Meme Marketing… กลยุทธ์ทางการตลาดด้วยมีม #SaturdayStrategy

โซเชี่ยลอินเตอร์เน็ตซึ่งได้สร้าง “สังคมแชร์ไว และ แชร์วน” ให้คนส่วนใหญ่ได้ยิน ได้เห็น และ ได้มีข้อมูลข่าวสารจากอินเตอร์เน็ตเป็นประสบการณ์ร่วมกับคนอื่นๆ ได้ง่าย เร็ว และ หลายครั้งทรงพลังถึงขั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างได้ด้วยข้อความเพียงสั้นๆ หรือ ภาพเพียงหนึ่งภาพ หรือไม่ก็เป็นคลิปเพียงไม่กี่วินาที… ซึ่งข้อความ หรือ สารที่ถูกดัดแปลงขึ้นเพื่อให้สังคมออนไลน์สามารถ “แชร์ง่าย และ เสพไว” ในปัจจุบันมีอยู่หลายรูปแบบ แต่ที่น่าสนใจ และ เป็นที่นิยมในระดับสากลจริงๆ ก็คงมีเพียงสารที่อยู่ในรูปแบบของโปสเตอร์ดิจิทัล และ อิเลคทรอนิคส์การ์ด หรือ E-Card โดยมีการ์ดที่จงใจใช้ “มุขตลก” ออกแบบขึ้นด้วยแนวคิด MEME หรือ มีม… ถูกแชร์เยอะและได้รับความนิยมอย่างมาก

มีมเป็นงานศิลปะดิจิทัลเชิงล้อเลียน เสียดสี และ เน้นตลกขบขันโดยใช้ภาพ ข้อความ หรือ แอนิเมชั่นขนาดสั้นในการสื่อแนวคิด หรือ ไอเดียผ่านภาษาสัญลักษณ์… ซึ่งผู้รับสารจะตีความด้วยพื้นความรู้และประสบการณ์ร่วมเหมือนๆ กัน หรือ ใกล้เคียงกันในขั้นสามารถ “รับมุข หรือ เข้าใจสาร” ที่ถูกฝังมาในมีมจนเกิดอารมณ์ร่วมในแนวทางที่ “สารบนมีม” ต้องการ… ต้องการให้ขำขัน คนเห็นก็ต้องหัวเราะ… ต้องการให้โกรธ คนเห็นก็ต้องหลุดคำหยาบตามไป หรือ ต้องการให้ฉุกคิด คนเห็นก็ต้องอึ้งและเออใช่ไปด้วย…

Bitcoin Meme ที่มีคนส่งต่อมากที่สุดชิ้นหนึ่ง

DogeCoin Meme ที่แชร์กันทั่วอินเตอร์เน็ต และ ดันราคา DogeCoin จากต่ำเซนต์จนเกือบแตะหนึ่งดอลลาร์ในปี 2020

Credit: imgflip.com

MEME หรือ มีม เป็นแนวคิดที่ปรากฏอย่างจริงจังในหนังสื่อชื่อ The Selfish Gene ของ Richard Dawkins ซึ่งวางตลาดในปี 1976… โดยทฤษฎีมีม หรือ Meme Theory ถูกพัฒนาขึ้นเพื่ออภิปราย หรือ Explain หลักการแพร่ความคิดและค่านิยมทางสังคม… ซึ่ง Dr.Richard Dawkins เป็นนักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการชาวอังกฤษผู้มีผลงานมากมายอันเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ไม่ต่างจากผลงานของ Sir Charles Robert Darwin เพียงแต่แนวคิดมีมเคยถูกใช้มาก่อนในหนังสือของ Richard Semon ชื่อ Die Mneme หรือ The Mneme ในปี 1904… และ มีปรากฏคำว่า Mneme ในหนังสือชื่อ The Life of the White Ant ของ Maurice Maeterlinck ในปี 1926 ด้วย… และ Richard Dawkins ก็ไม่เคยอวดอ้างว่าตนเป็นคนใช้คำว่า Meme เป็นคนแรก

MEME เป็นคำที่ถูกย่อมาจากคำว่า Mimeme ซึ่งมาจากภาษากรีกโบราณคำว่า mīmēma หรือ มิมีมา อันหมายถึงสิ่งที่เลียนแบบ ซึ่งนักชีวิวิทยาใช้เพื่อเรียกกลไกการจำลองยีนต้นแบบโดยยีนเกิดใหม่… การใช้คำว่า Meme ในทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ซึ่งเติบโตอย่างน่าสนใจในยุคโซเชี่ยลอินเตอร์เน็ต จึงมีความนัยที่แฝงการ “ลอกเลียนแนวคิด” ผ่านสารที่ฝังมากับมีมจนเกิดการแพร่ความคิด และ ค่านิยมทางสังคมที่ส่งต่อๆ กันไปไม่ต่างจากการมีมยีนในชีววิทยา… เพียงแต่เปลี่ยนจากยีนมาเป็นสมองและสติปัญญาที่เลียนวิธีคิดเดียวกันสะสมเป็นประสบการณ์เดียวกัน

ประเด็นก็คือ… อะไรก็ตามที่ผ่านสมอง และ ถูกสมองบันทึกเป็นประสบการณ์ สิ่งนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความคิดจิตใจ และ บุคลิกภาพของคนๆ นั้นไม่มากก็น้อย… การผลิตมีมในยุคโซเชี่ยลอินเตอร์เน็ตหลายกรณีจึงไปไกลกว่าวัฒนธรรมขบขัน–แดกดัน–เสียดสี อย่างน่าสนใจ… เพราะมีมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางกลยุทธ์ได้ดีไม่ต่างจากโปสเตอร์เด็ดๆ เพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของนักการตลาด

Taaran Chanana ผู้ร่วมก่อตั้ง MemeChat ซึ่งเป็นแอพสำหรับชุมชนที่ตั้งขึ้นเพื่อคนชอบมีมทั้งศิลปินมีม และ คนเสพมีม โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ลงทะเบียนมากกว่า 4 ล้านบัญชี ในขณะที่ยอดดาวน์โหลดแอพเข้าใกล้ 5 ครั้งไปแล้ว

Taaran Chanana อธิบายว่า… มีมเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ง่าย คมชัด สะดวก และ เหนือสิ่งอื่นใดคือเต็มไปด้วยอารมณ์ขันซึ่งมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายได้เร็ว หรือ ไวรัลได้ง่าย และ คืนผลตอบแทนทางธุรกิจและการตลาดได้เร็วกว่า จนกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงพลัง ที่กลุ่มเป้าหมายมักจะถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมผ่านประสบการณ์ร่วมที่พวกเขามีได้ง่ายกว่าเทคนิคอื่น

แน่นอนว่า… มีมในฐานะเครื่องมือทางการตลาด หรือ เครื่องมือทางกลยุทธ์ที่หวังผลอย่างแท้จริงจำเป็นจะต้องคิด และ ออกแบบอย่างดีไม่ต่างจากการออกแบบกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ที่ดี… โดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่น่าสนใจไม่ต่างจากคลิปสั้นแบบ TikTok ในขณะที่ Meme Card ทำง่ายกว่า และ ได้ Feedback เร็วกว่า และที่สำคัญคือผิดพลาดเพื่อเรียนรู้ได้ไม่จำกัด… แต่ก็ต้องระมัดระวังเมื่อจะโยงถึงแบรนด์ และ กลยุทธ์หลัก

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts