ศัพท์เทคนิคในทฤษฎีการวางแผนเพื่อออกแบบโมเดลการจัดการที่สำคัญอย่างคำว่า “การวางแผนเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Planning” ที่คนเรียนบริหารและนักบริหารทั่วโลกได้ยินจนชินนั้น… ถือเป็นกระบวนการเชิงองค์กร เพื่อจัดทำรายละเอียดทิศทางที่มุ่งหวัง ซึ่งเป็นทั้งเข็มทิศและพิมพ์เขียวรวมอยู่ด้วยกัน โดยจะมาพร้อมลำดับความสำคัญของ “การใช้และบริหารทรัพยากร” เพื่อผลักดันเป้าหมายที่มุ่งหวัง
บทความจากงานวิจัยซึ่งตีพิมพ์ใน Harvard Business Review ในหัวข้อ The Big Lie of Strategic Planning โดย Professor Roger L. Martin อดีตคณะบดี Rotman School of Management ณ University of Toronto ระบุว่า… การวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่ทำแผน และ จัดสรรทรัพยากรไว้ในแบบที่มั่นใจได้ว่าจะ “สำเร็จแน่ หรือ ทำได้ตามเป้าแน่ๆ” และทุกคนก็กลับไปช่วยกันทำงานตามแผนอย่างสบายใจนั้น… ความง่ายและความเชื่อมั่นต่อเป้าหมาย อาจจะกลายเป็น “กับดักความสำเร็จ” ที่ต่ำกว่าประสิทธิภาพจริงๆ ของทีมหรือองค์กร… เพราะถ้ามันง่ายและทำได้แน่ๆ ก็คงไม่มีอะไรเหลือให้ท้าทายเอาความสำเร็จกว่านั้นอีก
Professor Clayton Christensen ผู้ออกแบบหลักสูตร Disruptive Strategy ที่ Harvard Business School ก็ยืนยันเช่นกันว่า… ในโลกความจริงของการจัดการ เรามักจะพบโอกาสที่คาดไม่ถึง หรือ Unanticipated Opportunities บ่อยมากเท่าๆ กับการพบอุปสรรค หรือ Threats คุกคามการดำเนินงานไม่ให้ราบรื่นอย่างที่วางแผนไว้เสมอ… และส่วนใหญ่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อตอบสนองโอกาสและอุปสรรคที่ถาโถมใส่ไม่ซ้ำรูปแบบเหล่านี้เป็นประจำด้วยซ้ำ
ประเด็นการออกแบบเชิงกลยุทธ์ หรือ การหากลยุทธ์มาช่วยให้เข้าใกล้เป้าหมายและประสบความสำเร็จตามแผนในท้ายที่สุดจึงต้องคำนึงถึง… การเผื่อโอกาสและอุปสรรคที่คาดไม่ถึง โดยไม่บั่นทอนประสิทธิภาพการดำเนินงานในภาระกิจหลัก หรือ การเผื่อโอกาสและอุปสรรคที่คาดไม่ถึง โดยไม่ต้องแลกด้วยเป้าหมายสำคัญ… ซึ่งมีสถิติมากมายยืนยันความสำเร็จในเป้าหมายได้ดีกว่า และ ยืนยันชัดเจนได้บนตัวชี้วัดในหลายๆ มิติ
สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ… การเผื่อโอกาสและอุปสรรคที่คาดไม่ถึงเอาไว้ในแผนกลยุทธ์ที่ออกแบบขึ้นนั้น ในมิติของการกำหนดเป้าหมายจะหมายถึง… การมีเป้าหมายรอง และ เป้าหมายที่ยังไม่ระบุ สอดไว้ในแผนเพื่อให้การตัดสินใจ ณ เวลาที่มีโอกาสและอุปสรรคที่คาดไม่ถึงเข้ามา… ทีมหรือองค์กรจะสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันได้เร็วขึ้น… แต่ต้องไม่ลืม!… ย้ำว่าต้องไม่ลืมสร้างกรอบการลำดับความสำคัญของเป้าหมาย หรือ Prioritizing Strategic Goals ประกบแผนเอาไว้ด้วย…
เพราะการลำดับความสำคัญจะหมายถึง กรอบการตัดสินใจเพื่อให้สิทธิในการใช้ทรัพยากร ซึ่งมีจำกัดกว่าปัญหาอุปสรรคและโอกาสใหม่ๆ ที่ต้องจัดการเสมอ
ส่วนรายละเอียดว่า Strategic Planning มีกี่แบบและทำแบบไหน รายละเอียดและหลักคิดเป็นอย่างไรผมขอไม่พูดถึงแล้วน๊ะครับ!
References…