เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งระหว่างงานสัมนาพิเศษด้านสิ่งแวดล้อมที่จัดขึ้น ณ Columbia University ในมหานคร New York ว่า “ธรรมชาติมักจะโต้กลับด้วยสัพพะกำลังและความโกรธเกรี้ยว”
ท่านเลขาธิการยูเอ็น อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ยังแสดงเจตจำนงค์ให้การต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหัวใจสำคัญในภารกิจโลก ขององค์การสหประชาชาติในปี 2021… คำปราศรัยสำคัญของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นับเป็นจุดเริ่มต้นของเดือนแห่งการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ที่นำโดยองค์การสหประชาชาติ รวมถึงการเผยแพร่รายงานสำคัญเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศโลกและการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ระหว่างการประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศในวันที่ 12 ธันวาคม ปี 2020 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 5 ปีของข้อตกลงสภาพภูมิอากาศปารีส ที่มีขึ้นในปี 2015
ความเชื่อมโยงระหว่าง COVID19 กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น ท่านเลขาธิการยูเอ็นตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้คนและปศุสัตว์รุกล้ำเข้าไปในแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่องมีความเสี่ยงที่จะทำให้เราติดโรคร้ายแรง
ในขณะที่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากการระบาดใหญ่ได้ชะลอการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตรายชั่วคราว แต่กระนั้น ระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์และมีเทน ยังคงเพิ่มสูงขึ้นโดยปริมาณของ CO2 ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
คนทั้งโลกจึงยังมีภาระกิจในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ ที่หมายถึงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด และสร้างภาวะสมดุลระหว่างก๊าซเรือนกระจกที่จะปล่อยออกมาในอนาคตกับการลดปริมาณก๊าซดังกล่าวที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศโลก
ท่านเลขาธิการยูเอ็น อันโตนิโอ กูเตอร์เรส ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศ เมือง สถาบันการเงิน และบริษัทต่างๆ… ควรต้องดำเนินแผนการสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050… องค์กรเหล่านี้จะต้องดำเนินการอย่างเด็ดเดี่ยวเพื่อมุ่งสู่วิถีทางที่ถูกต้อง นั่นคือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกลง 45% จากระดับในปี 2010 ให้ได้ภายในปี 2030
ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ของเลขาธิการยูเอ็นได้แก่
- ตั้งราคาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
- ยุติการให้เงินช่วยเหลือและการอุดหนุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล
- เปลี่ยนภาระภาษี หรือ Tax Burden จากภาษีเงินได้ไปเป็นภาษีคาร์บอน และเปลี่ยนสถานะจากผู้เสียภาษีไปเป็นผู้ก่อมลพิษ
- ให้บรรจุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ไว้ในนโยบายและการตัดสินใด้านเศรษฐกิจและการคลังต่างๆ
- ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้คนทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับผลกระทบรุนแรงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ท่านเลขาธิการยูเอ็นยอมรับว่า จำเป็นต้องดำเนินมาตรการสุดโต่งเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันเนื่องจาก… ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แสดงชัดเจนว่า ถ้าโลกไม่ลดการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลลง 6% ทุกปี ตั้งแต่บัดนี้ไปจนถึงปี 2030 อะไรๆ ก็จะเลวร้ายลงอย่างมาก
และนโยบายด้านสภาพอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังไม่เพียงพอที่จะใช้รับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น พร้อมกับย้ำว่า… หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม เราก็อาจมุ่งสู่หายนะ จากภาวะอุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น 3–5 องศาเซลเซียสในศตวรรษนี้ ซึ่งผลกระทบดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก… ไฟป่า น้ำท่วม พายุไซโคลนและเฮอร์ริเคนที่รุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ในปัจจุบัน… พร้อมๆ กับความหลากหลายทางชีวภาพกำลังล่มสลาย ทะเลทรายกำลังแผ่ขยายอาณาเขต มหาสมุทรกำลังเต็มไปด้วยขยะพลาสติก ในอีก 30 ปีข้างหน้าจะมีพลาสติกมากกว่าปลาในทะเล
ท่านเลขาธิการยูเอ็น อันโตนิโอ กูเตอร์เรส จึงเรียกร้องให้ประชาคมโลก ให้คำมั่นอันทะเยอทะยานที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP ที่เมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์ในวาระหน้า
นอกจากนี้เขาจะกดดันให้มีการดำเนินการเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก และเรียกร้องให้นานาชาติร่วมกันแก้วิกฤตการสูญพันธุ์ ซึ่งกำลังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และดำเนินความพยายามเพื่อลดมลพิษ โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องหยุดทำสงครามกับโลก เราต้องประกาศสงบศึกอย่างถาวรและกลับมาปรองดองกับธรรมชาติอีกครั้ง
References…