ความลำเอียง หรือ อคติที่คนๆ หนึ่งใช้ประกอบวิจารณญาณโดยเจ้าตัวไม่ได้รู้เท่าทัน ซึ่งหลายๆ กรณีทำให้เห็นการตัดสินใจแปลกๆ ชนิดอยู่ตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริง หรือ ได้เห็นการตัดสินใจอย่างไม่น่าเชื่อถึงขั้นทำไปทำมากลายเป็นผลร้ายย้อนเข้าตัวชนิดกินหัวกินหางตัวเองก็มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มาก โดยในทางจิตวิทยามีคำเรียกเฉพาะในกรณี “การตัดสินใจด้วยอคติ” ทั้งหมดในทุกความเชื่อและสาเหตุเหล่านี้ว่า Consensus Bias หรือ False Consensus Effect ซึ่งหมายถึงการลงมติด้วยความลำเอียง… ซึ่งเจ้าตัวมักจะตัดสินใจภายใต้แรงจูงใจเพื่อเพิ่มความภูมิใจในตน หรือ Self Esteem… โดยมักจะมีที่มาของความเชื่อแปลกๆ จากตรรกะวิบัติ หรือ Fallacies หรือ Logical Fallacies สารพัดรูปแบบ
ประเด็นก็คือ… คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนมีเหตุผล มีวิจารณญาณ มีหลักคิด และ เก่งกาจการไตร่ตรองขั้นสมบูรณ์แบบ ซึ่งความเชื่อว่าตัวเองถูก–เก่ง–ดี และ รอบคอบกว่าใครนี่เองที่ทำให้หลายๆ คนทำตัวแปลกๆ เมื่ออยู่ในภาวะที่เต็มไปด้วยอคติในใจและความเชื่อผิดๆ จนพาตัวเองไปคิด–พูด–ทำเรื่องแปลกๆ โดยไม่รู้สึกอะไรเลย ถึงแม้จะรู้ตัว หรือ ไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้ตรรกะวิบัติแทนเหตุผลที่ถูกต้องอยู่ก็ตาม…
การอธิบายรูปแบบของอคติถูกบันทึกไว้ครั้งแรกโดยปราชญ์นามกระเดื่องอย่าง อริสโตเติล หรือ Aristotle ซึ่งได้สร้างกรอบการอธิบายถึงอคติต่างๆ ไว้ในหัวข้อ Sophistical Refutations เพื่อใช้เป็นแนวทางในการโต้แย้งปกป้องวิทยานิพนธ์ หรือ Defense Thesis… แต่วันนี้ไม่ได้ตั้งใจจะพาทุกท่านย้อนไปเอาภูมิปัญญายุคก่อนคริสต์ศักราชมาแนะนำหรอกครับ ถึงแม้ตรรกะวิบัติ หรือ Fallacies ที่จะยกมาเล่าต่อวันนี้จะถูกดัดแปลงมากจากรากเหง้าที่ย้อนไปถึงผลงานของ Aristotle อยู่เยอะก็ตาม…
ก่อนจะไปดูว่าตรรกะวิบัติที่ต้องรู้เท่าทันว่ามีอะไรบ้าง… ผมอยากพูดถึงความสำคัญของการมีอยู่ของตรรกะวิบัติ ซึ่งถูกใช้ในทางกลยุทธ์เพื่อหวังผล หรือ เล็งเห็นผลโดยผู้ใช้ที่ประเมินและวางแผนมาอย่างดี โดยการใช้ตรรกะวิบัติในทางกลยุทธ์ หรือ ในแนวทางมุ่งเป้าทำนองนี้ ก็มักจะเกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ที่เป็นชิ้นเป็นอันระดับองค์กรไปจนถึงระดับชาติเลยก็ว่าได้… ซึ่งถ้าใครเคยศึกษาศาสตร์ด้านการทูต โดยเฉพาะแนวทางการเจรจาทางการทูต หรือ Diplomatic Negotiation ก็จะเห็นแนวทางการประยุกต์ใช้ตรรกะวิบัติเพื่อการต่อรองให้ได้ประโยชน์สูงสุด… ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งใน “มิติแสวงผลประโยชน์ และ มิติปกป้องผลประโยชน์” ได้ด้วย
ส่วนการใช้ในสเกลที่เล็กกว่าในระดับชาติ หรือ การใช้ในทางการเมือง ก็มักจะเห็นการใช้ในระดับองค์กรแทบจะเป็นเรื่องปกติ… ผู้นำองค์กรมากประสบการณ์ส่วนใหญ่จึงมักจะเคยใช้ หรือ เคยเจอการใช้ตรรกะวิบัติกันมาแล้วทั้งสิ้น… ทั้งใน “มิติแสวงผลประโยชน์ และ มิติปกป้องผลประโยชน์”
ตรรกะวิบัติหลักๆ จะประกอบไปด้วย…
- Strawman หรือ หุ่นฟาง… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการนำเอาข้อถกเถียงของฝ่ายตรงข้าม มาแปลความหมายอย่างผิดๆ เพื่อให้ง่ายต่อการตอบโต้
- Slippery Slope หรือ แถ-ลง… จะเป็นการบิดเบือนแบบ “คิดเองเออเอง” หรือ ลื่นเป็นปลาไหลลงรู
- Special Pleading หรือ เปลี่ยนจุดยืน… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการเปลี่ยนเป้าหมาย หรือ แถไปเรื่อย
- The Gambler’s Fallacy หรือ คิดแบบผีพนัน… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการให้เหตุผลว่าถ้าสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง สิ่งนั้นจะลดลงในอีกช่วงเวลาหนึ่ง เหมือนนักพนันที่แพ้หลายๆ ตาติดกันแลัวเชื่อว่าจะต้องชนะบ้าง
- Black-or-White หรือ ไม่ขาวก็ดำ… จะเป็นการบิดเบือนด้วยข้อสรุปที่ขาดความยืดยุ่นแบบถูกผิด… ขาวดำ… ชั่วดี
- False Cause หรือ จับแพะชนแกะ… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการโยงความสัมพันธ์มั่วๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันจริงๆ
- Ad Hominem หรือ โจมตีตัวบุคคล… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการหาทาง “ลดความน่าเชื่อถือ” ของฝ่ายตรงกันข้ามหรือเป้าหมายลง
- Loaded Question หรือ กับดักคำถาม… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการตั้งคำถามที่ตอบอย่างไรก็ผิดหมดทิ้งไว้… โดยเฉพาะการไม่ตอบคำถามจะยิ่งผิดปนโง่และไร้สำนึกไปเลยก็มี
- Bandwagon หรือ อ้างมวลชน… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการอ้างคนหมู่มากเพื่อสร้างความชอบธรรมอย่างพวกที่ชอบใช่โพลชี้นำ
- Begging the Question หรือ คำถามมากับคำตอบ… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการ “ให้ข้อสรุป หรือ คำตอบ” มาพร้อมกับคำถามเช่น นาย ก ขี้โกงเพราะศาลพิพากษาว่าทุจริตไปแล้ว… ซึ่ง นาย ก หรือ ใครจะแก้ต่างถกเถียงแทนก็ยากแล้ว
- Appeal to Authority หรือ อ้างสถาบัน… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการอ้างความชอบธรรมที่เกี่ยวข้องถึงสถาบัน หรือ ข้างฝ่ายที่ถูกต้องดีงาม เช่น พวกอ้างพระเจ้าเพื่อทำสงครามศักดิ์สิทธิ์
- Appeal to Nature หรือ อ้างธรรมชาติ… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการอ้างความเป็นธรรมชาติที่ไม่ถูกเปลี่ยนแปลง หรือ ไม่ทำร้ายใคร ซึ่งแปลว่าดีงาม
- Composition/Division หรือ เหมารวม… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการสรุปรวมว่าเหมือนกันหมด เช่น… คนเชียงใหม่เป็นเสื้อแดงหมด
- Anecdotal หรือ อ้างว่าเห็นมากับตา… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการเล่า หรือ พูดถึงเป็นตุเป็นตะว่าเห็นมากับตาแบบพยานเท็จยืนกระต่ายขาเดียว
- Appeal to Emotion หรือ ปลุกปั่นอารมณ์… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการปลุกปั่นความคิด ความรู้สึกคนฟัง ซึ่งพบเห็นมากในการปราศัยโจมตีตามเวทีสาธารณะ และ เวทีการเมืองต่างๆ
- Tu Quoque หรือ เมินเฉย หรือ ไม่หือไม่อือ… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการไม่ให้ข้อมูล ไม่โต้ตอบ ไม่สนใจ ซึ่งถือเป็นการการแถอีกแบบหนึ่งที่เห็นใช้กันมากในหมู่ผู้มีอำนาจ
- Burden of Proof หรือ อ้างหลักฐานตรวจสอบ… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการกล่าวเท็จในประเด็นที่ใครก็หาหลักฐานมาพิสูจน์โต้แย้งไม่ทัน หรือ ไม่ได้ โดยเฉพาะในยุคก่อนที่จะหาคำตอบได้มากมายจาก Google
- Ambiguity หรือ กำกวม หรือ เล่นลิ้น… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการใช้วาทะกรรมแบบศรีธนญชัย เช่น เขาไม่ได้ทำผิดกฏหมาย แค่เผลอทำสิ่งที่กฎหมายห้าม
- Genetic หรือ อ้างชาติกำเนิด… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการใช้วาทะกรรมอ้าง “เป็นแบบนี้ตั้งแต่เกิด” เช่น เลือกตั้งที่ไหนก็ซื้อเสียงกันโครมๆ ที่นั่น แล้วยังจะมาอ้างประชาธิปไตย
- Middle Ground หรือ ปรองดอง… จะเป็นการบิดเบือนด้วยการไกล่เกลี่ยเพื่อให้เห็นแก่ความสงบสุขปรองดอง
ความจริงยังมีตรรกะวิบัติในสถานการณ์อื่นๆ ที่ถูกใช้ด้วยเล่ห์เหลี่ยม และ กลยุทธ์อีกมาก… โดยเฉพาะอะไรที่โซเชี่ยลมีเดียเห็นคล้ายๆ กันว่า “แถ” นั่นเอง

References…