Mission Driven… แนวคิดการขับเคลื่อนด้วยพันธกิจ #SaturdayStrategy

สูตรการวางโครงสร้างองค์กรและธุรกิจเพื่อให้ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ หรือ Vision ซึ่งเป็นเป้าหมายความสำเร็จที่เด่นชัด และ ปรากฏเป็นความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ได้จริง โดยเนื้อแท้ก็มักจะเป็นการสร้างความสำเร็จผ่านพันธกิจ หรือ Mission หรือ พันธะที่คนในองค์กรและทุกคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องร่วมกันผลักดันขับเคลื่อนจนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ถูกออกแบบอ้างอิงวิสัยทัศน์เอาไว้

Mission ในทางเทคนิคจึงเป็น “งานที่ต้องทำ” เพื่อให้เป้าหมายความสำเร็จตามวิสัยทัศน์มีโครงสร้างที่สามารถบรรลุเป้าหมายระดับวิสัยทัศน์ได้จริง และ องค์กรที่ประสบความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ได้จริง จะมีความสำเร็จจากหลายๆ พันธกิจที่ทุกคนในองค์กรช่วยกันสะสางทุ่มเทร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายเล็กที่เป็นชิ้นส่วนของเป้าหมายใหญ่โดยหนุนเนื่องต่อยอดไปได้เรื่อยๆ

การบริหารและการสั่งการบนพันธกิจขององค์กรจึงมีความสำคัญกับความสำเร็จอันเต็มไปด้วยพลังการขับเคลื่อน… แต่ความยากของพันธกิจที่เป็นเพียงเป้าหมายไม่ใหญ่และไม่ไกลเท่าเป้าหมายวิสัยทัศน์นี่เอง ที่มักจะสิ้นสุดลงเมื่อพันธกิจหนึ่งๆ ได้บรรลุเป้าหมายแล้ว และ ถูกกำหนดใหม่ให้สอดคล้องตามวิสัยทัศน์ซึ่งในบางกรณีก็อาจจะเป็นวิสัยทัศน์ใหม่ได้ด้วย ทำให้บ่อยครั้งเกิดการขาดความต่อเนื่อง และ สับสนในทิศทางกับเป้าหมายจนได้เห็นพันธกิจใหม่ล้มล้างเป้าหมายเก่า และ ถึงขั้นทำลายทรัพยากรของพันธกิจและวิสัยทัศน์เดิม ซึ่งมีให้เห็นมากมายในธุรกิจการเมืองตั้งแต่ระดับ อบต. ขึ้นไปจนถึงระดับชาติ

การระบุและขับเคลื่อนเป้าหมายพันธะกิจ จึงต้องมองภาพให้กว้างกว่าการการระบุและขับเคลื่อน “เป้าหมายระดับโครงการ” ที่ทำให้สำเร็จเสร็จสิ้นเป็นส่วนๆ ได้… ในขณะที่ความสำเร็จระดับพันธกิจที่ดีมักจะมี “งานที่ต้องทำ” อีกเรื่อยๆ เพื่อให้ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ออกมาดีที่สุด

ตัวอย่างการวางวิสัยทัศน์เพื่อจะเป็นธุรกิจค้าปลีกอันดับหนึ่งในประเทศ… พันธกิจที่จะทำให้ธุรกิจในมือกลายเป็นผู้ค้าปลีกอันดับหนึ่งได้จริงนั้น… ในเบื้องแรกจำเป็นจะต้อง “สร้างช่องทางการขายปลีก” ที่สามารถนำสินค้าจากต้นน้ำไปถึงมือลูกค้าปลายน้ำ หรือ ผู้บริโภคคนสุดท้ายให้ได้มากกว่าคู่แข่ง… นั่นแปลว่า ยังจะต้องสร้างห่วงโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain เพื่อรองรับยอดขายให้ได้มากกว่าคู่แข่ง ซึ่งจะตามมาด้วยการลงทุน และ สิ่งที่ต้องทำเพื่อขับเคลื่อนพันธกิจแต่ละส่วนเพื่อให้สอดคล้องกันในภาพรวมตามวิสัยทัศน์ที่มากกว่าคู่แข่งอย่างแน่นอน

ความยากของการขับเคลื่อนพันธกิจจึงอยู่ที่โครงสร้างความสำเร็จในแต่ละพันธกิจที่ทุกคนในองค์กรต่างก็มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะ “การมีส่วนร่วมในความสำเร็จ” ที่ทำให้ทุกคนในองค์กรภาคภูมิ และ หลงรักเป้าหมายเดียวกัน… โดยในท้ายที่สุดก็จะเห็นพันธกิจที่ทุกคนต่างก็มีพันธะร่วมขับเคลื่อน อันเป็นเหตุผลหลักที่คนๆ หนึ่ง “ต้องอยู่ตรงนั้น” ซึ่งถูกจ้างให้อยู่ทำหน้าที่นั้นเพื่อร่วมเสริมสร้างความสำเร็จในทุกพันธกิจที่คนๆ นั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จอยู่

Mission Driven จึงสำคัญที่ “การมาส่วนร่วม” ของทีมที่เข้ามาขับเคลื่อนเป้าหมายระดับพันธกิจ โดยจะต้องบรรลุเป้าหมายให้ได้ด้วยความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วม และ การเติบโตของทีม… ธุรกิจขนาดใหญ่และหรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จขนาดใหญ่จึงต้องใช้ทีมขนาดใหญ่มาช่วยกันขับเคลื่อนเสมอ แม้แต่สตาร์ทอัพที่ริเริ่มด้วยคน 2-3 คนก็ต้องหาทางบรรลุเป้าหมายจริงด้วยคนที่มากกว่าตอนเริ่มต้นอีกหลายเท่าทุกโมเดลธุรกิจ

ส่วนกรณีการใช้แนวทาง Mission Driven ใน SE หรือ Social Enterprise และ Social Entrepreneur รวมทั้ง NGOs ทุกกรณี… หลักๆ ก็จะเป็นการทำ Mission Driven เพื่อสร้างสมดุลเชิงสังคม อันเป็นโมเดลความสำเร็จที่เห็นชัดเจนในการดูแล หรือ ใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีโมเดลการดูแลผู้คนและสังคมของศาสนจักรของทุกๆ ศาสนาที่ยังเหลือผู้คนนับถือจำนวนมาก ได้สร้างต้นแบบการทำ Mission Driven ที่เป็นรูปธรรมหลายกรณีให้ศึกษาเป็นต้นแบบในหลายแง่มุม… ซึ่งขอข้ามที่จะแจกแจงและยกตัวอย่างไปทั้งหมดเพื่อไม่ให้การเกริ่นถึงกรอบกลยุทธ์นี้ยืดยาวเกินจำเป็น

อย่างไรก็ตาม… ไม่ว่าจะเป็นกรณีการใช้กลยุทธ์ Mission Driven ในแนวทางไหนก็ตามแต่… หัวใจสำคัญก็ยังอยู่ที่ “การมีส่วนร่วม” ของคนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และ คนที่เกี่ยวข้องผู้ถูกเติมเต็มความภาคภูมิ และ เกิดความเชื่อมั่นจากคนเหล่านั้น!

References

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *