ผมยังอยู่กับหนังสือชื่อ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development… Eighth Edition ของ Malcolm S. Knowles, Elwood F. Holton III และ Richard A. Swanson… ตอนนี้ถือเป็นตอนที่ 6 ก็ได้ครับ ซึ่งผมทำบทความเป็นซีรีย์ต่อกันมา เพื่อเพิ่มเติมเอกสารอ้างอิงเบื้องต้นอีกชุดหนึ่ง สำหรับท่านที่กำลังจะเดินหน้ากับ eLearning ซึ่งหลายท่านยังคงติดอยู่กับแนวทางการสอนบนหลักการเดิมอย่าง Pedagogy หรือสอนแบบครูหรือหลักสูตรเป็นศูนย์กลางอยู่… ซึ่งหลายสถาบันกำลังติดกับดักจนพบว่า eLearning ไม่ได้ดีงามเป็นความหวังอย่างที่คิด
โดยลืมดูว่า ท่านกำลังเอาดีเซลไปเติมเครื่องบินเจทอยู่ครับ… ถ้าหวังว่ามันจะสตาร์ทติดและขึ้นบินด้วยน้ำมันอะไรก็ได้ คงเข้าใจผิดไปไกลทีเดียว เว้นแต่จงใจจะให้เครื่องบินเจทน๊อคตั้งแต่เริ่มสตาร์ท!!!…
ผมจึงงัดเอาหนังสือที่ผมสะสมไว้ส่วนตัว มาแกะเนื้อหาบางส่วน ออกมา Update กับข้อมูลล่าสุด บวกกับประสบการณ์ส่วนตัวและคำแนะนำจากหลายๆ ท่าน ที่ผมพึ่งพาทั้งภูมิรู้และทรัพยากรมานาน
หนังสือ The Adult Learner ในบทที่ 12 เป็นประเด็นทางประสาทวิทยา หรือ Neuroscience ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนแนวทางการศึกษาตามหลักการ Andragogy หรือ หลักการจัดการศึกษาในผู้ใหญ่ และ บทความตอนนี้เป็นประเด็นเดียวกันต่อจาก Neuroscience and Andragogy… วิทยาการด้านสมองและสติปัญญากับการรู้เรียนของสมอง ซึ่งจำเป็นต้องอ่านก่อนเพราะเนื้อหาต่อเนื่องกันอย่างสำคัญ
หนังสือ The Adult Learner พูดถึงการค้นคว้าขั้น Meta-Findings หรือ การค้นพบแก่นข้อมูลแม่บทสำคัญจากการศึกษาค้นคว้าเชิงลึกทาง Neuroscience ที่เกี่ยวพันการเรียนรู้และศักยภาพของสมอง หรือพลังของสมองที่สามารถ “เรียนรู้ จดจำ นำไปใช้” ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย
Meta-finding 1: Adults can learn throughout life หรือ ผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
Andragogy มีพื้นฐานจากความเชื่อที่ว่า ผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ต่อไปได้ตลอดชีวิตหากประสบการณ์การเรียนรู้อำนวยความสะดวกในลักษณะที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่… โดยธรรมชาติของสมองจะยืดยุ่นปรับเปลี่ยนเรียนรู้ตลอดเวลาอยู่แล้วจนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Neuroplasticity หรือ Brain Plasticity หรือปรากฏการณ์หล่อหลอมได้ไม่สิ้นสุดของสมอง ทำให้คำกล่าวของ Usha Goswami เจ้าของหนังสือชื่อ Cognitive Development: The Learning Brain ที่บอกว่า “It is never too late to learn. หรือ ไม่มีสายเกินไปที่จะเรียนรู้”
ด้วยประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่แต่ละครั้ง เซลล์ประสาทในสมองสามารถจัดเรียงตัวเองใหม่ได้ เรียกได้ว่า Neural Networks หรือ โครงข่ายประสาทสามารถกำหนดค่าของ Neurons หรือเซลล์สมองได้ทุกครั้งที่มีการเรียนรู้ใหม่ ซึ่งประสบการณ์ใหม่แต่ละคราว ก็ส่งผลต่อการตั้งค่าเซลล์สมองใหม่ได้เรื่อยๆ… David A. Sousa ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการทางการศึกษายืนยันว่า สมองมีความสามารถในการสร้างโครงข่ายประสาท หรือ Neural Networks ใหม่ตลอดชีวิต กลายเป็นสัจธรรมไปเลย
Meta-finding 2: Emotions play a critical role in learning หรือ อารมณ์มีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้
หลักการ Andragogy ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงมาอย่างยาวนานในแง่การสร้าง “อารมณ์เชิงบวก” ระหว่างการเรียนรู้บน “สภาพแวดล้อมแบบผู้ใหญ่” ที่สร้างขึ้น ทำให้เกิดแรงดึงดูดจูงใจเรียนรู้ และยังทำให้ง่ายต่อการเรียนรู้อีกด้วย
ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า “อารมณ์เชิงบวก” ในระหว่างการเรียนรู้ ทำให้เกิดการปลดปล่อยสารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitters ซึ่งช่วยในการประมวลผลข้อมูล… ในขณะที่ “อารมณ์เชิงลบ” ก็ส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยสารสื่อประสาทที่ปิดกั้นการเรียนรู้ใหม่… อารมณ์เชิงบวกอันทรงพลังระหว่างมีประสบการณ์เรียนรู้ จะช่วยสร้างความจำระยะยาว ในขณะที่อารมณ์เชิงลบขั้นวิกฤตจะปิดกั้นการจดจำในระยะยาวเช่นกัน… แต่แง่มุมอื่นเกี่ยวกับอารมณ์มีอยู่ว่า
- Good Stress หรือความเครียดที่ดี เช่นการจดจ่อตั้งใจช่วยเรื่องการเรียนรู้ ในขณะที่ Bad Stress หรือความเครียดที่แย่ เช่นวิตกกังวลกลัดกลุ้มจะปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ ซึ่ง Tracey Tokuhama-Espinosa เจ้าของแนวคิด Mind Brain Education Science หรือ MBE อธิบายเรื่อง Bad Stress มีความสำคัญกับภาวะปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่ที่ต้องระมัดระวัง
- Tracey Tokuhama-Espinosa อธิบายเพิ่มเติมว่า Dopamine หรือสารแห่งความสุข เป็นหนึ่งใน 4 สารที่ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitter จะถูกปลดปล่อยเมื่อมีข้อมูลใหม่ใส่เข้าไปในสมอง
- ในระหว่างการเรียนรู้อย่างตึงเครียด หรือ Stressful Learning … Adrenaline หรืออะดรีนาลีนจะถูกปลดปล่อยท้าทายให้ Amygdala ซึ่งเป็นอวัยวะที่ควบคุมความทรงจำและการตอบสนองต่อการได้รับรางวัลและการถูกลงโทษ “ดูดซับหรือผลักดัน” ข้อมูลใหม่ที่เข้ามา
Andragogy จึงเป็นหนทางในการสร้างสถานะ “อารมณ์เชิงบวก” ให้ผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ โดยจัดการสร้างความพึงใจแบบผู้ใหญ่ ที่ต้องหลีกเลี่ยงวิธี “การเรียนดั้งเดิม หรือ Traditional Learning” ซึ่งผู้ใหญ่ทั้งหมดล้วนสะสมประสบการณ์เชิงลบ จนมีแนวโน้มที่จะ “เกิดอารมณ์เครียดเชิงลบ” และปิดกั้นการเรียนรู้โดยปริยาย
พลังของ Andragogy เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ จะเห็นได้ชัดเมื่อส่องผ่านมุมมองด้านประสาทวิทยา หรือ Neuroscientific และโฟกัสอยู่กับแนวทางการกระตุ้น “สารสื่อประสาทที่ดี” อย่าง Dopamine และ Adrenaline ซึ่งมีเป้าหมายที่ต้องทำให้เกิดภาวะ “More than just a feel good approach to learning หรือ นำเข้าสู่การเรียนรู้ถึงขั้นรู้สึกดีเกินบรรยาย” ให้ได้
Meta-finding 3: Learning occurs by connecting new knowledge to existing knowledge หรือ การเรียนรู้เกิดขึ้นโดยเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมที่มีอยู่
นักการศึกษาที่เชี่ยวชาญ Andragogy จะเข้าใจเรื่องบทบาทความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน และใช้ประสบการณ์เดิมเหล่านั้นของผู้เรียนเป็นเครื่องมือสำคัญในการโน้มน้าว เข้าถึงอย่างมีความหมายกับผู้เรียน… ซึ่งนักประสาทวิทยาทั้งหมดล้วนยืนยันตรงกันว่า ส่วนที่ยอดเยี่ยมที่สุดของการเรียนรู้และจดจำของสมองก็คือ “การค้นลิ้นชักเก่า” เอาข้อมูลเดิมที่จดจำและมีประสบการณ์อยู่ก่อนมา “เปรียบเทียบ ประเมิน ต่อเติมและตัดต่อ” ซึ่งพฤติกรรมสมองแบบนั้นทำให้สารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitter วิ่งไต่ไปทั่วโครงข่ายเซลล์สมอง หรือ Neurons Network เป็นวงกว้าง จึงเกิดการเรียนรู้จดจำและเข้าใจข้อมูลใหม่และข้อมูลเดิมยิ่งกว่าเดิม
ประเด็นก็คือ… กรณีนี้อธิบายเรื่องการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโดยปริยายหรือเปลี่ยนทั้งสิ้นเหมือนสมองเปล่าๆ ของทารกจึงเป็นเรื่องยากมาตลอด… ในขณะที่การเปลี่ยนแบบเรียนรู้เพิ่ม “ให้ของเดิมได้ใช้ ให้ของใหม่เติมเต็มพอกพูน” จึงท้าทายให้สมองนำเซลล์สมอง หรือ Neurons ว่างๆ อีกมากมายมาสะสมจดจำประสบการณ์ที่สามารถเรียนรู้ได้เรื่อยไปชั่วชีวิต
