Life Satisfaction

Life Satisfaction… ความพึงพอใจในชีวิต #SelfInsight

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา… ดัชนีชี้วัดทางสังคมและเศรษฐกิจอย่าง ดัชนีความสุขมวลรวมประชาชาติ หรือ Gross National Happiness หรือ GNH ถูกพูดถึงในวงกว้าง ซึ่งในหลายบริบทได้กลายเป็นนโยบาย และ ยุทธศาสตร์หลัก ที่ถูกพิจารณาใช้เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาแผนกลยุทธ์ต่างๆ อย่างน่าสนใจ

ประเด็นก็คือ… Happiness ไม่ได้มีมาตรวัดชัดเจนจนสามารถนับ และ เปรียบเทียบเป็นจำนวน ปริมาณ หรือ ขนาดได้ง่ายเหมือนตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สามารถนับเงินที่มีในกระเป๋าก็ระบุได้… เพราะ Happiness เป็นระดับความพึงพอใจส่วนบุคคล หรือ Self-Satisfaction ที่เป็นปัจเจกสุดๆ ถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเฉพาะคนเลยก็ว่าได้

คำถามสำคัญอย่างความสุขวัดยังไง? จึงเป็นวาระใหญ่ที่นักวิชาการด้านสังคมวิทยา ยังคงถกเถียงและเสาะหาเครื่องมือวัดที่เชื่อถือได้จริงๆ กันมาตลอด ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีเครื่องมือวัดความสุข ถูกใช้อย่างกว้างขวางจนเป็นที่ยอมรับอยู่แล้วบ้าง โดยเฉพาะเครื่องมือเชิงสถิติในแนวทาง Gallup Satisfaction Survey ซึ่งริเริ่ม และ นำใช้เป็นครั้งแรกโดย George H. Gallup เจ้าของเครื่องมือ Gallup Poll และ ระเบียบวิธีวิจัยแบบ Statistical Method เพื่อใช้วัด ความพึงพอใจระดับประชากร หรือ Public Opinion

ข้อมูลจากเวบไซต์ OurWorldInData.org ได้ใช้ Gallup World Poll ผ่านแนวทาง Self Report ในการสำรวจประชากรโลก จนสามารถทำแผนที่ความสุขของทั่วโลกออกมาได้… ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลระหว่างปี 2005–2018 เผยแพร่ทั่วไป ส่วนข้อมูลปี 2019 ยังอยู่ระหว่างเตรียม Report อย่างเป็นทางการ

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ… วิธีวัดความสุขมีเพียงการใช้ข้อมูลจาก “ความคิดเห็น หรือ Openion” ของแต่ละคนมานับรวมกันก่อนจะอธิบายด้วยกลไกเชิงสถิติเท่านั้นเอง… ซึ่งก็ดีงามยอมรับได้ เพราะความสุขความทุกข์มีความสัมพันธ์โดยตรงกับทัศนคติ และ ความคิดเห็นของแต่ละคน อันอยู่ในรูปของ “ระดับความพึงพอใจ หรือ Satisfaction Scale” 

คำถามจึงมีว่า… เมื่อความเห็นสัมพันธ์กับทุกข์สุข และ ทุกข์สุขวัดด้วยระดับความพึงพอใจ… แล้วความพึงพอใจมาจากไหน?

งานวิจัยของ Gary W. Lewandowski จาก Monmouth University และ Natalie Nardone จาก University of California San Francisco เรื่อง The Role of Self-Concept Clarity in Relationship Quality ได้ศึกษา Self Concept หรือ มโนภาพและความนึกคิดที่มีต่อตนเอง โดยวัดด้วยเครื่องมือทางจิตวิทยาอย่าง Self Concept Clarity หรือ SCC… โดยค่า SCC จะสัมพันธ์กับ Self Esteem หรือ การรับรู้คุณค่าของตนเองจนเชื่อมั่นใน “สิ่งที่ชอบ และ สิ่งที่ไม่ชอบ” ซึ่งชอบกับไม่ชอบนี่เองที่สัมพันธ์กับความพึงพอใจ… โดยการมีสิ่งที่ไม่ชอบก็คือทุกข์ และ การมีสิ่งที่ชอบก็คือสุข… ง่ายๆ แค่นี้

ประเด็นสำคัญจึงมีว่า… ความทุกข์สุขของแต่ละคนเริ่มต้นจาก Self Concept หรือ มโนภาพต่อตนเอง หรือ ความนึกคิดที่มีต่อตนเอง ซึ่งมีข้อเท็จจริงบางแง่มุมชี้ชัดว่า… มโนภาพของแต่ละคนในแต่ละช่วงเวลานั้น นอกจากจะชี้วัดเรื่องทุกข์สุขได้โดยตรงแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วย… กรณีที่หลายคนเชื่อว่าการจิบเหล้าเข้าผับเป็นเรื่องผ่อนคลายจำเป็น ซึ่งพึงพอใจที่ได้จิบเหล้าเข้าผับ และ เรียกความรู้สึกในช่วงเวลานั้นว่าความสุข… ในขณะที่หลายคนเชื่อว่าการเข้าวัดฟังพระเทศก์และสวดมนต์ จะทำให้สงบสุขดีงามทั้งชาตินี้และชาติหน้า ก็จะอิ่มเอมปลื้มปริ่มที่ได้เข้าวัด… ซึ่งบรรยากาศ และ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพของคนหาความสุขแบบจิบเหล้าเข้าผับ กับ คนหาความสุขแบบเข้าวัดปัดกวาดศาลา… ย่อมจะให้คะแนนความพึงพอใจกันคนละขั้ว

การตามหา Happiness หรือ ความสุขจึงไม่เคยหาเจอจากโลกกว้างมุมไหน หรือ จากใครอื่นได้ ถ้าคนๆ หนึ่งไม่สามารถค้นหาตัวเองจนเจอ และ ทำความรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อน… ความยากของทั้งหมดเกี่ยวกับทุกข์สุขจึงอยู่ที่ Self Concept หรือ มโนภาพต่อตนเอง และ ความนึกคิดที่มีต่อตนเอง ซึ่งคนจำนวนมากไม่ได้มี Self Concept ตรงกับสถานะ และ สภาวะที่เป็นอยู่ จนทำให้ความพึงพอใจเชิงบวกเกิดขึ้นไม่ได้

ส่วนเทคนิคการค้นหาตัวเองให้พบที่ได้รับความนิยมระดับสากล ซึ่งแนะนำกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบันจะมีอยู่หลายรูปแบบ และ แนวทาง… แต่โดยส่วนตัวจะแนะนำ และ ใช้อยู่หลักๆ เพียงสองแนวทางคือ  

1. แนวทาง Design Thinking… ซึ่งเป็นแนวคิด และ เครื่องมือที่พัฒนาใช้โดย Bill Burnett และ Dave Evans จาก Hasso Plattner Institute of Design หรือที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ Stanford D.School โดยเผยแพร่ผ่านหนังสือ Designing Your Life พร้อมแนวทางการใช้เครื่องมือ HWPL Dashboard ซึ่งครอบคลุม Health หรือ สุขภาพ… Work หรือ หน้าที่การงาน… Play หรือ กิจกรรมสร้างสุข และ Love หรือ ความรักความหลงไหล

HWPL Dashboard

2. Mood Board… ซึ่งเป็นเครื่องมือนำเสนอเพื่อการสื่อสารระหว่างนักออกแบบ และ ลูกค้า โดยนักออกแบบจะหาทาง “ถอดรหัสความพึงพอใจของลูกค้า” ด้วย Mood Board เพื่อใช้เป็นโจทย์การทำงาน “ให้ถูกใจลูกค้า” ในทุกมิติ

Mood Board

โดยประสบการณ์ส่วนตัว… ผมได้เห็นการใช้เครื่องมือทั้งสองชนิดที่กล่าวมา ถอดดู “สิ่งที่ชอบ และ สิ่งที่ไม่ชอบ” ซึ่งฝังอยู่ในความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมายออกมาได้ค่อนข้างตรง และ ผิดพลาดในระดับที่ยอมรับได้… อย่างไรก็ตาม ในทางเทคนิค และ โดยรายละเอียดของทั้ง Design Thinking และ Mood Board ยังมีแง่มุมมากมาย ทั้งหลักการ และแนวทางการประยุกต์ใช้ และหรือ ปรับแต่งก่อนการนำใช้ ซึ่งต้องอธิบายกันยาวถึงยาวมากๆ จนต้องขอข้ามและยกไปเป็นโอกาสหน้า…

ขอบคุณที่ติดตามครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts