งที่จำเป็น “สำหรับคนที่จะพร้อมและเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลง”  หรือ อีกนัยหนึ่งก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเตรียมองค์กรให้ยอมรับว่า “จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน การจัดการ และ ภาพรวมสำคัญขององค์กร ซึ่งเป็นขั้นตอนที่จำเป็น และ สามารถทำได้โดยการสร้างความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงให้แก่ทุกคนในองค์กรให้ได้มากที่สุดก่อน… ส่วนคำแนะนำในการขับเคลื่อนขั้นตอน Unfreezing ที่ได้ผลมากที่สุดก็จะเป็น “เรื่องเล่า หรือ Storytelling” ที่สามารถบอกความจำเป็น หรือ แรงจูงใจเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ที่ทำอยู่ หรือ เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น การนำข้อมูลยอดขายที่ลดลงมาสร้างเรื่องเล่า… เอาตัวเลขทางการเงินที่ไม่ดีมาเป็นเหตุผล… เอาผลการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าในทางลบมาใช้ เป็นต้น
  2. Changing หรือ การสร้างการเปลี่ยนแปลง… ซึ่งจะเป็นขั้นตอนสำคัญที่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง “จะต้อง” ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงผ่านตัวแปร และ ปัจจัยที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เห็นอย่างชัดเจน และ “จำเป็นจะต้อง” กำจัดแรงต้าน และ การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างรวดเร็ว และ เน้นการสื่อสารที่ชัดเจนต่อเนื่องกระทั่งข้ามไปถึงสภาพแวดล้อมใหม่หลังการเปลี่ยนแปลง ถูกทดแทนสภาพดั้งเดิมไปมากพอที่จะไม่กลับไปเป็นรูปแบบเดิมได้อีก
  3. Refreezing หรือ การดำรงความเปลี่ยนแปลงใหม่… อันเป็นขั้นตอนการนำสภาพแวดล้อมใหม่ รวมทั้งพฤติกรรมองค์กรแบบใหม่ เข้าสู่กิจวัตร หรือ Routine ขององค์กรเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายปัจจุบัน

ขั้นตอน และ หลักการของ Lewin’s Change Model โดยทั่วไปจะอ้างอิงขั้นตอน 3 ขั้นนี้เป็นหลัก… ซึ่งเป็น 3 ขั้นตอนที่พูดง่ายแต่ทำไม่ง่ายสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับองค์กรใหญ่ๆ ที่มี “คนเก่าคนแก่” ที่ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะซ้ำ หรือ ReSkills ให้ตามทันการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งองค์กรที่ดำรงอยู่เป็นไซโลภายใต้การนำที่อ่อนแอ และ แตกแยกภายใน

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts