สินค้าหมวดอาหารถือว่าเป็นกลุ่มสินค้าที่เต็มไปด้วยไอเดียมากมายในการผลิต แปรรูปและส่งมอบ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ผู้บริโภคจากทุกชาติทุกภาษาบนโลกใบนี้ ล้วนชื่นชอบหลงไหลและต้องการสินค้าอาหารสดใหม่เหมือนกันหมด… ธุรกิจที่เกี่ยวกับวัตถุดิบปรุงอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ จึงใช้มิติเรื่อง “ความสดใหม่” มาทำการตลาดได้อย่างหลากหลายและเต็มไปด้วยสีสัน
กรณีศึกษาภายใต้แนวคิด Farm–To–Table ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจที่สุดในเรื่องความสดใหม่ของวัตถุดิบอาหาร เราจึงได้เห็นร้านอาหารมากมายปลูกผักโชว์ลูกค้าเรียกยอดขายกันเกลื่อน… แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สัดส่วนผู้บริโภคและผู้ประกอบการโมเดล Farm–To–Table ยังถือว่าน้อยนิดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรอีกมาก ที่ยังหาซื้อเนื้อสัตว์หรือผักสดมาปรุงอาหารกินเอง เพราะไม่ได้สะดวกจะไปกินที่ร้านทุกเวลา หรือแม้แต่ร้านอาหารและภัตตาคารส่วนใหญ่ ก็ไม่ได้จำเป็นต้องไปปลูกผักหรือเลี้ยงหมูเอง ก็ยังสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อย่างดี… ก็แค่ไม่ต้องโฆษณาเรื่องสดใหม่หรือได้ผักจากสวนตัวเองเท่านั้น
แต่ทุกคนก็ยังโหยหาความสดใหม่… ซึ่งส่วนตัวแล้วเชื่อว่า “กลยุทธ์สดใหม่” ถือเป็นกลยุทธ์ยอดฮิตตลอดกาลที่ยังใช้ได้ไปอีกแสนนานกับสินค้าหมวดอาหาร
เมื่อต้นปี 2020… crunchbase.com ซึ่งเป็นเวบไซต์ศูนย์กลางข้อมูลสตาร์ทอัพ ได้รายงานข่าวการระดมทุนใน Series E ที่ 160 ล้านดออลาร์สหรัฐของสตาร์ทอัพส่งของชำ หรือ Grocery Delivery ในเกาหลีใต้ชื่อ Market Kurly ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาการทำโมเดลสตาร์ทอัพสาย Delivery ที่สามารถเปิดประเด็นแลกเปลี่ยนผ่านแง่มุมต่างๆ ได้มากมาย
Market Kurly ได้เงินลงทุนจาก Sequoia Capital China และ Global Venture Partners ในรอบ Series D โดยมี Hillhouse Capital เป็นแกนนำการลงทุน ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019… ส่วน Series E เป็นเงินลงทุนจาก DST Global ทำให้ Market Kurly ได้เงินลงทุนทั้ง 4 รอบสะสมรวม 282 ล้านดอลลาร์สหรัฐ… และน่าจะเป็นช่วงของการ Scale เพื่อสร้างมูลค่าให้แตะพันล้านดอลลาร์เพื่อโตจาก Little Pony ไปเป็น Unicorn ก่อนการ Exit ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง… ซึ่งก็น่าจะเป็นตลาดหุ้นที่ไหนสักแห่ง
Sophie Kim หรือ โซฟี คิม ในตำแหน่ง Founder & CEO… ก่อตั้ง Market Kurly มาจากคำถามว่า “ทำไมคนเกาหลีที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่จึงไม่มีโอกาสได้รับประทานผักสดๆ จากสวนเหมือนสมัยที่เธอยังเด็ก”
การวิเคราะห์ลงลึกหลายชั้นจนได้คำตอบว่า… ไม่ใช่ว่าเกาหลีไม่มีของสด แต่เป็นระบบการกระจายอาหารในปัจจุบันออกแบบมาเพื่อการผลิตและบริโภคขนาดใหญ่ เน้นปริมาณมากกว่าความสดใหม่หรือคุณภาพมากกว่า
กรณีการวิเคราะห์หาช่องว่าง หรือทำ Gap Analysis เพื่อสร้างธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอย่างแจ่มชัดขั้นนี้ จึงนำมาซึ่งโมเดลการพัฒนาธุรกิจ “ส่งอาหารสดและของชำถึงประตูบ้านภายใน 24 ชั่วโมง” แถมยังกล้าเปิดรับออเดอร์ถึงเวลา 23:00 โดยจะได้รับสินค้าในเวลา 7:00 ด้วย
ฟังดูก็ไม่มีอะไรล้ำลึกแปลกใหม่หรอกครับ… แต่มีสองประเด็นที่ผมอยากยกมาถกกับทุกท่านตรงนี้ก็คือ… ของชำสร้างอาชีพให้คนขยันทั่วโลกมามาก และของชำหมวดอาหารสด จะยังเป็นธุรกิจสร้างเงินสร้างงานให้คนขยันไปอีกนาน… สิ่งที่ โซฟี คิม ทำก็คือ การเอาโมเดลของชำมาจัดการใหม่… และเธอเดินสายไปทั่วประเทศเพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับเครือข่ายเกษตรกรและชาวประมง โดยร่วมพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าคุณภาพสูง ออกแบบระบบโลจิสติกส์ประสิทธิภาพสูงมารองรับ เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการขนส่งให้ผิดพลาดน้อยที่สุด… และยังใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ใกล้ชิดกับ Customer Insight หรือ ความต้องการของลูกค้าอย่างแม่นยำและเป็นปัจุบัน
Market Kurly จึงสามารถออกแบบและวางแผนการจัดส่งสินค้าในช่วงเช้าตรู่ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่คับคั่ง ทุกสัปดาห์จะมีประชุมทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อระดมความคิดเกี่ยวกับสินค้าใหม่ นอกจากวัตถุดิบในการปรุงอาหารแล้ว Market Kurly จะมีอาหารพร้อมปรุงบางเมนูให้บริการด้วย
ลูกค้าของ Market Kurly ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมิลเลนเนียล… คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีค่านิยมเหมือนคนรุ่นเก่าที่ทำงานหนักเพื่อมีบ้านมีรถยนต์ แต่เป็นกลุ่มใช้ชีวิตแบบปรนเปรอตัวเองด้วยกิจกรรมที่โปรดปราน และสิ่งที่ชอบ โดยเฉพาะประสบการณ์กับอาหารเครื่องดื่มเพื่อเติมเต็มความอิ่มเอมภายใน
ประเด็นก็คือ… Market Kurly อยู่ในธุรกิจที่การแข่งขันสูงและลูกค้ามีทางเลือกมากมาย แต่การยืนหยัดในโมเดลธุรกิจที่ตั้งขึ้น เน้นจัดส่งแต่สินค้าสดใหม่และสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามากที่สุด เพื่อสร้างความไว้วางใจในระยะยาวในใจลูกค้าเท่านั้น
ข้อมูลการทำธุรกิจของ Market Kurly และ โซฟี คิม ยังมีประเด็นปลีกย่อยให้เล่าอีกมาก… แต่ผมคงไม่เจาะไปเอามาเล่าเพิ่มเติมอะไรอีก เพราะสิ่งที่ผมอยากนำเสนอก็คือ แนวทางการปั้นธุรกิจด้วยการเอารูปแบบและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาผลักดันโมเดลและกลยุทธ์ธุรกิจเก่าแก่ที่ครองโลกมานานอย่าง “ธุรกิจของชำ” จนสามารถระดมทุนได้ถึงขั้นเตรียม Exit ในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้!
ที่สำคัญก็คือ… ธุรกิจส่งอาหารสดคุณภาพดีเฉพาะคนเฉพาะครอบครัว ยังมีที่ว่างและช่องทางทำมาหากินสำหรับคนที่กำลังมองหาโมเดลธุรกิจตั้งแต่เล็กๆ ไปจนถึงใหญ่โตแบบ Market Kurly ก็ได้… ในบ้านเราผมก็ทราบว่ามีสตาร์ทอัพในแนวนี้เกิดและกำลังเติบโตอยู่เหมือนกัน… แต่อย่างที่บอก ช่องว่างยังมีอีกมาก
References…