Mission Based Marketing หรือ Mission Driven Marketing หรือ การขับเคลื่อนพันธกิจด้วยการตลาด ซึ่งถูกจัดให้เป็นกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรด้วยพันธกรณีที่องค์กรมีต่อเป้าหมายบุคคลเป็นหลัก ทั้งที่เป็นลูกค้าโดยตรง และ ที่เป็นผู้รับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งจะเป็นพันธกิจที่เน้นการสื่อสารทางการตลาดถึงกลุ่มเป้าหมาย และ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจนบรรลุวัตถุประสงค์ถึงขั้นประสบความสำเร็จ ซึ่งเป็นเป้าหมายความสำเร็จทั้งของลูกค้า และ ขององค์กรร่วมกัน
ที่น่าสนใจก็คือ… ปรัชญาของ Mission Based Marketing ถือเป็นกลยุทธ์หลักที่สามารถประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแผนทุกรูปแบบขององค์กรธุรกิจ และ องค์กรไม่แสวงหากำไร รวมทั้งหน่วยงานรัฐที่ก่อตั้งและมีอยู่เพื่อให้บริการโดยหน้าที่… ซึ่งทั้งหมดจะดูจากการมีลูกค้า และหรือ การมีผู้มารับบริการจึงจะมีองค์กรนั้น หรือ หน่วยงานนั้นอยู่
ประเด็นมีอยู่ว่า… หัวใจ และ จิตวิญญาณของการขับเคลื่อนกิจการ และหรือ องค์กรล้วนแต่ขึ้นอยู่กับพันธกิจ หรือ Mission ว่าจะทำอะไร–เมื่อไหร่–ทำอย่างไร–ให้ใครได้ประโยชน์… เมื่อเริ่มลงมือทำ หรือ เริ่มขับเคลื่อนพันธกิจตามแผน องค์กรจะเริ่มเคลื่อนย้ายไปพร้อมๆ กับการขับเคลื่อนพันธกิจในทุกๆ ย่างก้าวด้วย… นั่นหมายความว่า หลายสิ่งในองค์กรจะถูกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าพันธกิจที่ขับเคลื่อนอยู่จะล้มเหลว หรือ สำเร็จ
ข้อเท็จจริงของการขับเคลื่อนองค์กรเข้าหาเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จจึงมาจาก… ความสามารถในการเคลื่อนย้ายถ่ายโอนทุกๆ ส่วนในองค์กรไปกับพันธกิจใหม่… ซึ่งถ้าเคลื่อนย้ายตามการขับเคลื่อนพันธกิจที่เป็นปัจจุบันไม่ได้… ความล้มเหลวที่คาดถึงจะมาเยือนองค์กรได้อย่างง่ายดายเพียงแค่ตัวแปรหลักๆ ได้ถูกตรึงอยู่กับอะไรก็ตามที่ไม่ใช่พันธกิจที่กำลังขับเคลื่อนอยู่… โดยเฉพาะตัวแปรสำคัญอย่าง…
- Organizational Culture หรือ วัฒนธรรมองค์กร… เพราะถ้าเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกับพันธกิจไม่ได้ แผนทุกแผนที่สร้างบนพันธกิจที่ขัดแย้งกับวัฒนธรรมองค์กรจะล้มเหลวทันที เช่น วัฒนธรรมองค์กรเป็นระบบอาวุโส แต่อยากได้ Talent มาขับเคลื่อนความสำเร็จภายใต้พันธกิจที่สร้างคู่กับวิสัยทัศน์ดิจิทัล… องค์กรแบบนี้มักจะเสีย Talents ให้กับอำนาจการตัดสินใจของผู้อาวุโสในองค์กรจนยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร หรือไม่ก็จะเสีย Talents ให้กับองค์กรอื่นที่เข้าใจวิธีทำงานกับบรรดาคนเก่งมีพรสวรรค์ หรือ Talents ได้ดีกว่า
- Resiliency หรือ ความยืดหยุ่น… เพราะถ้าไม่ผ่อนสั้นผ่อนยาวต่อแง่มุมความล้มเหลว หรือแม้แต่แง่มุมความสำเร็จที่เกิดขึ้นในระหว่างดำเนินงานตามแผนภายใต้พันธกรณีหนึ่งๆ ที่องค์กรกำลังมุ่งไป ซึ่งจะมีทั้งปัญหา และ ปัจจัยความล้มเหลวมากมายท้าทายอยู่เบื้องหน้า… โดยหลายๆ ปัญหาอาจจะต้อง “พยายามหาทาง” มากกว่าหนึ่งทาง หรือ หนึ่งครั้งเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมักจะเกิดขึ้นเสมอ
- Clarity หรือ ความชัดเจน… เพราะหนึ่งใน “ปัจจัยล้มเหลวที่คาดถึงเสมอ” ในการขับเคลื่อนองค์กรทุกรูปแบบผ่านกลยุทธ์ทุกชนิด ที่ปล่อยให้มีความอึมครึมไม่โปร่งใส่ชัดแจ้ง จนทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และ คนที่เกี่ยวข้อง “คิดเอง และ เดาเอา” จนคิด และ เข้าใจไปคนละทิศละทาง
- Successful หรือ ความสำเร็จ… เพราะนิยามความสำเร็จของการขับเคลื่อนเป้าหมายองค์กร ซึ่งสร้างมาจากทัศนคติ และ ความคาดหวังส่วนบุคคลของผู้นำ และหรือ ทีมนำขององค์กร… ซึ่งถ้าสื่อสารความหมายของความสำเร็จไม่ดีพอ จนกลายเป็น “ความคิดเห็นแตกต่าง” และ เป็นเหตุให้เกิด “ความแตกแยก” โดยไม่ถูกใส่ใจ… ทั้งหมดก็จะนำไปสู่การประเมินความสำเร็จล้มเหลวขัดแย้งกันในท้ายที่สุด
การขับเคลื่อนองค์กรด้วยพันธกิจที่มุ่งไปที่ลูกค้า หรือ การตลาด จึงเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงในเชิงหลักการ และ แนวคิดน้อยลงมาก ซึ่งทั้งหมดจะเกี่ยวโยงกับค่านิยมด้านบวกเชิงนามธรรม และ วัฒนธรรมองค์กรอันเป็น “บรรยากาศการทำงาน” ที่มีผลกับความสุขความทุกข์ และ ความสำเร็จล้มเหลวมากมาย…
แต่ทั้งหมดทั้งสิ้นที่จะต้อง “ลงมือทำร่วมกัน” เพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมๆ กับพันธกิจให้ได้นั้น… ไม่ง่ายหรอกครับ และยังต้องการรายละเอียดเฉพาะกรณีเพื่อให้ราบรื่นที่สุดอีกมากมายเกินกว่าจะพูดถึงได้หมด
References…