รถเบนซ์ระหัสตัวถัง W124 เป็นรถขนาดกลางที่ Mercedes-Benz จัดไว้ในรุ่น E-Class ที่มีข้อมูลว่าเริ่มผลิตออกจำหน่ายตั้งแต่ พฤษจิกายน 1984 ถึงสิงหาคม 1995 โดยมีจำนวนที่ผลิตขึ้นทั้งหมด 2,562,143 คันทั่วโลก มีแบบรถยนต์ทั้งแบบ 2 ประตู, 4 ประตู, 5 ประตูหรือแบบแวน และมี 6 ประตูแบบลีมูซีนด้วย ส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้มีทั้งเบนซินและดีเซลขนาด 4 สูบ, 6 สูบ และ 8 สูบด้วย

ในบ้านเรา Mercedes-Benz W124 มีชื่อเรียกเฉพาะว่าเบนซ์ท้ายโลงจำปา ที่ยังมีวิ่งอยู่บนถนนหนาตาไม่น้อยทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด รถส่วนหนึ่งถูกดัดแปลงเครื่องยนต์และชิ้นส่วนตัวถังไปตามกาลเวลา… หลายอย่างที่เจ้าของรถรุ่นนี้ส่วนใหญ่ ค่อนข้างจะมีประสบการณ์ที่ดีกับ Mercedes-Benz W124 ที่หลายท่าน… มีเรื่องเล่าและประสบการณ์ร่วมมากมาย จนทำให้ Mercedes-Benz รุ่นต่อๆ มากลายเป็นแบรนด์รถยนต์อันดับหนึ่งในเมืองไทยมายาวนานจนปัจจุบัน
ข้อมูลจากเวบไซต์ Headlightmag.com เจ้าของ Headlight Magazine บันทึกเอาไว้ว่า Mercedes-Benz W124 เข้าตลาดในไทยปี 1987 โดยเริ่มต้นกับตัวถัง Code A แบบ 230E เกียร์ธรรมดา และ 300E เกียร์อัตโนมัติ… จนกระทั่งปี 1990 ก็ได้รับการไมเนอร์เชนจ์เพิ่มกาบข้าง และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดภายในนิดหน่อยไปตามรถรุ่นอื่นในตลาดโลก
ปี 1992 ประเทศไทยก็มีรถเครื่องหัวฉีดมัลติวาล์ว ระหัสเครื่องยนต์ M111 อันลือลั่น โดยเปิดตัวรุ่น 220E และ ระหัสเครื่องยนต์ M114 รุ่น 280E ออกมา สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่งก็คือ รถมัลติวาล์วล็อตนี้ในตลาดโลกจะให้ล้ออัลลอยลาย 15 รู แบบเดียวกับที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1987 และจะมีล้ออัลลอย 8 รู เป็นของสั่งพิเศษ แม้ว่าจะมีขนาด 15 นิ้วเท่ากัน แต่สำหรับเมืองไทย กลับพบว่า… รถที่ออกมาวิ่งกันนั้นจะเป็นล้ออัลลอยแบบ 8 รูเป็นส่วนใหญ่ นอกจากเครื่องยนต์ใหม่แล้ว รถสเป็คประเทศไทยก็ยังได้กระจกมองข้างแบบปรับไฟฟ้าทั้งซ้ายขวา มาแทนที่แบบเดิมที่ด้านผู้โดยสารจะปรับด้วยไฟฟ้า แต่ด้านคนขับ ต้องให้ยื่นมือไปปรับเอง
ช่วงปี 1993 เมื่อเยอรมันเปิดตัวรุ่นไมเนอร์เชนจ์ ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเปิดเสรีนำเข้ารถยนต์ทั้งคันหรือ CBU อันเป็นผลมาจากนโยบายการลดภาษีรถนำเข้าของรัฐบาล ทำให้มีผู้นำเข้าอิสระหลายรายเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและ E220 Facelift จึงถูกนำเข้าโดยผู้นำเข้าอิสระ พร้อมกับตลาดรถ CBU ที่ทำให้สีสันในถนนเมืองไทยมีรถเกือบทุกรุ่นทุกยี่ห้อที่มีพวงมาลัยข้างขวาวางขาย
Mercedes-Benz W124 E220 และ E280 ซึ่งใช้ระหัสตัวถังเป็น Code C ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีอันจะกินในยุคกลาง 1990 จนแบรนด์รถยนต์พรีเมี่ยมและรถยุโรปด้วยกันทุกแบรนด์ แทบจะล้มหายตายจากไปจากถนนเมืองไทย
หลายท่านที่ผมรู้จัก เป็นเจ้าของ W124 ที่ยังใช้งานได้อยู่แม้สภาพจะไม่ได้สมบูรณ์มากมาย ทั้งจากการซ่อมบำรุงผิดวิธี อะหลั่ยไม่ได้มาตรฐาน และตัวเครื่องยนต์ก่อนจะเป็นหัวฉีดอิเลคทรอนิคส์ เครื่องบางบล๊อคได้ชื่อว่าเป็นรุ่นปราบเสี่ยทีเดียว… W124 ยังมีคลับคนรักเบนซ์โรงจำปาที่มีสมาชิกอยู่ไม่น้อย รวมทั้งอะหลั่ยที่ยังหาได้ทุกชิ้นทั้งอะหลั่ยแท้เบิกใหม่และอะหลั่ยเก่าจากญี่ปุ่น รวมทั้งอะหลั่ยเทียบจากไต้หวัน

Mercedes-Benz W124 Coupé แบบสองประตู กลายเป็นรถสะสมที่ราคารถเริ่มกลับตัวแพงขึ้นช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ในขณะที่ตัว Convertible หลังคาอ่อนที่มีอยู่ในบ้านเราไม่กี่คัน ราคามาหยุดอยู่ที่ 1.9 ล้านบาทแล้วก็หายไปจากตลาดเมืองไทย ในขณะที่ W124 500E และ E500 ก็กลายเป็นรถหายากทั่วโลกที่นักสะสมมองหาเช่นกัน…
สุขสันต์วันอาทิตย์ครับ!
อ้างอิง