อาหารทางการแพทย์ หรือ Medical Food เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ใช่ยา และ ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร… แต่เป็นอาหารเพื่อทำหน้าที่โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค หรือ ผู้ที่ไม่สามารถกินอาหารปกติได้อย่างเพียงพอ หรือ ร่างกายอยู่ในภาวะที่ต้องการสารอาหารเฉพาะบางอย่าง หรือ ต้องหลีกเลี่ยงสารอาหารบางอย่าง
รายงานการวิจัยทางการตลาดจาก Market Data Forecast ชี้ว่า… ขนาดตลาดอาหารทางการแพทย์ทั่วโลกมีมูลค่า 19,560 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 26,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2026 โดยพบแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นจากหลายปัจจัย
รศ.ดร.ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า… ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารทางการแพทย์ แม้ตลาดไม่ใหญ่แต่มีความสำคัญ อาหารทางการแพทย์ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะนำเข้า หรือ ร่วมทุนกับต่างประเทศ… ในขณะที่อาหารทางการแพทย์สำหรับบางกลุ่ม ถึงแม้ว่าจะสามารถนำเข้ามาได้ แต่ราคาค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเข้าถึง
โดยเฉพาะในกลุ่มโรคหายาก ซึ่งมีชนิดของโรคค่อนข้างมาก แต่จำนวนผู้ป่วยน้อย บางชนิดพบ 1 ต่อ 10,000 แม้บางโรครักษาได้จากยา หรือ รักษาได้ตั้งแต่แรกคลอด แต่บางโรคต้องพึ่งอาหาร เช่น กลุ่มที่มีปัญหาในการย่อยสลายโปรตีน ทำให้เกิดการคั่งค้างสารบางตัว มีผลต่อพัฒนาการในการเติบโต ต้องการอาหารที่กำจัดกรดอะมิโนบางตัวออก ร่วมกับการใช้อาหารทางการแพทย์ และ อาหารอื่นๆ จากจำนวนผู้ป่วยที่น้อย จึงไม่มีมูลค่าตลาดที่สูงพอในการนำเข้าและผลิต หรือ อาจมีการนำเข้าแต่ราคาสูงมากๆ
ประเด็นก็คือ การพัฒนาของประเทศซึ่งมุ่งสู่การเป็น Medical Hub โดยภาพรวมนอกจากยา และ แพทย์แล้ว อาหารทางการแพทย์ก็มีความสำคัญเช่นกัน… ที่ผ่านมา แม้จะมีการวิจัยพัฒนาบ้างในภาครัฐ และ ในมหาวิทยาลัยบางส่วน แต่ก็ยังถือว่าน้อย และ ยังขาดจุดเชื่อม… เพราะการทดสอบในห้องปฏิบัติการไม่ทราบได้ว่ากระบวนการผลิตจริงจะมีปัญหา หรือ มีการเปลี่ยนแปลงระหว่างการแปรรูปหรือไม่
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงริเริ่มตั้ง และ ให้บริการโรงงานผลิตอาหารทางการแพทย์และอาหารเพื่อสุขภาพด้วยระบบปลอดเชื้อ มาตรฐาน GMP หรือ Good Manufacturing Practice พร้อมทั้งผลิตด้วยระบบฆ่าเชื้อยูเอชที และ บรรจุอัตโนมัติ กำลังการผลิตราว 2–100 ลิตรต่อชั่วโมง สามารถยืดหยุ่นกำลังการผลิตตามออเดอร์… คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ภายในต้นปี พ.ศ. 2565
SMEs หรือ องค์กรที่ต้องการผลิตอาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะเพื่อใช้ในปริมาณจำกัด หรือ ต้องการพัฒนาสูตรอาหารทางการแพทย์ เพื่อขยายเป็นอุตสาหกรรมสนองตลาดในประเทศ และ ส่งออกต่างประเทศ… ติดต่อพูดคุยจองคิวกับอาจารย์ชลัท ศานติวรางคณา หรือ ทีมงานของอาจารย์ไว้แต่เนินๆ ได้เลย
ส่วนท่านที่รีบร้อน และ มีสูตรอาหารอยู่แล้ว หรือ สนใจธุรกิจอาหารทางการแพทย์… ต้องการผลิต หรือ ต้องการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ… ทักผมทางไลน์ ID: dr.thum เข้ามาก็ได้ครับ ส่วนตัวแล้วพอจะมีโรงงานและเครือข่ายด้านอุตสาหกรรมอาหารอยู่พอสมควร
References…