Strategic Planing

Mintzberg’s 5Ps of Strategy… พื้นฐานกลยุทธ์ 5Ps

ในการพัฒนาธุรกิจ การหาทางทำให้ธุรกิจดีขึ้นเรื่อยๆ คืองานและหน้าที่ของคนบริหารกิจการ ไม่ว่าจะเล็กใหญ่ ล้วนมีปัญหาผ่านเข้ามาท้าทายการจัดการเสมอ โดยเฉพาะปัญหาที่เห็นชัดเจนหรือท้าทายอยู่กับเป้าหมายปลายทางที่เรียกว่า “ความสำเร็จ” ขั้นต่อไป

คนทำธุรกิจและคนบริหารธุรกิจจึงต้องหารูปแบบการจัดการปัญหาเป็นชุด รวมทั้งเทคนิคการเอาชนะความท้าทายเต็มรูปแบบ เพื่อไปถึงความสำเร็จลำดับถัดไป ซึ่งหลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า “กลยุทธ์” กันมาบ้าง

คำว่ากลยุทธ์สำหรับบางกรณี จึงฟังดูมีอะไรซับซ้อนอันเป็นผลมาจาก… กลยุทธ์เป็นวิธีแก้ปัญหาหลายปัญหาอยู่ในชุดความคิดคราวเดียวกัน และกลยุทธ์ยังรวมวิธีเอาชนะความท้าทายที่ซับซ้อนและอ่อนไหวหลายอย่างเอาไว้ด้วย

ประเด็นก็คือ กลยุทธ์จะถูกกำหนดภายใต้ฉากทัศน์ หรือ Scenario ชุดหนึ่ง ที่มองเห็นปัจจัยและตัวแปรตาม Scenario นั้นอย่างสมบูรณ์ที่สุด… เมื่อถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แผนกลยุทธ์ที่ถูกคิดและเตรียมไว้อย่างดี ส่วนใหญ่ จึงมีเรื่องเซอร์ไพรส์หรือเรื่องประหลาดใจให้เจอน้อยมาก… ในขณะที่แผนกลยุทธ์หรือแผนรับมือปัญหาซับซ้อนอ่อนไหว หรือแผนเอาชนะความท้าทายที่กำหนดด้วย “ฉากทัศน์ที่บกพร่อง” ก็จะมีเรื่องเซอร์ไพรส์เหมือนเข้าบ้านผีสิงบนรถไฟเหาะตีลังกาในความมืดตอนอาหารเป็นพิษก็มี

กลยุทธ์จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและอ่อนไหว กลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลในวันนี้ อาจใช้อะไรไม่ได้เลยเมื่อเวลาผ่านไป ความสำเร็จของกลยุทธ์ทางธุรกิจ นอกจากจะขึ้นกับการวางแผนและการปฏิบัติแล้ว ยังขึ้นอยู่กับภาวะทางการตลาดและการเปลี่ยนแปลงนอกเหนือจากฉากทัศน์ที่ตระเตรียมไว้มากมายเกินควบคุมก็มีเสมอ

Henry Mintzberg อาจารย์จากวิทยาลัยการจัดการ McGill University ในมอลทรีออล ประเทศแคนนาดา ได้พัฒนาเครื่องมือช่วยพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจขึ้นในปี 1987 ซึ่งรู้จักกันดีในแวดวงที่ปรึกษาธุรกิจและการจัดการ รวมทั้งนักธุรกิจหรือนักบริหารธุรกิจที่ชื่นชอบการขับเคลื่อนกิจการ ด้วยแผนงานและแผนกลยุทธ์ที่สื่อสารกับ Stakeholder แบบไม่ได้คิดเงียบเพียงลำพัง

เครื่องมือพัฒนากลยุทธ์ของ Henry Mintzberg มีชื่อว่า Mintzberg’s 5Ps of Strategy ประกอบด้วย…

1. Plan หรือแผน

แผนถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่สำคัญ ที่หลายครั้งเป็นผลผลิตของกลยุทธ์ที่ถูกออกแบบไว้เพื่อบรรลุเป้าหมายในสถานการณ์ต่างๆ และมีคุณสมบัติที่สำคัญสองประการคือ… ต้องจัดทำไว้ล่วงหน้าก่อนการปฏิบัติ และสร้างขึ้นมาด้วยข้อมูลที่รอบคอบและมีจุดมุ่งหมายชัดเจน ส่วนการดำเนินการตามแผนของผู้ที่เกี่ยวข้องในทางปฏิบัติ ต้องเคร่งครัดตามแผนจนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแผนเป็นอย่างอื่น เพราะแผนจะช่วยสร้างความชัดเจนเรื่องภารกิจที่จะทำ ผู้รับผิดชอบและลำดับขั้นตอนการปฏิบัติจนสำเร็จตามแผน

สิ่งที่ควรระวังก็คือ… ในกลยุทธ์เป้าหมายหนึ่งๆ อาจมีแผนมากกว่าหนึ่งแผนให้ทำ การออกแบบแผนเชิงกลยุทธ์ จึงต้องสร้างโดยคำนึงถึงแผนทั้งหมดที่ผลักดันเป้าหมายร่วมกันด้วย

2. Ploy หรือลูกเล่น

กลยุทธ์ที่ดีจะมีเรื่องชิงไหวชิงพริบ และกลเม็ดเด็ดพรายในการนำแผนมาปฏิบัติเพื่อผลักดันเป้าหมาย หลักสำคัญของแผนและกลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะมีนัยยะของ “การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี” เกิดขึ้น และวิธีที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยแนวทางที่ “พลิกผันตามต้องการ” ถือว่าเป็นกลยุทธ์และแผนกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนด้วย Ploy ได้ดี ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ส่วนใหญ่ จะหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายที่ใช้ความพยายามน้อยกว่า ซึ่งวิธีผลักดันกลยุทธ์และสร้างแผนด้วย Ploy ที่นิยมกันมากที่สุดก็คือ การสร้างแต้มต่อให้ความสำเร็จ รวมทั้งการสร้างข้อได้เปรียบยิ่งยวดเหนือคู่แข่ง หากเป้าหมายมีการแข่งขันอยู่ด้วย

3. Pattern หรือรูปแบบ

ในการประเมินข้อมูลระหว่างพัฒนาแผนตามเป้าหมาย ที่ถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และวางแนวทางความสำเร็จเป็นกลยุทธ์เอาไว้แล้วนั้น ฉากทัศน์หรือ Scenario หลายกรณีจะมีรูปแบบหรือ Pattern ให้ประเมินได้อย่างแม่นยำอยู่ก่อน ทำให้เราสามารถออกแบบเทคนิควิธีการต่างๆ ได้ไม่ยาก ซึ่ง Pattern ที่ผ่านการพิจารณารายละเอียดอย่างรอบครอบ และวางแนวทางเป็นแผนไว้อย่างดีแล้ว จะสามารถลดอุปสรรคในการเข้าถึงเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งการนำแผนไปดำเนินการได้ราบรื่น 

โดยทั่วไป… Pattern ของแต่ละ Scenario จะได้จาก แผนและกลยุทธ์ที่จะนำไปใช้ หรือ Intended Strategy ทางหนึ่ง… อีกทางหนึ่งจะได้จากกลยุทธ์เดิมที่เคยใช้มาก่อนแล้ว หรือ Realized Strategy ซึ่งมี Pattern สำเร็จและล้มเหลวให้เรียนรู้มาแล้ว… นักธุรกิจส่วนใหญ่จึงกระตือรือร้นเรียนรู้ Pattern จากความสำเร็จล้มเหลวของกรณีศึกษาและคนดังมากมายที่สนใจ

4. Position หรือจุดยืน

มุมมองของการวางแผนและการพัฒนากลยุทธ์ส่วนใหญ่ จะมีการตีความเรื่อง Position หรือจุดยืนแตกต่างกันบ้าง… โดยส่วนตัวผมชอบแนวคิดการกำหนดจุดยืนด้วยเป้าหมาย มากกว่าแนวคิดจุดยืนในสถานะปัจจุบัน แต่แนวทางทั้งสองแม้จะให้สถานะ หรือจุดยืน หรือ Position คนละตำแหน่ง แต่โดยรายละเอียดแล้ว ก็สามารถพิเคราะห์จุดอื่นๆ ระหว่างเส้นทาง “จากจุดยืนไปเป้าหมาย” หรือ “เป้าหมายกลับมาจุดยืน” ได้หมด ซึ่งความสำคัญของ Position แท้จริงแล้วจึงมีสองจุดตำแหน่งคือ จุดยืนและจุดหมาย… ซึ่งท่านจะกำหนดให้จุดไหนเป็นจุดเอก และจุดไหนเป็นจุดโทก็ไม่ผิด… แต่โดยประสบการณ์ส่วนตัวแล้ว มักจะเห็นการกำหนดจุดเป้าหมายเป็นจุดเอก ใช้สร้างกลยุทธ์และแผนที่ท้าทายเป้าหมายมากกว่าวิธีกำหนดจุดยืนและสถานะปัจจุบัน ขับเคลื่อนกลยุทธ์และแผนดำเนินการที่ส่วนใหญ่จะรอบคอบและระมัดระวังมากกว่า ซึ่งก็เหมาะสมดีงามในบางบริบท แต่หลายกรณีก็หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจนขาดโอกาสบางกรณีเช่นกัน

5. Perspective หรือภาพรวม

ประเด็นภาพรวมเพื่อใช้กำหนดกลยุทธ์และการวางแผนในหลายๆ กรณี การศึกษาภาพรวมผ่านมุมมองภายนอกกลับมาที่ “ตัวตนและสถานะ” ของธุรกิจหรือองค์กรในระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ ที่มักจะมีความท้าทายทั้งเรื่องเป้าหมายและการแข่งขันที่ต้องเห็น “ภาพรวมที่เป็นจริงอย่างถูกต้อง” ที่หลายครั้งสะท้อนผ่านการใช้ข้อมูลประกอบมากมาย เพื่อสร้างภาพระบบนิเวศน์ที่ธุรกิจอยู่และเป้าหมายที่ธุรกิจจะไป… ในทัศนะส่วนตัวให้ความสำคัญกับ Perspective ที่ได้จากข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นสำคัญ ซึ่งหลายท่านที่ตามงานเขียนและแนวคิดผมมาตลอดจะทราบว่า ผมเชื่อและศัทธาเรื่อง Data สุดลิ่มมาแต่ไหนแต่ไร 

หลัก 5Ps ของ Henry Mintzberg มักจะถูกใช้ในสองขั้นตอนของการพัฒนากลยุทธ์ หลังจากกำหนดยุทธศาสตร์ไปแล้วได้แก่ ขั้นตอนการรวบข้อมูลและรายละเอียด และขั้นตอนการพัฒนากลยุทธ์ด้วยข้อมูลรายละเอียดที่ได้จากการวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างดี

สุดท้าย… คงต้องเอ่ยถึงวิกฤต COVID-19 อยู่ดีว่า คือความท้าทายของธุรกิจน้อยใหญ่ ที่จะต้องสร้างยุทธศาสตร์บนความท้าทายใหม่แบบ VUCA Wolrd หรือโลกที่ ผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อนและคลุมเครือ ให้ประหลาดใจคาดไม่ถึงมากมาย ซึ่งผมเชื่อว่า ทุกธุรกิจน้อยใหญ่ต้องเตรียมการณ์ด้วยแผนและกลยุทธ์ที่มั่นใจได้ท่ามกลางความผันผวนไม่แน่นอนซับซ้อนและคลุมเครือให้ได้ดีกว่าเดิม… ซึ่ง 5Ps ช่วยได้ครับ!

Idea Plan Action

อ้างอิง

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts