ความเครียด และ ความกังวลที่มักจะวนอยู่กับวิถีชีวิตของหลายๆ คน ซึ่งฉุดรั้งความเบิกบานรื่นรมณ์ไปจากชีวิตจนหลายคน “ลืมรอยยิ้ม และ เลือนเสียงหัวเราะ” อย่าสุขใจของตัวเองไปนานจนนึกย้อนแทบไม่ได้ว่าเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่… แถมยังมีเรื่องโน้นเรื่องนี้ผุดขึ้นในหัวจนวุ่นวายไปหมด โดยหลายความคิดที่โผล่เข้ามาในหัวยังทำให้กระสับกระส่าย วิตก สับสน และ บ่อยครั้งยังอาจจะคิดถึงเรื่องนั้นปนกับเรื่องนี้จนกลายเป็นเรื่องเคร่งเครียดใหม่แบบที่เรียกว่า “คิดเป็นตุเป็นตะ” ทำให้วุ่นวายใจเพิ่มเข้าไปอีกได้ด้วย
ความว้าวุ่นใจสารพัดเรื่องที่ผุดขึ้นมาในหัว และ ปนเปเป็นตุเป็นตะจนหาความสงบไม่ได้ในทำนองนี้จะถูกเรียกว่าเป็น “จิตลิง หรือ Monkey Mind” ซึ่งเป็นภาวะหนึ่งของความเครียด และ ความกังวลที่สะท้อนผ่านความคิด และ จิตใจที่เจ้าตัวควบคุมความคิดของตัวเองไม่ได้… และมักจะส่งผลถึงพฤติกรรม กับ การตัดสินใจที่เต็มไปด้วยการเร่งรีบ ฉาบฉวย และ มองทุกอย่างเป็นปัญหาไปหมด
ในคำสอนตาม “แก่นในหลักวิปัสสนา” อันเป็นวิธีฝึกสติและขัดเกลาสัมปชัญญะให้กับจิตใจ กับ กายตน… จิตลิง หรือ Monkey Mind ถือว่าเป็นเป้าหมายสำคัญของการฝึกวิปัสสนากรรมฐานโดยมุ่งกำจัดจิตลิงออกไปจากวิถีชีวิต ซึ่งหลายท่านที่ติดใจการปฏิบัติธรรม และ การวิปัสสนากรรมฐานก็ด้วยเห็นชัดเจนว่า “จิตลิง หรือ Monkey Mind” รบกวนอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ยากขึ้น หรือ หมดไปเมื่อสติ และ สัมปชัญญะตามทัน “มายาคติ” ที่ผุดขึ้นมาทำลายความสงบสุขในความคิด และ จิตใจตน
Natalie Goldberg ผู้เขียน The Great Failure : A Bartender, a Monk, and My Unlikely Path to Truth และ นักพูดสร้างแรงใจชาวอเมริกันได้อธิบายเกี่ยวกับ Monkey Mind หรือ จิตลิง เอาไว้ว่า… Monkey Mind เป็นส่วนหนึ่งของความคิด และ สติปัญญาที่เชื่อมโยงกับอัตตา หรือ Ego ของเราเอง Monkey Mind จึงเป็นนักวิจารณ์ประจำตัวเราที่คอยออกความเห็นเพิ่มเติมใส่หัวเราเพื่อสนองอัตตาบางด้านของเราเอง และ Monkey Mind เกิดขึ้นโดยควบคุมได้ยากในคนส่วนใหญ่ เพราะสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในตัวเรา… แต่ก็จัดการได้ไม่ยากถ้าคนๆ นั้นรู้วิธี… หยุดคิด!!!
แต่คนเรามีวิธี “หยุดคิด” ได้จริงๆ ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะการหยุดคิดในขั้นสามารถ “กำจัด” ความว้าวุ่นใจสารพัดเรื่องที่ผุดขึ้นมาในหัว และ ทำลายเรื่องราวที่เกิดจากความคิดจิตใจที่ปนเปเป็นตุเป็นตะจนหาความสงบไม่ได้… หลายคนฝึกสมาธิแล้วได้ผล ในขณะที่หลายคนอาจจะหยุดคิดได้ตอนดูหนังดูละคร หรือดีกว่าหน่อยถ้าหยุดคิดได้ตอนออกกำลังกาย หรือ การได้เดินทางท่องเที่ยว ฯลฯ… ซึ่งแต่ละคนควรหาเทคนิค และ เครื่องมือช่วย “หยุดคิด” ให้เจอ
อย่างไรก็ตาม… การคิดแบบ “ขบปัญหา” เพื่อแก้ไขข้ามผ่าน และ หาทางออกจากปัญหาที่เราท่านต่องก็ต้องเจอนั้น การใช้ความคิดตั้งระวังปัญหาบางแง่มุมที่อาจจะทำให้ความคิดว้าวุ่นแบบ “จิตลิง” เกิดแทรกขึ้นก็ได้… โดยเฉพาะการขบปัญหาด้วยการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ และ การตัดสินใจ และยังเพียรหาทางเลือก กับ ตัวแปรที่ควบคุมได้ยากเพิ่มเข้ามาในประเด็นปัญหา สร้างเงื่อนไขให้ตัวเองคิดต่อวุ่นวายต่อจนกลายเป็นหลายเรื่องหลายราว… ซึ่งลิงในจิต หรือ นักวิจารณ์ในหัวคิดจะโผล่มาอย่างแน่นอน เพราะ “จิตลิง” จะชอบคนที่ “รู้ไม่ทันตัวเอง” อย่างมาก…
References…