Brain inside

Neuroscience and Andragogy… วิทยาการด้านสมองและสติปัญญากับการรู้เรียนของสมอง

Tracey Tokuhama-Espinosa ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาจาก Harvard Graduate School of Education ผู้เขียนหนังสือ Mind, Brain, and Education Science: A Comprehensive Guide to the New Brain-Based Teaching ได้เสนอแนวคิดวิทยาการสหสาขา หรือวิทยาการที่รวบรวมหลายศาสตร์มาบูรณาการกันในชื่อ Mind Brain Education Science หรือ MBE… 

MBE Science เป็นการบูรณาการศาสตร์ด้านประสาทวิทยา หรือ Neurobiology… จิตวิทยา หรือ Psychology… และศึกษาศาสตร์ หรือ Educational Theory เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายใหญ่คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เต็มศักยภาพกว่าที่เคยเป็นมา โดยผลักดันความคิด จิตใจและพฤติกรรมผ่านกลไกอันทรงพลังของสมอง… ซึ่งการผลักดันความคิด จิตใจและพฤติกรรมผ่านกลไกทางสมองให้สามารถ “ข้ามขีดจำกัด” ในรูปแบบการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือสายเลือด และพฤติกรรมเลียนแบบจากสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ได้

นักการศึกษาส่วนหนึ่งเชื่อว่า MBE Science คือสะพานเชื่อม Neurobiology และ Psychology กับ Education Theory ที่ไม่เคยมีมาก่อน… ซึ่งเนื้อหาตอนนี้จะโฟกัส สะพานเชื่อม Neurobiology และ Psychology กับ Andragogy Theory อันเป็นแนวทางการจัดการศึกษาในผู้ใหญ่ และการจัดการศึกษาแบบผู้ใหญ่… ที่เป็นวิทยาศาสตร์กว่าที่เคยเป็นมา

ก่อนอื่นคงต้องทบทวนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสมองกันก่อน…

สมองคืออวัยวะสำคัญในสัตว์หลายชนิดตามลักษณะทางกายวิภาคที่เรียกว่า Encephalon ถือเป็นส่วนกลางของระบบประสาท ซึ่งคำว่า “สมอง” ส่วนใหญ่จะเรียกรวมระบบประสาทบริเวณหัวของสัตว์มีกระดูกสันหลัง บางครั้งก็ใช้เรียกอวัยวะในระบบประสาทบริเวณหัวของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในบางกรณีเช่นกัน

สมองมีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว พฤติกรรม รวมทั้งปรับและควบคุมสมดุลย์ หรือ Homeostasis เช่น การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต สมดุลของเหลวในร่างกาย และอุณหภูมิ เป็นต้น หน้าที่ของสมองยังเกี่ยวข้องกับการรู้ หรือ Cognition… อารมณ์ หรือ Emotion… ความจำ หรือ Memory… เรียนรู้การเคลื่อนไหว หรือ Motor Learning และความสามารถอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้

สมองประกอบด้วยเซลล์สองชนิดคือ เซลล์ประสาท หรือ Nerve Cell หรือ Neuron และ เซลล์เกลีย หรือ Glial Cells… เกลียเซลล์มีหน้าที่ในการดูแลและปกป้อง Neuron หรือ เซลล์ประสาท ซึ่งเป็นเซลล์หลักทำหน้าที่ส่งข้อมูลในรูปแบบของสัญญาณไฟฟ้าที่เรียกว่า Action Potential 

การติดต่อระหว่าง Neuron เกิดขึ้นได้โดยการหลั่งของสารเคมีชนิดต่างๆ ที่รวมเรียกว่า สารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitter ข้ามไปมาระหว่าง Neuron สองตัว

ประเด็นคือ… แม้สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น แมลงต่างๆ ก็มี Neuron อยู่นับล้านในสมอง ในขณะที่สัตว์มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ มักจะมี Neuron มากกว่าหนึ่งร้อยล้านตัวในสมอง… ส่วนสมองของมนุษย์ จะมีความพิเศษกว่าสัตว์ตรงที่มีความซับซ้อนและขนาดใหญ่กว่าเมื่อเทียบกับขนาดลำตัวของมนุษย์

สมองในมิติของการศึกษานั้น… ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากการวิจัยด้านประสาทวิทยา หรือ Neuroscience กำลังปฏิวัติความเข้าใจของเราเกี่ยวกับวิธีการเรียนรู้ของสมองมนุษย์และผู้คน การใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพอันล้ำสมัย ทำให้นักประสาทวิทยา หรือ Neuroscientists สามารถ “มองเข้าในสมอง” และอธิบายในเชิงสรีรวิทยาว่าเกิดอะไรขึ้นภายในสมองเมื่อคนเรียนรู้ได้แล้ว

สมอง 4 ส่วนกับการเรียนรู้

พื้นฐานของสมองมนุษย์ ในมุมของ Neurobiology หรือ ประสาทวิทยา จะสามารถแบ่งโครงสร้างของสมองเพื่อเรียนรู้และอธิบายได้หลายแบบ… ในที่นี้จะแบ่งสมองออกเป็น 4 ส่วนหลักๆ เพื่อแยกอธิบายให้เข้าใจง่าย เมื่อต้องบูรณาการร่วมกับจิตวิทยาและการศึกษา…

ส่วนที่ 1. The Brainstem หรือก้านสมอง… Brainstem หรือ Brain Stem หรือ ก้านสมอง เป็นแกนกลางของสมองเชื่อมต่อระหว่างสมองส่วนหน้า หรือ Cerebrum… ซีรีเบลลัม หรือ Cerebellum และ Spinal Cord หรือ ไขสันหลัง ที่ระดับขอบบนของ Foramen Magnum หรือโพรงในกระดูกท้ายทอย… สูงขึ้นมาอีกหน่อย จะเป็นส่วน Midbrain จะเชื่อมกับสมองส่วนหน้า หรือ External Hemisphere หรือสมองใหญ่… และก้านสมองด้านหลังจะคลุมด้วย Cerebellum และสื่อสารกันระหว่างก้านสมองกับซีรีเบลลัมด้วย “กลุ่มใยประสาท หรือ Cerebellar Peduncle เพื่อทำหน้าที่เป็นทางผ่านของ “วิถีประสาทขาขึ้นและขาลง” ระหว่างไขสันหลังและส่วนต่างๆ ของสมอง… เป็นศูนย์กลาง Reflex Center ควบคุมระบบหายใจ หัวใจและสติสัมปชัญญะ

ส่วนที่ 2. The Limbic System หรือ ระบบลิมบิค… เป็นพื้นที่เหนือก้านสมองทั้งหมด และเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ มีส่วนประกอบสำคัญ 4 ส่วนในระบบได้แก่ 

     The Thalamus…   เป็นศูนย์รวมกระแสที่ผ่านเข้าออก และแยกกระแสประสาทไปยังสมองที่เกี่ยวกับประสาทนั้น หรืออาจเรียกว่าเป็นสถานีถ่ายถอดกระแสประสาทเพื่อส่งไปยังจุดต่างๆ ในสมอง และยังทำหน้าที่ในการรับรู้ความเจ็บปวด ทำให้มีการสั่งการ และแสดงออกด้านพฤติกรรมด้านความเจ็บปวด

     The Hypothalamus…  มีขนาดเท่าเม็ดอัลมอนด์อยู่ใต้ Thalamus แต่เหนือก้านสมอง ทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานของระบบประสาทและระบบต่อมไร้ท่อ โครงสร้างนี้เป็นโครงสร้างหลักที่อยู่ด้านล่างของ Diencephalon พบในสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิด

     The Hippocampus…  เป็นส่วนโค้งรอบ Thalamus ทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมที่ตอบสนองต่ออารมณ์ การสร้างความทรงจำระยะยาวและการเรียนรู้

     The Amygdala…  เป็นส่วนที่ควบคุมความทรงจำและการตอบสนองต่อการได้รับรางวัลและการถูกลงโทษ

ส่วนที่ 3 The Cerebrum หรือสมองใหญ่… บางครั้งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เทเลนเซฟาลอน หรือ Telencephalon เป็นพื้นที่ส่วนที่ใหญ่ที่สุดในสมอง ตั้งอยู่ด้านหลังหน้าผาก และ เป็นส่วนการประมวลผลความรู้ ความเข้าใจและความจำระยะยาว และยังรับผิดชอบการบริหารของสมอง จนเรียกได้ว่า… นี่คือศูนย์ควบคุมเพื่อการเรียนรู้

ส่วนที่ 4 The Cerebellum หรือสมองน้อย… อยู่ด้านหลังเยื้องลงล่าง ควบคุมการเคลื่อนไหวและทรงตัวของร่างกาย ควบคุมและประสานงานของการเคลื่อนไหวของร่างกาย

โครงสร้างในเนื้อสมองจะประกอบด้วย “เซลล์สมอง” นับล้านล้านเซลล์วางเรียงกันอย่างเป็นระเบียบคล้ายรังผึ้ง บางครั้งจึงเรียกว่า Cellular Structure… นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เซลล์สมองเพียง 10% เท่านั้น ที่มีส่วนสำคัญต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท นั่นคือเหตุผลหลักของความพยายามที่จะ “ใช้งานเซลล์สมองอีก 90%” ให้เป็นประโยชน์เหมือน 10% ที่ใช้อยู่… เหมือนเราทำงานแค่หนึ่งชั่วโมงและถ้าได้ทำงานอีก 9 ชั่วโมงเหมือนที่ทำได้ 1 ชั่วโมง ผลลัพธ์ย่อมเกิดอะไรตามมามากมายกว่านี้แน่นอน

ตัวเซลล์สมองที่วางเรียงกันอยู่ในเนื้อสมองของเรา จะกระจายกันอยู่โดยไม่สัมผัสกันโดยตรง แต่จะยื่นแขนงของเซลล์สมองที่เรียกว่า Axon ออกไปจับกับเซลล์สมองข้างเคียง ซึ่งส่วนปลายของแขนง Axon จะมีโมเลกุลชื่อ Neurotransmitter หรือ สารสื่อประสาทสะสมอยู่ และเมื่อเซลล์สมองส่ง Electrical Impulse หรือกระแสไฟฟ้าไปที่ Axon แขนงใด… Neurotransmitter ก็จะถูกยิงข้ามช่องว่าง Synapse ไปยัง Receptor หรือตัวรับของเซลล์สมองคู่สื่อสาร… ซึ่งการกระตุ้นเซลล์สมองหนึ่งเซลล์ จึงเกิดปฏิกิริยากระทบต่อเนื่องไปบนโครงสร้าง Cellular Structure ของสมอง… และนักวิทยาศาสตร์และนักการศึกษา ต้องการให้เกิดปฏิกิริยาทางไฟฟ้าไปทั่วทั้ง Cellular Structure อีก 90% ที่รอการใช้งานอยู่ เพื่อปลดปล่อยพลังของมนุษย์ที่ถูกซ่อนมานาน

ข้อมูลเกี่ยวกับสมอง ขออนุญาตสรุปไว้เป็นพื้นฐานเท่านี้ก่อน… ซึ่งจำเป็นต้องมีข้อมูลอ้างอิงเมื่อจำเป็นต้องพูดถึงสมองบางส่วน กับการประสานการเรียนรู้เมื่อ ต้องอธิบาย Neurobiology และ Psychology กับ Andragogy Theory ร่วมกัน… ซึ่งทั้งหมดจะตรงเข้าหาองค์ความรู้ที่ชื่อว่า “Cognitive Processing หรือขบวนการรู้คิด” อันเป็นงานของสมองที่จะบอกได้ว่า… มีสมอง กับ ไม่มีสมอง และ ฉลาดน้อย กับ สุดฉลาด จะหมายถึง คนๆ นั้นรู้คิดแค่ไหน รวมทั้งขบวนการรู้คิดสมบูรณ์แบบระดับไหน

ประเด็นก็คือ… การจัดการศึกษาหรืออีกมุมหนึ่งก็คือ การพัฒนา Cognitive Processing ให้สมบูรณ์แบบที่สุดนั้น มีแต่หนทางการเรียนรู้ หรือ Learning ของสมองเท่านั้น ที่จะปลดล๊อคอีก 90% ของเซลล์สมองที่เหลือมาใช้ได้ การบูรณาการวิทยาการทางสมองระดับ Neurobiology หรือประสาทวิทยา เข้ากับ Learning จึงถึงวาระที่สมควรต้องพิจารณาอย่างจริงจัง โดยมีจิตวิทยา หรือ Psychology ช่วยสร้างสมดุลย์ระหว่างซ๊อตไฟฟ้าใส่เซลล์ “สมองรอพัฒนา” อีก 90 ส่วนให้พร้อมใช้งาน… บางครั้งจึงมีคนเรียกการปลุกสมองระดับนี้ว่า เป็นการฝึกสมองให้ “รู้เรียน”

ตอนหน้ามาเรียนรู้หลักการ Neuroscience สำหรับ 6 Andragogical Principles หรือ หลักการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผู้ใหญ่ทั้ง 6 ที่ Reder เผยแพร่ไปก่อนหน้านั้นในตอน Perspectives on Andragogy… ภาพรวมและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผู้ใหญ่ ท่านที่ยังไม่มีพื้น กลับไปอ่านรอได้เลยครับ!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts