ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากสภาพผันผวนไม่แน่นอนซับซ้อนและคลุมเครือ หรือ VUCA อันเป็นภาวะปกติในปัจจุบันที่ต้องรับมือด้วย “การปรับตัวอย่างเหมาะสม” ซึ่งก็มีทั้งที่ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลง และมีทั้งที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ไม่ให้กระทบกระเทือนจาก VUCA ที่เกิดขึ้นรายรอบ… ส่วนคำถามสำคัญที่ว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนต้องปรับ อันไหนต้องเปลี่ยนและอันไหนห้ามเปลี่ยน ห้ามปรับ ห้ามทำลาย?… คำตอบคือ “ไม่รู้หรอกครับจนกว่าจะรู้ว่าควรเปลี่ยนอะไรและไม่ควรเปลี่ยนอะไร!!!
Note: อ่านเพิ่มเติม VUCA World… ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ
การเปลี่ยนให้ “ความไม่รู้ไปเป็นความรู้” จึงเหลือทางเดียวให้ทุกคนต้องทำนั่นก็คือ เรียนรู้–ลองให้รู้–เรียนให้รู้… ซึ่งการเรียนรู้เพิ่มเติมแล้วเอาความรู้ที่ได้มาใหม่ไปลองลงมือทำ และเรียนรู้ซ้ำจากสิ่งที่ได้ลอง จนกลายเป็นทักษะหรือประสบการณ์ใหม่ “สะสมต่อเติมทักษะและประสบการณ์ใหม่” เพิ่มเติมเรื่อยๆ ด้วยวงจรการเรียนรู้ต่อเนื่องไป โดยสะสมทักษะและประสบการณ์ใหม่ที่ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงด้วยฐานความรู้และทักษะประสบการณ์ใหม่ย่อมเกิดขึ้นไปแล้ว 100% จากทั้งหมดที่เรียนรู้ไปแล้วลองทำไปแล้วและเรียนรู้จากที่ลองทำจนเป็นความรู้และประสบการณ์ของตัวเองไปแล้ว… จะเหลือก็แต่อะไรอื่นอีกที่ยังไม่ได้เริ่มเรียนเท่านั้นเอง!
ถึงตรงนี้… คำใหญ่ๆ อย่าง Lifelong Learning หรือ L3 หรือ LLL จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวและหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป ไม่ว่าท่านจะยินดีปรับเปลี่ยนไปกับความผันผวนเปลี่ยนแปลงจากภายนอกหรือไม่แค่ไหนอย่างไร หรือแม้แต่ไม่คิดว่าจะเปลี่ยนอะไรอีกเลยในชีวิตนี้… แต่เชื่อเถอะว่า อย่างน้อยท่านก็ต้องเปิดรับข้อมูลข่าวสารให้มากพอจนมั่นใจก่อนอยู่ดีว่า “การไม่เปลี่ยน” ถูกต้องแล้ว… ซึ่งถ้าท่านไม่ยอมเรียนรู้ว่าเปลี่ยนแล้วจะเป็นอย่างไร การไม่ยอมเปลี่ยนที่กอดติดชีวิตไว้ คงเพราะไม่มีทางเลือกมากกว่าจะเป็นเพราะรู้ลึกจนเข้าใจว่าไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร
งั้นมาดูกันหน่อยดีมั๊ยครับว่า การจะเปลี่ยนชีวิตให้มีตารางเรียนอยู่ในตารางกิจกรรมประจำวันหรือประจำสัปดาห์ไปยาวๆ ไปตลอดชีวิตนั้น… คนกล้า Lifelong Learning จะได้ประโยชน์อะไรบ้าง
1. Creativity Skill หรือ ทักษะคิดสร้างสรรค์
การเปลี่ยนตัวเองให้เป็นคนอยากเรียนอยากรู้ เหมือนพาตัวเองย้อนกลับไปในวัยเด็กที่เที่ยวถาม “ทำไม?” ได้ไม่เบื่อนั้น นอกจากจะเป็นการลดอัตตาตัวตนลงมาจนก้าวข้ามกรอบกำแพง Comfort Zone คับแคบออกไปได้แล้ว ท่านยังจะได้ย้อนวัยไปเป็นเด็กที่ความอยากรู้อยากเห็น กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์โดยไร้กรอบเหมือนเด็กน้อยวัยทำไม ซึ่งสมองและระบบประสาทวิทยาในร่างการ ตื่นตัวและไวต่อข้อมูลข่าวและความรู้ใหม่ๆ ไม่รู้จบ
2. Problem Solving Skill หรือ ทักษะการจัดการปัญหา
เมื่อใครสักคนยอมรับว่าตนเองต้องหาความรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้แล้วหละ! แปลว่าคนๆ นั้นเจอปัญหาบางอย่างไม่มากก็น้อย หรือแม้แค่อยากรู้เฉยๆ ก็ถือว่าสิ่งที่อยากรู้เป็นปัญหาไปแล้วเหมือนกันในทางเทคนิค ซึ่งคนที่ตระหนักในปัญหา และหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ด้วยการเริ่มต้นที่เรียนรู้ ถือว่าทักษะการแก้ปัญหาเกิดขึ้นจนสามารถจัดการปัญหาได้แน่นอน… ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
3. Critical Thinking Skill หรือ ทักษะคิดเชิงวิพากษ์
การคิดเชิงวิพากษ์ หรือการคิดเรื่องเดียวผ่านหลายมุมมองพร้อมการวิเคราะห์ปัจจัยและตัวแปรของประเด็นที่คิดให้ได้มากที่สุด ถือเป็นทักษะสำคัญใน “การตัดสินใจ” ประเด็นนั้นๆ ที่สามารถรับประกันความรอบคอบผิดพลาดได้ระดับหนึ่ง… ประเด็นก็คือ เมื่อใครสักคนอยากเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรให้ได้ดีขึ้น โดยรู้ว่าต้องเริ่มเรียนรู้และทุ่มเทเรียนรู้แล้วนั้น คนๆ นั้นจะได้เรียนรู้ประเด็นที่เกี่ยวข้องอีกหลายอย่างที่สัมพันธ์กันกับประเด็นเป้าหมายเสมอ การได้เรียนรู้และคิดตามประเด็นแวดล้อมเหล่านั้นแหละ จะเป็นรากฐานของ Critical Thinking หรือ การคิดเชิงวิพากษ์ ที่คนส่วนใหญ่ถามว่าฝึกฝน Critical Thinking Skill อย่างไร?
4. Leadership หรือ ภาวะผู้นำ
การเป็นผู้นำโดยทั่วไปจะหมายถึง “การเป็นผู้ควบคุมการตัดสินใจ” ของคนอื่นๆ ที่ปฏิสัมพันธ์แวดล้อมอยู่ทั้งหมด แต่การมี “ทักษะผู้นำ” กลับต้องถอยออกจากการเป็นศูนย์กลางการตัดสินใจในทุกประเด็นตัดสิน ที่มีคนอื่นๆ ดูแลรับผิดชอบอยู่ เพื่อมาทำหน้าที่ “สนับสนุนการตัดสินใจ” โดยอำนวยทรัพยากรที่อยู่ในอำนาจการตัดสินใจ ให้ถูกใช้ไปกับประเด็นตัดสินใจดำเนินการใดๆ ที่ทรงพลังต่อผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงที่สุด… ซึ่งความรู้ที่ลึกพอและกว้างเพียงพอเท่านั้น จึงจะกลายเป็นทรัพยากรให้คนอื่นๆ ที่ปฏิสัมพันธ์แวดล้อมอยู่ ได้ประโยชน์จากการ “ตัดสินใจสนับสนุนทรัพยากร” ให้คนเหล่านั้นนำไปดำเนินการใดๆ ได้
5. Communication Skill หรือ ทักษะสื่อสาร
ทักษะการสื่อสารถือเป็นศูนย์กลางของ Soft Skills หรือ ทักษะด้านอารมณ์ของทุกๆ ทักษะย่อยทั้งหมด ซึ่งทักษะสื่อสารที่ดี เริ่มต้นที่ “ความเชื่อมั่นในสิ่งตนพูดหรือสื่อสาร” ออกไป และความเชื่อมั่นทั้งหมดเริ่มต้นที่ความรู้ โดยเฉพาะโมเดลความรู้แบบ T-Shaped ที่ต้องรู้กว้างและเชื่อมโยงความรู้เข้าด้วยกันเป็น โดยต้องรู้ลึกระดับเชี่ยวชาญจนมั่นใจขั้นสอนคนอื่นเรื่องที่รู้ลึกนั้นได้ด้วยอีกมิติหนึ่ง จนแม้แต่คนติดอ่างหรือหลงไปอยู่ถิ่นอื่นพูดจาคนละภาษาจนไม่รู้เรื่อง ความรู้กว้างรู้ลึกเหล่านั้นก็ยังทำให้คนๆ นั้นกล้าสื่อสาร กล้าแสดงออกและพยายามสื่อสารให้ได้ เหมือนคนติดอ่างพยายามจะพูดให้จบในสิ่งที่ตนรู้มากกว่าแม้ต้องพยายามขนาดหนักให้เพื่อให้พูดจนจบ… ความรู้จึงพัฒนาทักษะสื่อสารให้โดดเด่นขึ้นได้แน่นอน
6. Collaboration Skill หรือ ทักษะการร่วมมือและประสานงาน
ทักษะการประสานงานให้ราบรื่นโดยไม่ประสานงาเสียก่อน เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ โดยเฉพาะศิลปะที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารคู่กับการวัดและประเมินความก้าวหน้าหรือผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงของงาน ที่ต้องร่วมทำกับคนอื่นๆ ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเป้าหมายเดียวกันของคนหลายคน เหมือนนักกีฬาฟุตบอลในสนามทั้งทีมที่ต้องช่วยกันคนละหน้าที่ หาทางพาบอลไปทำประตูเอาชัยชนะให้ได้ ซึ่งแค่ผู้เล่นในทีมเพียงคนเดียวขาดทักษะในหน้าที่จนการร่วมมือและประสานงานในทีมเละไปหมด เป้าหมายร่วมกันที่หวังย่อมมีโอกาสล้มเหลวมากกว่า… ประเด็นก็คือ การเรียนเอาความรู้มากมายใส่ตัว เป็นการพัฒนาทักษะหลายอย่างไปด้วยอย่างชัดเจน ทำให้การทำงานในฐานะสมาชิกทีมไม่ว่าจะต้องทำหน้าที่อะไรก็ตามแต่ นอกจากจะทำได้อย่างดีแล้ว… หลายกรณีทำให้คนๆ หนึ่งทำหน้าที่อย่างดีได้หลายหน้าที่ จนใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วยอย่างอบอุ่น
7. Information Management หรือ การจัดการข้อมูลข่าวสาร
อย่างที่ทราบกันดีว่า เราอยู่ในยุคข้อมูลข่าวสารท่วมท้นจนต้องเรียนรู้และฝึกทักษะให้รู้จัก “แยกแยะข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ ออกจาก ข้อมูลข่าวสารที่ใช้ประโยชน์ให้ได้” เพื่อใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด โดยเฉพาะเวลาที่ทุกคนมีหนึ่งนาทีหมายถึงหนึ่งนาทีขนาดเท่ากัน และถ้าเราใช้เวลาไปกับทั้งข้อมูลที่มีประโยชน์แต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ พร้อมๆ กับสะสางข้อมูลข่าวสารที่ใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน… ในขณะที่คู่แข่งหรือแม้แต่คนอื่นๆ โฟกัสข้อมูลข่าวสารท่วมท้นได้คมชัดกว่า… ซึ่งแน่นอนว่า “ข้อมูลข่าวสารที่ใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน” มีน้อยกว่าและต้องการทรัพยากรไปจัดการน้อยกว่า แพ้ชนะเมื่อต้องแข่งขัน หรือ เร็วกว่ากับช้ากว่าเมื่อต้องเปรียบเทียบจึงเฉือนกันตรงนี้เอง… ความรู้และทักษะที่เป็นปัจจุบันที่สุด ซึ่งต้องเรียนรู้และอัพเดทให้เป็นปัจจุบันที่สุด จะทำให้ประเด็นที่ต้องสกัดออกมาจากข้อมูลข่าวสารมากมายท่วมท้นเหล่านั้น ไม่ดูเป็นคนสุมขยะไว้เต็มบ้านเพราะคิดว่า “มันน่าจะมีประโยชน์หรือขายได้ในวันหน้า” ทั้งๆ ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ขนาดกองขยะให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า กองสุมท่วมท้นไร้ค่าขนาดไหน
8. Adaptability Skill หรือ ทักษะการปรับตัว
คนที่มีโอกาสเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับความรู้หรือทักษะที่สะสมมากันทั้งนั้น คนที่เรียนรู้เทคนิคเอาเปลือกกระเทียบออกจากเนื้อได้โดยไม่ต้องแกะทีละชั้น ย่อมไม่มานั่งลอกเปลือกกระเทียมทีละกลีบให้เปลืองเวลา… คนที่รู้จักเรียนรู้ตลอดเวลา จึงมีทักษะการปรับตัวตามความรู้ใหม่เสมอ
9. Curiosity หรือ ความอยากรู้อยากเห็น
ความอยากรู้อยากเห็นเป็นส่วนหนึ่งของความเยาว์ ถึงขั้นถอยกลับไปเป็นเด็ก ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นทักษะสำคัญในการคิดสร้างสรรค์และการหาทางออกจากปัญหา โดยคนที่มีความอยากรู้อยากเห็นจะสามารถตั้งคำถาม “Why หรือ ทำไม” ได้ไม่รู้เบื่อที่จะหาคำตอบโดยไม่กลัวว่าตัวเองจะต้องเก๊กรู้มากทั้งที่งงจนเงียบ ไปจนถึงเฉไฉหลบเลี่ยง… ซึ่งเป็นความเงียบเพื่อหลบเลี่ยง “ความไม่รู้แต่กลัวคนจะรู้ว่าไม่รู้” ซึ่งหลายกรณีทำให้เสียโอกาสมากมาย… การยอมรับว่าไม่รู้และสงสัยใคร่รู้ รวมทั้งอยากรู้อยากเห็นอยากเข้าใจ โดยพร่องความอวดรู้ออกจากสติปัญญาเหมือนพร่องน้ำเก่าออกจากแก้ว เพื่อให้เหลือที่ว่างพอที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เติมใส่สติปัญญา เหมือนแก้วน้ำเหลือที่ว่างให้เติมน้ำใหม่ได้โดยไม่ล้นหลากไร้ค่า… คนที่เรียนรู้ได้เรื่อยๆ จึงมีคุณสมบัติความอยากรู้อยากเห็น โดยไม่รู้สึกว่าที่รู้มาก่อนแล้ว “เหลือพอกับชีวิตที่เหลือ” กันทั้งสิ้น
ทั้งหมดคัดๆ ลอกๆ จากเอกสารอ้างอิงจากหลายแหล่ง ตัดบ้างต่อเติมบ้างได้ข้อมูลมาเอ่ยอ้างเชิญชวนทุกท่าน หาทางให้ตัวเองได้ใช้ชีวิตแบบมีทักษะ Lifelong Learning หรือ L3 ตามบริบทที่ใครอยากเรียนอยากรู้อะไร ก็ลองตามๆ หาๆ บทเรียนหรือคนสอนในอินเตอร์เน็ตดูก่อนได้ครับ ผมคิดว่าสามารถค้นหาตอบสนองทุกความอยากรู้อยากเรียนได้หมด