บทความเรื่อง MICROPLASTICS FOUND IN FRUIT AND VEG จากเวบไซต์ plasticsoupfoundation.org พูดถึงงานวิจัยหัวข้อ Micro- and nano-plastics in edible fruit and vegetables. The first diet risks assessment for the general population โดย Dr. Gea Oliveri Conti และคณะ จาก University of Catania ในแคว้นซิซิลีได้พูดถึง ไมโครพลาสติกสะสมในผักและผลไม้ทั่วไป
งานวิจัยชิ้นนี้ ถูกตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสาร Environmental Research โดยระบุว่า พบไมโครพลาสติกอยู่ในผักผลไม้ต่างๆ เช่น ผักรับประทานใบ ประเภทผักกาดหอม บรอกโคลี มันฝรั่ง และลูกแพร์ แต่พืชที่พบอนุภาคพลาสติกสะสมอยู่ในระดับสูงที่สุดได้แก่ แอปเปิล และ แครอท
การศึกษาที่มาของไมโครพลาสติกในผักผลไม้อ้างอิงงานศึกษาค้นคว้าชุดนี้ระบุว่า… ไมโครพลาสติกที่อยู่ในมหาสมุทรได้เกิดกระบวนการระเหยไปกับไอน้ำ และจับตัวอยู่ในเมฆ จนตกกลับสู่พื้นโลกโดยปนเปื้อนอยู่ในน้ำฝน แล้วพืชได้ดูดซับเอาไมโครพลาสติกเข้าไปทางราก… ซึ่งทีมวิจัยเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า หยาดน้ำฟ้า หรือ Precipitation

ซึ่งทีมนักวิจัยพบว่า… ผลไม้มีระดับไมโครพลาสติกสะสมอยู่มากกว่าผัก เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นที่มีรากใหญ่หยั่งลงดินลึกกว่าผัก
เวบไซต์ bbc.co.th ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ในจีนและเนเธอร์แลนด์ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Sustainability ก็พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่า… รากของผักกาดและข้าวสาลีสามารถดูดซับไมโครพลาสติกได้ แล้วส่งอนุภาคพลาสติกไปยังส่วนที่กินได้ซึ่งอยู่เหนือพื้นดิน
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยระบุว่า ระดับของไมโครพลาสติกที่พบสะสมอยู่ในผักและผลไม้นั้น ยังมีปริมาณน้อยกว่าไมโครพลาสติกที่พบในน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกอยู่
คำถามคือ… ไมโครพลาสติกคืออะไร?
ไมโครพลาสติก เป็นอนุภาคขนาดจิ๋วของพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ถึง 5 มิลลิเมตรไมโครพลาสติก เกิดจากพลาสติกชิ้นใหญ่กว่าที่สลายตัวออกจากกัน เช่น ขวดพลาสติก ถุงและภาชนะพลาสติกที่สลายตัวในดินหรือทะเล แล้วก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
Maria Westerbos ผู้ก่อตั้งกลุ่มรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ชื่อ Plastic Soup Foundation กล่าวว่า “เราทราบกันมาหลายปีแล้วเรื่องการพบพลาสติกในสัตว์น้ำเปลือกแข็งและปลา แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ได้ทราบว่าพลาสติกเข้าไปสะสมอยู่ในผัก… ถ้ามันเข้าไปสะสมอยู่ในพืชผักต่างๆ ได้ ก็เท่ากับว่ามันจะเข้าสู่สิ่งมีชีวิตทุกอย่างที่กินพืช ซึ่งหมายถึงเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมต่างๆ ด้วย… สิ่งที่เราต้องค้นหาคือ มันจะส่งผลต่อพวกเราอย่างไร”
ปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัดว่า การบริโภคไมโครพลาสติกเข้าไปจะส่งผลอย่างไรต่อสุขภาพของคนเรา แต่หลายฝ่ายชี้ว่าข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้เป็นเรื่องที่ “น่ากังวล”
อ้างอิง