กว่ายี่สิบปีมาแล้ว คอร์สเรียนออนไลน์ด้วยตัวเองเพื่อการ Reskill&Upskill ที่คนทำงานสายเทค โดยเฉพาะโปรแกรมเมอร์และวิศวกรซอฟท์แวร์ได้พึ่งพาและเรียนรู้ต่อยอดเพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงในสายอาชีพ ที่ต้อง Update Skill กันอยู่ตลอดเวลานั้น… ถ้าเอ่ยชื่อ Lynda.com สำหรับหลายท่านคงรู้จักและเคยใช้บริการกันมาบ้าง
Lynda.com เป็นแพลตฟอร์ม Video Based Learning Platform ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1995 โดย Lynda S. Weinman และถือเป็นแพลตฟอร์มต้นแบบในการจัดทำหลักสูตรและการเรียนการสอนบนจอ ซึ่งคนทำงานสาย EdTech ในยุคต่อๆ มาต่างต้องเรียนรู้และเลียนแบบมาจนถึงปัจจุบัน… หลายท่านที่ผมรู้จักเคยวิเคราะห์โมเดลของ Lynda.com ทำรายงานหนาเป็นร้อยหน้ามาแล้วก็มี
เดือนเมษายนปี 2015… Lynda.com ถูกแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง LinkedIn เข้าซื้อกิจการทั้งหมดด้วยมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเปลี่ยนเป็น LinkedIn Learning…
ปัจจุบัน… LinkedIn Learning กลายเป็นส่วนหนึ่งของ LinkedIn ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดียเพื่อสื่อสารข้อมูลเชิงธุรกิจ ทั้งระดับองค์กรและระดับบุคคล เพื่อเชื่อมโยงผู้คนทั่วโลกเข้าหากันด้วยสายอาชีพและทักษะความเชี่ยวชาญ จนเกิด Social Approval ที่เชื่อถือได้… โดยมีสมาชิก LinkedIn จำนวนมากทั่วโลก ใช้ LinkedIn สร้าง Resume เพื่ออ้างอิงอย่างเป็นทางการ หางานและศึกษาต่อ ในขณะที่องค์กรที่ต้องการจ้างงานผู้เชี่ยวชาญมาทำงานสำคัญๆ ก็มักจะสืบค้นจาก LinkedIn Profile และติดต่อทาบทามจ้างงานกันโดยตรง
ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… สมาชิก LinkedIn ที่ลงเรียนคอร์สออนไลน์บน LinkedIn Learning จะถูกรับรองคุณวุฒิโดยอัตโนมัติ โดยจะเพิ่มข้อมูลบน LinkedIn Resume ให้ทันทีที่เรียนจบหลักสูตร… นั่นแปลว่า LinkedIn ในมิติทางการศึกษาได้สร้างระบบนิเวศน์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และกลไกการจ้างงานแบบ Full Social Approval ได้อย่างสมบูรณ์ไปแล้ว…
ที่สำคัญคือ… ไม่ได้แยกการศึกษากับการหางานทำไว้คนละที่ละทาง แบบที่ระบบการศึกษายุคเก่าที่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันยังงมทางลงเหวกันอยู่… ทั้งๆ ที่วุฒิการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน กลายเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในการพิจารณารับคนเข้าทำงานเท่านั้น… ในขณะที่ใบรับรองการพัฒนาทักษะเฉพาะทางจากแหล่งที่เชื่อถือได้นอกมหาวิทยาลัย กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาจ้างงานและกำหนดอัตราค่าจ้าง โดยเฉพาะในตำแหน่งงานที่ต้องการคนพิเศษๆ เข้ามาร่วมงาน…
ส่วน Social Profiles ก็ถูกใช้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของตัวบุคคลได้ดีกว่า Resume หรือแม้แต่ระบบหนังสือรับรองค้ำประกันแบบโบราณที่องค์กรไทยส่วนหนึ่งยังยึดถือและใช้คัดกรองคนเข้าทำงานอยู่
วันก่อนผมมีโอกาสได้ทราบรายละเอียดการยื่นสมัครงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งเรียนจบสอบเสร็จส่งงานครบและพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน… แต่ต้องรอเอกสารรับรองการสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ซึ่งดูเหมือนจะต้องรอและล่าช้าอีกหลายเดือนกว่าหนุ่มสาววัยทำงานเล่านี้จะมีเอกสารตัวจริงไปประกอบการสมัครงาน
ที่จริงก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรหรอกครับ เพราะแต่ไหนแต่ไรมาก็ต้อง “รออีกหน่อย” กันมานมนานแล้ว… ต่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความล่าช้าทั้งมวลเหล่านี้จะทราบดีว่า หนุ่มสาววัยทำงานเหล่านี้พร้อมและอยากเผชิญหน้ากับอนาคตของตัวเอง เพื่อบรรเทาปัญหาเรื่องรายได้ ปากท้องและภาระครอบครัว ที่อดทนมาจนเรียนจบอย่างไรแค่ไหน… ก็ต้องรออีกหน่อย เพราะเอกสารจากมหาวิทยาลัยมีขั้นตอนเยอะ เอกสารเยอะ คนทำงานน้อยน่าเห็นใจกว่า เลยทำเสร็จช้าเป็นธรรมดา
นอกจากนั้น… กลไกการรับเข้าทำงานและทำสัญญาจ้างที่หนุ่มสาววัยทำงานเหล่านี้ ยังต้องพยายามอีกมาก ตั้งแต่แข่งขันกันเองเพื่อให้ถูกเลือก ไปจนถึงวิ่งเต้นหาหลักทรัพย์และคนค้ำประกัน… ซึ่งผมได้ยินมาว่า มีบัญฑิตจบใหม่จากครอบครัวที่ขาดแคลนมากมายเสียโอกาสที่จะได้ทำงานในฝันไปอย่างน่าเศร้าเพราะหาหลักทรัพย์และคนค้ำประกันไม่ได้ก็มี…
กรณีของเอกสารรับรองวุฒิการศึกษา ผมยังมีประเด็นบ่นอีกหลายแง่มุมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง… แต่ช่างมันเถอะ ผมฝากข้อความถึงหนุ่มสาววัยแรงงานรุ่นใหม่โดยตรงง่ายกว่า… ผมอยากให้ท่านที่ความหวังยังใหม่สดและคิดถึงความก้าวหน้าในอาชีพการงาน รายได้และโอกาสที่ดีกว่า… พาตัวเองไปสร้างโปรไฟล์บนแพลตฟอร์มอย่าง LinkedIn หรือแพลตฟอร์มไหนก็ได้ที่จะเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง และอย่าพลาดที่จะเริ่ม “พัฒนาทักษะตัวเองเพิ่มเติม” นอกเหนือจากที่มหาวิทยาลัยสอนและให้ความรู้มา…
ปริญญาจากมหาวิทยาลัยอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะพาใครไปถึงฝั่งฝันอีกแล้ว…
References…