ความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษย์ ล้วนเกิดจากสติปัญญาและทักษะความสามารถของมนุษย์ และมนุษย์ก็พัฒนาทักษะและสติปัญญาส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ในรูปของภูมิรู้ที่สามารถ “เรียนรู้จากผู้รู้” มาตั้งแต่ภูมิปัญญาเรื่องการใช้ไฟ ทำขวานหิน การล่าสัตว์ปลูกพืชและสวมใส่เครื่องนุ่งห่ม
ภูมิรู้ของมนุษยชาติในปี 2020… มาไกลถึงขั้นวางแผนเดินทางข้ามดวงดาวกันแล้ว!… ซึ่งการถ่ายทอดความรู้ผ่านกลไกการเรียนการสอนและฝึกอบรมมากมาย จึงสำคัญต่อวิวัฒนาการของมนุษย์อย่างยิ่ง
ประเด็นก็คือ… การเรียนการสอนเพื่อเตรียมทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบัน ทำได้ไม่ครอบคลุมองค์ความรู้ที่มนุษยชาติมีสะสมและส่งต่อได้หมด… การฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้พร้อมปฏิบัติงานเฉพาะงาน จึงสำคัญและจำเป็นไม่ต่างจากการพัฒนาระบบการศึกษาหลัก เพื่อเตรียมทรัพยากรมนุษย์ในวัยเรียนเหมือนกัน
ซึ่งนิยามและแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในระดับเรียนรู้ฝึกฝนเพื่อรับผิดชอบงานนั้น เป็นการเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ความสามารถ การอุทิศทุ่มเท การพัฒนาศักยภาพ–บุคลิกภาพ การปรับตัว ผ่านกระบวนการทางการศึกษา ฝึกอบรมและการพัฒนา
หนังสือชื่อ Managing human resource development โดย Leonard Nadler และ Garland Wiggs อธิบายว่า… การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นกระบวนการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติงานของพนักงานและปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานขององค์กรให้สูงขึ้น โดยวิธีการฝึกอบรม ให้การศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะครอบคลุม 3 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. การฝึกอบรม หรือ Training
เป็นกระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อการเรียนรู้สำหรับงานปัจจุบัน มุ่งหวังให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานได้ทันที หรือมีพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการขององค์กร การฝึกอบรมมีความเสี่ยงอยู่บ้าง ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่อาจทำงานได้ตามความมุ่งหวังขององค์กร อาจเป็นเพราะการจัดหลักสูตรยังไม่เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ขั้นตอนการทำงาน เทคโนโลยี เครื่องมือเครื่องใช้ หรือสภาพการแข่งขันผันแปรไปจากที่ได้คาดการณ์ไว้
2. การศึกษา หรือ Education
เป็นกระบวนการที่จัดขึ้น เพื่อเตรียมบุคคลให้มีความพร้อมที่จะทำงานตามความต้องการขององค์กรในอนาคต การศึกษายังคงต้องเกี่ยวกับการทำงานอยู่ แต่จะแตกต่างไปจากการฝึกอบรม เนื่องจากเป็นการเตรียมเรื่องงานในอนาคตที่แตกต่างไปจากงานปัจจุบัน การศึกษาจึงเป็นการเตรียมบุคลากรเพื่อการเลื่อนขั้นตำแหน่ง หรือ Promotion หรือให้ทำงานในหน้าที่ใหม่
3. การพัฒนา หรือ Development
เป็นกระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเพิ่มพูนประสบการณ์แก่บุคลากรขององค์กร เป็นการช่วยเตรียมความพร้อมของบุคลากรสำหรับการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และจุดหมายที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรขององค์กร ช่วยให้บุคลากรขององค์การได้เพิ่มพูนความรู้ ได้แสดงขีดความสามารถของตน ได้แสดงความคิดเห็นรวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงความสามารถ ศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในออกมา
ประเด็นมีอยู่ว่า… ในปัจจุบันมีความรู้ใหม่ที่ต้องเรียนรู้เกิดขึ้นเร็วกว่าในอดีตมาก การเตรียมคนทำงานในองค์กรจึงไม่ง่ายที่จะวางแผนยาวๆ เพื่อการฝึกอบรมหรือให้การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแนวทางเหมือนในอดีต… หลายองค์กรจึงหันไปปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรไปสู่ “องค์กรการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning Organizations” ที่ผลักดันส่งเสริมให้ ทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร เรียนรู้เพื่อพัฒนาผลงานในความรับผิดชอบ ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน
ความยากของการขับเคลื่อน Lifelong Learning ทั้งระดับบุคคลและระดับวัฒนธรรมองค์กร ถือว่าเป็นงานหินของ HR หรือ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรที่ต้องเตรียมพร้อม ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรไปสู่การเตรียม Lifelong Learning Resource หรือทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งการพัฒนาโปรแกรมโค้ชชิ่ง หรือ Coaching Program…