Centre for Entrepreneurship, SMEs, Regions and Cities หรือ CFE แห่งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD และ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ของประเทศไทย ได้ร่วมกันทำโครงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของคลัสเตอร์ที่มีนวัตกรรมในภูมิภาคของไทย หรือ Supporting SME Policy: Strengthening Regional Innovation Clusters อันเป็นส่วนหนึ่งของ Thailand Country Programme และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของ OECD Local Employment and Economic Development Committee ด้านการส่งเสริมคลัสเตอร์ระดับภูมิภาค การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม และ อุตสาหกรรมเกิดใหม่และเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของ OECD Committee on SMEs and Entrepreneurship ด้านระบบนิเวศการประกอบการ และมิติเชิงพื้นที่ด้านการประกอบการ… ภายใต้การดูแลของ Dr.Jonathan Potter หัวหน้าหน่วยนโยบายส่งเสริมและวิเคราะห์การประกอบการของ CFE
รายงานการศึกษาแนวทางยกระดับผู้ประกอบการนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับคลัสเตอร์นวัตกรรมในระดับภูมิภาคและอุตสาหกรรม ที่จะผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต โดยกำหนดให้คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง หรือ Advanced Agriculture and Biotechnology และ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต หรือ Food-For-The-Future ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายเป็นกลุ่มเป้าหมายในการจัดทำกรณีศึกษา… ซึ่งข้อมูลที่นำเสนอในรายงานจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายส่งเสริม SME แนวทางใหม่สำหรับสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจขนาดเล็กที่เน้นนวัตกรรม หรือ Innovation-Based Small Business Economy มากขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด 19
ต้นฉบับรายงานภาษาอังกฤษถูกตีพิมพ์เผยแพร่ในชื่อหัวข้อ Local Entrepreneurship Ecosystems and Emerging Industries, Case Study of Chiang Mai and Chiang Rai, Thailand. ซึ่งได้พบข้อเสนอแนะจากผลการศึกษาในครั้งนี้ว่า…
อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง และ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต เป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจได้อย่างยิ่ง และจัดอยู่ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ทั้งนี้ ความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมสองสาขาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ด้วยการระดมงบประมาณภาครัฐเพื่อการพัฒนา R&D ด้านเทคโนโลยีชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการคิดค้นผลิตภัณฑ์ และ กระบวนการผลิตที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในภาคการเกษตรที่สนองตอบความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ Niche ในต่างประเทศซึ่งกำลังขยายตัว
สินค้าที่คาดว่าที่มีศักยภาพ ได้แก่ สินค้าเพื่อสุขภาพ ยา อาหารทางเลือก และเครื่องสำอาง อย่างไรก็ตาม การใช้ประโยชน์จากการพัฒนา R&D ดังกล่าวยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากผู้ประกอบการที่มีความพร้อมที่จะนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และ ขยายการส่งออกยังมีจำนวนน้อย
การแก้ไขปัญหาคอขวด หรือ ข้อจำกัดด้านการใช้ประโยชน์จากการพัฒนา R&D ในอุตสาหกรรมการเกษตรขั้นสูงและเทคโนโลยีชีวภาพและอาหารสำหรับอนาคต รวมไปถึงสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่นๆ ที่กำหนดไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 สามารถทำได้โดยการเชื่อมโยงและบูรณาการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ และองค์กรวิจัย กับผู้ประกอบการ Start-up และ Scale-up ที่มีศักยภาพ และ กลุ่มผู้มีศักยภาพที่จะเป็นผู้ประกอบการใหม่ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับใช้นวัตกรรมในทางธุรกิจ หรือ Absorptive Capacity ให้กับ SME กลุ่มดังกล่าว
จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายมีศักยภาพที่จะเป็นฐานการผลิตสินค้าเกษตรขั้นสูงและเทคโนโลยีชีวภาพ และ อาหารแห่งอนาคตระดับภูมิภาค ทั้งสองจังหวัดมีผลผลิตทางการเกษตรที่สeคัญ คือ ข้าว ผลไม้ ผัก และผลิตภัณฑ์อินทรีย์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมของมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาค และ อุทยานวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ และ การวิจัยที่เกี่ยวข้องอย่างแข็งขัน และพร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมนี้
อย่างไรก็ดี ภาครัฐจำเป็นต้องยกระดับการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการให้คำแนะนำทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการที่มุ่งขยายกิจการ และการสร้างความเชื่อมโยงไปยังหน่วยงานส่งเสริมนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง
นโยบายที่จะนำความสำเร็จจะต้องแก้ไขปัญหาดังนี้
- การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เครื่องมือทางการเงินทางเลือก… เช่น สินทรัพย์ตราสารทุนนอกตลาด หรือ Private Equity… นักลงทุนอิสระ หรือ Angel Investor และ กองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture Capital ในประเทศไทยยังอยู่ในระยะเริ่มพัฒนา ส่วนโครงการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของรัฐบาลส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่การให้กู้ยืมแบบดั้งเดิม ยังขาดมาตรการทางการเงินที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรม
- ทักษะ… มีปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูงด้านการบริหารจัดการธุรกิจและนวัตกรรม รวมทั้งการขาดโอกาสของผู้ประกอบการในกลุ่มสตรีและบัณฑิตจบใหม่ที่มีความมุ่งมั่น
- กฎระเบียบ… การขาดแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานและความล่าช้าในการออกใบอนุญาตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการ Start-up และ Scale-up ที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพใหม่ๆ ออกสู่ตลาด
- การให้คำแนะนำทางธุรกิจ… ระบบการให้บริการเพื่อการพัฒนาธุรกิจ หรือ BDS หรือ Business Development Services ของภาครัฐที่มีอยู่นั้น เป็นบริการระดับพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป ซึ่งไม่ลึกพอสำหรับผู้ประกอบการนวัตกรรม อีกทั้งยังไม่มีการบูรณาการการให้คำแนะนำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีกับการให้บริการ BDS อย่างส่งเสริมกันเพื่อสนับสนุนธุรกิจกลุ่มนี้ในด้านต่างๆ เช่น การวางกลยุทธ์การตลาดและการบริหารธุรกิจ
- การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ… จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายยังไม่สามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะนี้มีการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทต่างชาติกับ SME ที่เป็นผู้จัดหาปัจจัยการผลิต หรือ สถาบันวิจัยต่างๆ ในระดับภูมิภาคเพียงเล็กน้อย
- การส่งเสริมคลัสเตอร์… แม้จะมีการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจในภูมิภาคอยู่บ้าง เช่น โครงการฟู๊ดวัลเลย์ และมีมาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาในสาขาการเกษตรขั้นสูงและเทคโนโลยีชีวภาพ และสาขาอาหารแห่งอนาคตผ่านโครงการ “เมืองนวัตกรรมอาหาร” แต่ในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย แต่ยังขาดองค์กรประสานงานเครือข่ายคลัสเตอร์ในภูมิภาค หรือ CMO หรือ Cluster Management Organizations ที่จะร่วมส่งเสริมคลัสเตอร์ไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านผู้ประสานงานคลัสเตอร์ หรือ เพื่อผลักดันโครงการพัฒนาคลัสเตอร์และงานสร้างเครือข่ายคลัสเตอร์ต่างๆ
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบำยที่สำคัญ
รายงานนี้ประกอบด้วยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรมจำนวนมาก พร้อมทั้งยกตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีในประเทศต่างๆ โดยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ ดังนี้
1. ปรับปรุงระบบนิเวศของการประกอบการระดับภูมิภาค
- เพิ่มเครื่องมือทางการเงินเพื่อการขยายธุรกิจ หรือ Growth Finance สำหรับธุรกิจ Start-Up และ Scale-Up ในคลัสเตอร์ โดยเพิ่มมาตรการทางการเงินที่มุ่งเป้าส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตเป็นการเฉพาะ รวมทั้งส่งเสริมการระดมทุนจากบุคคลทั่วไป หรือ Crowdfunding และ พัฒนาเครือข่ายนักลงทุนอิสระ หรือ Business Angel Network
- หลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการและโครงการสนับสนุนธุรกิจ Start-Up อื่นๆ ที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยต้องได้รับการสนับสนุนทางการเงินที่ยั่งยืน ยกระดับการให้บริการ BDS
- ใช้ระบบคูปอง BDS เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมที่มีศักยภาพในคลัสเตอร์ให้เข้าถึงบริการ BDS ภาคเอกชนที่มีคุณภาพสูงและมีความเข้มข้นเฉพาะทาง เพื่อส่งเสริมการปรับใช้เทคโนโลยีในเชิงพาณิชย์และการขยายธุรกิจสู่สากล
- สำรวจหา SME ที่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม ขยายธุรกิจ และขยายตลาดสู่สากลในคลัสเตอร์ และ มอบหมายผู้ดูแลเพื่อส่งเสริมให้เข้ารับบริการ BDS
2. เสริมสร้างความเข้มแข็งเชิงสถาบันเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
- สร้างความเข้มแข็งให้กับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางการเกษตรขั้นสูงในภูมิภาค และ ประชาสัมพันธ์จุดแข็งที่จะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
- วางระบบงาน FDI Aftercare เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างนักลงทุนข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนแล้วกับผู้ประกอบการในภูมิภาค มหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจจัดตั้งองค์กรประสานงานเครือข่ายคลัสเตอร์ในภูมิภาค หรือ CMO และ ผู้ประสานงานคลัสเตอร์ หรือ CMA
- จัดตั้งองค์กร CMO ในคลัสเตอร์อุตสาหกรรมทางการเกษตรขั้นสูงและเทคโนโลยีชีวภาพ และอาหารแห่งอนาคตในภูมิภาคของจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เพื่อทำหน้าที่สร้างเครือข่าย วางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้คลัสเตอร์เป็นที่รู้จัก และกลยุทธ์การพัฒนาคลัสเตอร์
- ให้ CMA ทำหน้าที่สำรวจหาผู้ประกอบการ Start-Up และ Scale-Up ที่มีศักยภาพสูงเพื่อเข้ารับการสนับสนุนด้านต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และ การตลาดอย่างบูรณาการ รวมถึงประสานโครงการเชิงกลยุทธ์ต่างๆ ภายในคลัสเตอร์ เช่น โครงการวิจัยเชิงประยุกต์ร่วมกับมหาวิทยาลัยในภูมิภาค อุทยานวิทยาศาสตร์ และโครงการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น
ท่านที่สนใจรายงานฉบับเต็ม ขนาด 167 หน้า กรุณาคลิกที่นี่
References…