Managed Aquifer Recharge

น้ำบาดาลและการเติมน้ำใต้ดินระดับตื้น #FridaysForFuture

รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของไทยจากสภาพัฒน์ระบุว่า… ปัญหาภัยแล้งมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจ ที่แปลว่ากระทบต่อประชาชนอย่างสำคัญ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เผชิญกับปัญหาต่อเนื่องมาอย่างยาวนานควบคู่ไปกับปัญหาน้ำท่วม 

การบริหารจัดการน้ำบาดาลเพื่อใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกร จึงเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถนำน้ำบาดาลขึ้นใช้ในปริมาณที่สม่ำเสมอตลอดทุกฤดู และมีคุณภาพน้ำที่คงที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เป็นทรัพยากรที่ไม่มีการสูญเสียน้ำอันเนื่องมาจากการระเหยและการซึมหายลงใต้ดินเหมือนน้ำผิวดิน

ประเด็นคือ… น้ำบาดาลบางแห่งเป็นทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ และบางแห่งเป็นทรัพยากรที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ บางแห่งเป็นทรัพยากรที่เกิดใหม่ได้… แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้ใช้น้ำบาดาลต้องมีค่าใช้จ่ายในการเจาะบ่อน้ำบาดาล เกษตรกรบางส่วนจึงเข้าถึงแหล่งทรัพยากรน้ำบาดาลได้ยาก

หลายฝ่ายจึงเคลื่อนไหวเรื่องน้ำบาดาลอย่างมากในปัจจุบัน… โดยเฉพาะ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาพื้นที่เกษตรและชุมชนที่ประสบภัยธรรมชาติ… ได้ศึกษาแนวทางการใช้น้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกร โดยการกักเก็บน้ำผิวดินลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน ซึ่งมีปริมาณมากเกินความต้องการในฤดูน้ำหลากรวมทั้งน้ำฝนลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำขึ้นมาใช้ในการเพาะปลูกในฤดูแล้ง

โครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักงานพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้ประเมินความต้องการของการใช้น้ำทั่วประเทศประมาณ 155,693 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี… แต่ปริมาณน้ำต้นทุนผิวดิน มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำกักเก็บตามเขื่อน และแหล่งกักเก็บน้ำบนผิวดินประมาณ 60,000 ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำท่าประมาณ 213,423 ล้านลูกบาศก์เมตร 

ข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล… ประเทศไทยมีปริมาณทรัพยากรน้ำบาดาลประมาณ 1,130,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีมากกว่าน้ำผิวดินประมาณ 19 เท่า… อัตราการซึมของน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลในพื้นที่ต่างๆ ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายประการ สำหรับประเทศไทย มีอัตราการซึมของน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลประมาณปีละ 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

ตัวเลขนี้อาจทำให้เข้าใจผิดว่า… ประเทศไทยมีปริมาณน้ำใช้เพียงพอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่นอกเขตชลประทาน ได้รับผลกระทบอย่างหนักต้องหาน้ำจากแหล่งอื่นมาเสริม

จากการเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้ เมื่อป่าไม้ถูกทำลาย น้ำในดินในช่วงบนในชั้นดินย่อมลดน้อยลง เนื่องจากไม่มีรากไม้ช่วยอุ้มน้ำไว้ 

แต่ในทางตรงกันข้าม… หากระดับน้ำบาดาลอยู่ตื้นใกล้ผิวดิน รากพืชหยั่งถึงก็มักเป็นพื้นที่ที่เป็นแนวต้นไม้ขึ้นหนาแน่น… เมื่อน้ำฝนจากพื้นที่ภูเขาไหลลงสู่พื้นที่ราบอย่างรวดเร็ว จะทำให้การไหลซึมของน้ำผิวดินลงไปสู่ใต้ดินไม่เพียงพอและสมดุล ซึ่งกระบวนการไหลเติมของน้ำผิวดินลงสู่ชั้นน้ำบาดาล เป็นการไหลของน้ำใต้ดินในแนวดิ่ง และเกิดในพื้นที่ต้นน้ำบาดาล ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หุบเขา หรือ ตามแนวรอยต่อระหว่างพื้นที่ลาดชัน และพื้นที่ใจกลางแอ่ง… น้ำจะเคลื่อนที่ลึกลงไปอย่างช้าๆ ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะถึงชั้นน้ำบาดาล ซึ่งเป็นกระบวนการที่ขาดการศึกษาทดลองอย่างสมบรูณ์ หรือกว่าจะเห็นผลก็อาจใช้เวลานับสิบปี

เมื่อน้ำบาดาลเป็นคำตอบที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จึงจำเป็นต้องศึกษาถึงวิธีการจัดการการเติมน้ำสู่ชั้นน้ำบาดาล หรือ Managed Aquifer Recharge ที่เหมาะสม

เครดิตภาพ: ไทยรัฐ

เครดิตภาพ: ไทยรัฐ

เครดิตภาพ: ไทยรัฐ

เครดิตภาพ: ไทยรัฐ

สำหรับประเทศไทย… พื้นที่ของประเทศไทยก็มีความแตกต่างกันในชั้นดินตามแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ วิธีการเติมน้ำสู่ชั้นน้ำบาดาลของแต่ละพื้นที่จึงต้องพิจารณารายละเอียด

ปัจจุบันระดับน้ำบาดาลได้ลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่าผิวดินประมาณ 6–15 เมตร ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ตามปกติ ต้องทำการขุดบ่อที่ความลึกมากขึ้นจึงสามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการนำน้ำขึ้นมาสู่ผิวดินที่ต่างกันทุกๆ 1 เมตร จะมีค่าใช้จ่ายราว 100 ล้านบาทต่อปี

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้จัดทำโครงการศึกษาทดลองการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระน้ำ ซึ่งจะสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ในปริมาณมาก และใช้งบประมาณในการดำเนินงานน้อย เป็นโครงการศึกษาทดลองการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านสระน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร ศึกษาการเติมน้ำโดยใช้บ่อและจากน้ำฝน 

ความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จึงเป็นการศึกษาการนำน้ำฝนหรือน้ำหลาก หรือ Flood Water ที่มีปริมาณมากเกินความต้องการในฤดูน้ำหลาก… ลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดิน

ประเด็นคุณภาพของน้ำที่เติมลงชั้นใต้ดินก็สำคัล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งต่อระบบแหล่งน้ำบาดาลโดยรวม ชั้นดินและชุมชนด้วย

สาระสำคัญของแนวคิดและการผลักดันเรื่องกักเก็บน้ำในชั้นบาดาลก็คือ… เทคโนโลยีการระบายน้ำสะอาดลงชั้นบาดาลเลียนแบบกลไกธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวผลักดันกฏหมายเกี่ยวกับน้ำบาดาลมาอย่างต่อเนื่อง… และส่วนตัวเชื่อว่า การกักน้ำหลากลงใต้ดินเป็นประโยชน์สองต่อ ทั้งช่วยน้ำท่วมและน้ำแล้งในโครงการเดียวกัน

#FridaysForFuture ครับ!

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts