data-driven-construction

Data Driven Culture… วัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล

ผมกำลังค้นคว้าและรวบรวมกรณีศึกษาเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลขับเคลื่อนธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ผมไม่ได้ทำให้ลูกค้าหรือนายจ้างคนไหนเป็นพิเศษหรอกครับ เป็นความอยากรู้ส่วนตัวว่า บริบทของข้อมูลในกิจการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ มีใครทำอะไรได้น่าสนใจอยู่ที่ไหนกันบ้าง

ผมไปเจอกรณีของ L&T Group ภายใต้การนำของซันเจย์ จาโลนา หรือ Sanjay Jalona เจ้าของรางวัล CEO Of The Year  จากนิตยสาร Businessworld ประจำปี 2017… และวารสาร Institutional Investor ได้จัดอันดับให้ซันเจย์ จาโลนา เป็นซีอีโอที่ดีที่สุดในบรรดาบริษัท จดทะเบียนในเอเชียปี 2018 ด้วย… ซันเจย์ จาโลนา CEO ของ  Larsen & Toubro Infotech หรือ LTI ซึ่งเวบไซต์ hbr.org ของ Harvard Business Reviews ได้แบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์เกี่ยวกับ Data ของ ซันเจย์ จาโลนาในหลายประเด็นออกเผยแพร่

ข้อมูลของ L&T ระบุว่า… พวกเขาใช้เวลาสี่ปีเศษผลักดันธุรกิจก่อสร้าง ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงและ Information Technology จนกิจการมีมูลค่าแตะ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ก่อนหน้านั้น หรือเมื่อสี่ห้าปีก่อน… ปัญหาเรื่องวัฒนธรรมองค์กรเป็นเรื่องท้าทายยิ่งกว่าเรื่องเทคโนโลยีมาก… L&T ภายใต้การนำของซันเจย์ จาโลนา วางเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงองค์กรครั้งใหญ่ โดยมุ่งเข้าหาพลังของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่สามารถผลิตข้อมูลเพื่อนำใช้ในการดำเนินงาน รวมทั้งลงทุนกับเครื่องมือ เครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์เพื่อลดต้นทุนลงทุกทาง โดยเฉพาะการลดเวลา

ปัญหาของ L&T ก่อนการลอกคราบหรือ Transform สู่การขับเคลื่อนกิจการด้วยข้อมูลจนประสบความสำเร็จในอีกสามสี่ปีต่อมาก็คือ พนักงาน L&T ใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์พกพาอย่างมือถือหรือแท็บเล็ทในไซต์งานก่อสร้างน้อยกว่า 20%… แถมยังรายงานข้อมูลเป็นค่าโดยประมาณ

สิ่งที่ซันเจย์ จาโลนาตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นที่ “จัดการให้ข้อมูล Real Time” เพื่อการตัดสินใจที่คลาดเคลื่อนน้อยจนไม่มีผลกระทบด้านประสิทธิภาพ และต่อด้วยการเลือกใช้ Artificial Intelligence หรือ AI… Internet of Things หรือ IoT… Virtual Reality/Artificial Reality หรือ VR/AR… Robotic Process Automation หรือ RPA และ Geospatial and Cybersecurity Technologies มาบูรณาการข้อมูลเข้าด้วยกัน… 

ปัจจุบัน… L&T เชื่อมต่อข้อมูล Realtime กับเครื่องจักรและอุปกรณ์กว่า 10,700 เครื่องใน 450 ไซต์งานทั้งในอินเดียและต่างประเทศ… ทั้งหมดนั้น เห็นผลชัดเจนจากการวัดประเมินผลที่สำคัญได้หลากหลายตัวแปร เช่น ประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงของเครื่องจักรอุปกรณ์ที่สูงขึ้นกว่า 25%… ผลผลิตของคนงานเพิ่มขึ้น 15%… และการใช้ประโยชน์จากโรงงานและเครื่องจักรเพิ่มขึ้น 10%… และ L&T ยังมุ่งมั่นปรับปรุงตัวเลข EBITDA หรือ กำไรก่อนจะหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจ่าย ให้ได้ 2–3% และสร้าง L&T ให้เป็นผู้นำในด้าน Digital Construction

การปลดล็อกคุณค่าของข้อมูลและการพัฒนาแนวคิดการขับเคลื่อนกิจการด้วยข้อมูลของ L&T นั้น… ได้ค้นพบแนวทางที่น่าสนใจหลายประการเช่น

  1. Digital cannot be just a team. Everyone in the organization needs to develop a digital mindset… ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องเล็กระดับทีม แต่ทุกคนในองค์กรต้องพัฒนา Mindset หรือชุดความคิดทางดิจิทัลไปพร้อมกันด้วย
  2. You need to be bold, decisive, and ready to make adjustments… ต้องกล้าตัดสินใจและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนจนกว่าจะเปลี่ยนแปลง
  3. Data driven analytics should point toward improvements vs. punishment… การใช้ข้อมูลวิเคราะห์มาขับเคลื่อน ควรใช้เพื่อปรับปรุงคนและระบบให้ดีขึ้น แทนการใช้ข้อมูลเพื่อการปิดกั้นทำลายความลื่นไหลของข้อมูลในระบบ
  4. It’s important to communicate how the data is benefiting employees and projects… สิ่งสำคัญอย่างมากคือ ต้องสื่อสารว่าข้อมูลเป็นประโยชน์ต่อตัวพนักงานเองและโครงการที่พวกเขารับผิดชอบอยู่
  5. You need to measure what is really important… จำเป็นต้องใช้ดัชนีชี้วัดเพื่อประเมินและระบุตัวแปรสำคัญที่จำเป็นต่อกิจการ

ทั้ง 5 ประเด็นที่ ซันเจย์ จาโลนา แบ่งปันไม่ได้มีเรื่องทางเทคนิคหรือเทคโนโลยีอยู่ในประเด็นเลยครับ… ทั้งหมดเป็นการสรุปเอา “วิธีอยู่กับข้อมูลและวิธีใช้ข้อมูล” ของคนในองค์กรด้วย Mindset ระดับองค์กรที่ต้องปรับเปลี่ยนด้วยกันและไล่ล่าเป้าหมายเดียวกัน… นั่นแปลว่า เมื่อให้ข้อมูลนำทาง ข้อมูลก็จะใส่รายละเอียดว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอย่างไรและต้องลงทุนกับอะไรแค่ไหน

ข้อมูลบนเวบไซต์ LarsenToubro.com ในปัจจุบันชี้ว่า…  L&T Group เป็นเจ้าของเทคโนโลยีระดับ Digital Construction ครบวงจรไปแล้ว ซึ่งแปลว่า… รายได้ของ L&T นอกจากจะมาจากการก่อสร้างและที่ปรึกษาโครงการแล้ว พวกเขายังมี “ระบบ” ที่สามารถทำรายได้อีกทางไม่ต่างจากธุรกิจ IT ซึ่งเป็นกรณีการพาธุรกิจสร้าง S-Curve ใหม่ให้กิจการได้อย่างสวยงาม

ประเด็นเป็นแบบนี้ครับ… หลายท่านที่ตามหา S-Curve ให้ธุรกิจ ซึ่งผมก็เจอหลายๆ ท่านพยายามแสวงหาไอเดียจากแรงบันดาลใจมากมายหลายรูปแบบ โดยลืมพลิกเอา “กิจการของตัวเองที่ดูแลอยู่” มาเติมข้อมูลให้ถึงขั้นที่ขับเคลื่อนการสะสางงานให้ลื่นไหลกว่าเดิมนั่นเอง… คือ S-Curve แรกที่ควรจัดเต็มก่อนอะไรทั้งหมด

อยากชวนผมไปสนุกด้วยก็ทักมาได้ครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *