Moral

Moral Dilemma… โกงหน่อยดีมั๊ยถ้าไม่มีใครรู้ #SelfInsight

มีข้อมูลมากมายชี้ว่า คนส่วนใหญ่สามารถจับผิดและวิพากษ์วิจารณ์การเอาเปรียบ โกงและละเมิดศีลธรรมหรือกฏหมายของคนอื่นได้ค่อนข้างชัดเจน ในขณะที่การเอาเปรียบ โกงและละเมิดศีลธรรมหรือกฏหมายของตนเองกลับมีเหตุผลและคำอธิบายมากมาย บิดเบือนให้ตนเองไม่ผิด ไม่ได้โกง และไม่ได้ละเมิดอะไร

Rimma Teper ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเรื่อง Are We More Moral Than We Think? Exploring the Role of Affect in Moral Behavior and Moral Forecasting จากการวิจัยเชิงจิตวิทยาเกี่ยวกับพฤติกรรมเชิงศีลธรรมที่ผู้คนเลือกทำ “เมื่ออยู่ในภาวะคลุมเครือทางศีลธรรม” ที่ตนเองได้ประโยชน์โดยไม่ได้ประพฤติละเมิดด้วยตนเองโดยตรง

งานวิจัยชุดนี้ได้ออกแบบการทดลองโดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม… โดยให้กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มจะต้องแก้โจทย์คณิตศาสตร์บนคอมพิวเตอร์เหมือนกัน

กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกถูกเตือนว่า ห้ามเคาะ Space Bar เพราะจะเป็นการเปิดดูคำตอบที่เฉลยไว้… ส่วนกลุ่มที่สองถูกชี้แจงว่า ถ้าตอบคำถามช้ากว่า 5 วินาทีก็จะมีเฉลยโผล่ขึ้นจอมาให้เห็น

แน่นอนว่า… กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกที่ต้องเคาะ Space Bar เอาคำเฉลยด้วยตัวเองมีคนละเมิด หรือ แอบดูคำตอบน้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่สอง ซึ่งแค่ถ่วงเวลารอก็ได้คำตอบที่ถูกต้องโดยไม่ได้ลงมือเปิดเอาคำเฉลยที่โผล่ขึ้นมาเองให้เสียทรงจนดูว่าเป็นคนโกง

ประเด็นก็คือ… คนเรายินดีตักตวงผลประโยชน์ แบบที่ไม่ต้องลงมือทำอะไรผิดด้วยตัวเองโดยไม่รู้สึกผิดเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าการเห็นคำเฉลยก่อนตอบจะเข้าข่ายการโกงอย่างชัดเจน… ซึ่งในโลกความจริงนอกงานวิจัยที่มีการโกงแบบ “กินตามน้ำ” รูปแบบต่างๆ ที่คนโกงไม่ต้องเอ่ยปากหรือออกแรง จึงยังพบเห็นและเกาะกินสังคมสีเทาแบบรู้ๆ เห็นๆ กันอยู่

การทดลองที่สองในงานวิจัยชุดนี้ของ Rimma Teper ได้ออกแบบบนแนวคิดตรงกันข้ามกับชุดแรก… โดยกำหนดให้กลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มถูกถามความสมัครใจในการช่วยเหลือนักศึกษาพิการในการเรียน…

นักวิจัยใช้แบบสอบถามกลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกขึ้นจอคอมพิวเตอร์ว่า… ท่านยินดีจะช่วยเหลือนักศึกษาพิการในการเรียนหรือไม่? และมีคำตอบให้เลือกเพียง 2 คำตอบคือ ช่วย กับ ไม่ช่วย… ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่สอง มีการเพิ่มลิงค์ “อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม” เพิ่มเข้ามา

ผลการทดลองในชุดที่สองที่ทำบนฐานการทำความดีปรากฏว่า… กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกเลือกคลิก “ช่วย” มากกว่ากลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่สองที่คลิก “อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม” มากถึง 5 เท่า

การอภิปรายผลการวิจัยในครั้งนี้จึงอธิบาย “พฤติกรรมการโกงที่คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะไม่กระทำอย่างโจ่งแจ้ง… ในขณะที่พฤติกรรมการทำความดี กลับกล้าทำอวดอย่างโจ่งแจ้งชัดเจน”

ทั้งหมด… สามารถอธิบายพฤติกรรม การชอบทำดีให้คนอื่นรู้เห็น และ กล้าโกงแบบอำพรางซุกซ่อน หรือ รอรับผลประโยชน์โดยที่ตนไม่ได้กระทำผิดโดยตรงได้โดยไม่รู้สึกผิด

ตามนั้นครับ!

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *