Brain

Neuroscience and Andragogy Principles… ประสาทวิทยากับหลักการพื้นฐานการศึกษาผู้ใหญ่

การศึกษาค้นคว้าทางประสาทวิทยา จากแง่มุมการส่งเสริมการใช้เซลล์สมองหรือ Neurons และปลุกเซลล์สมองอีก 90% ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า มนุษย์ยังไม่สามารถกระตุ้นเซลล์สมองส่วนนี้มาใช้ได้มาก่อน… ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ นักจิตวิทยาและนักการศึกษาทั้งหมดยืนยันตรงกันว่า… เซลล์สมองกระตุ้นได้ด้วยข้อมูลความรู้และทักษะประสบการณ์ใหม่ๆ

งานค้นคว้าจนพบ “ข้อเท็จจริงอันเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงแก่น หรือ Meta Finding” ที่พบว่า สมองมนุษย์พร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เมื่อสภาพแวดล้อมเป็น “Adultness หรือบรรยากาศแบบโตๆ กันแล้ว” จนอารมณ์ความรู้สึกเป็นบวกอันทรงพลัง จนเกิด “Good Stress หรือ ความคร่ำเคร่งในทางที่ดี” ทำให้สมองหลั่ง Dopamine และ Adrenaline ที่เป็นสารสื่อประประสาท หรือ Neurotransmitter กระตุ้นให้สมองเกิดการเรียนรู้ข้อมูลใหม่เปรียบเทียบข้อมูลเก่า หรือ ประสบการณ์เดิม จนเกิดการพอกพูนของข้อมูลในสมอง หรืออีกชื่อหนึ่งของข้อมูลในสมองก็คือ ความรู้และประสบการณ์นั่นเอง

Andragogy หรือการเรียนรู้ในผู้ใหญ่ จึงแตกต่างจาก Pedagogy หรือ การเรียนรู้ในเด็ก ที่การให้คุณค่าของ “ความรู้และประสบการณ์เดิมที่สมองสะสมมา” ในขณะที่ Pedagogy หรือ การเรียนรู้ในเด็ก จะมุ่งให้คุณค่ากับข้อมูลความรู้และประสบการณ์ที่ต้องการป้อนให้สมองทางเดียว… Andragogy หรือ การเรียนรู้ในผู้ใหญ่ จึงโดดเด่นอย่างมากเมื่อคุณค่าและประสบการณ์เดิม ถูกบูรณาการเข้ากับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ

How Neurons Communicate

หนังสือชื่อ The Adult Learner: The definitive classic in adult education and human resource development ของ Malcolm S. Knowles และคณะ… จึงสามารถอธิบายทฤษฎีย่อยของหลักการเรียนรู้แบบผู้ใหญ่ หรือ Andragogy เชื่อมโยงกับวิทยาการทางประสาทวิทยา ได้ “ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ” ภายใต้เงื่อนไขข้อเท็จจริงอันเป็นแก่นแกนที่กล่าวไปแล้วในบทความเรื่อง Meta-Findings From Neuroscience to Learning 

มาดูไปพร้อมกันเลยว่า… 6 หลักการพื้นฐานของ Andragogy เชื่อมโยงและอธิบายด้วย Neuroscience อย่างไร?

1. The Need to Know หรือ ความใฝ่รู้

Margaret C. Glick เจ้าของหนังสือ The Instructional Leader and the Brain: Using Neuroscience to Inform Practice อธิบาย “พฤติกรรมใฝ่รู้ของสมอง” ไว้ว่า Executive Control Center หรือ Frontal Lobes หรือสมองส่วนหน้า จะหาทางกำหนดเป้าหมาย รวมทั้งยับยั้งอดกลั้นเมื่อคิดเชื่อมโยงอนาคตกับปัจจุบันขณะ ลดทอนและหยุดยั้งการตอบโต้ที่ไม่เหมาะสม “ทบทวนเปรียบเทียบ” จากความทรงจำและอารมณ์ความรู้สึก ทำให้สมองส่วนนี้เป็น “ส่วนการจัดการปัญหาที่ทรงพลัง” อันเป็นฐานสำคัญของทักษะ Critical Thinking หรือทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และ Creativity หรือทักษะสร้างสรรค์

Geoffrey Caine และ Renate Nummela Caine เจ้าของหนังสือ Making Connections: Teaching and the Human Brain ก็ยืนยันว่า Executive Control Center เป็นเหมือนวาทยากรหรือผู้ควบคุมวงออเครสตร้า

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า… Executive Control Center จะโตเต็มที่เมื่อวัยเติบโตสู่รอบศตวรรษที่สอง หรือ อายุเกิน 10 ปีไปแล้ว ทำให้ความสามารถในการเรียนรู้และเข้าใจระดับ “อภิปัญญา หรือ Metacognition” ในเด็กเป็นไปไม่ได้… ในทางกลับกัน เมื่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย สามารถสร้างเซลล์สมองใส่ Frontal Lobes จนสมบูรณ์ตามวัยแล้ว และได้รับการกระตุ้นใช้งานจนกลายเป็น Executive Control Center อย่างแท้จริง… คนผู้นั้นจะพัฒนาสติปัญญาให้สูงขึ้นได้เอง พร้อมกับทักษะการรู้จำที่เข้มข้น

การนำเข้าสู่การเรียนรู้แบบ Andragogy หรือ Andragogical Approach จึงเริ่มที่ “Who,

What, Why และ How” หรือการเริ่มต้นด้วยคำถามหรือปัญหานั่นเอง ที่เหลือก็ปล่อยให้ความอยากรู้อยากเห็นของสมองส่วนหน้า… รับไปดำเนินการ

2. The Learner’s Self-concept หรือ Self Directed Learning หรือ การเรียนรู้ด้วยตนเอง

ในแง่ของการพัฒนาระดับฟังก์ชั่นสมองหรือกลไกการทำงานของสมอง โดยกลไกการทำงานหรือฟังก์ชั่นของสมองส่วนหน้าของผู้ใหญ่นี้เอง ที่เป็นพื้นฐานและหลักฐานยืนยันว่า สมองของผู้ใหญ่ทำงานแบบ Self Directed Learning ซึ่งจะเห็นได้ชัดผ่าน “การควบคุมตัวเอง” ได้ดีกว่าเด็ก อันเป็นผลมาจากการทำงาน หรือฟังก์ชั่นของสมองส่วนหน้า…กำหนดเป้าหมาย ยับยั้ง อดกลั้น เชื่อมโยงอนาคตกับปัจจุบัน ทบทวนเปรียบเทียบกับความจำและอารมณ์ความรู้สึก

ในเด็ก… เหยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าจะยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา สังเกตุได้จากสรีระของเด็กเล็ก จะยังเปิดช่องกระโหลกให้ร่างกายสะสมเซลล์สมองใส่ Frontal Lobes ให้สมบูรณ์ที่สุด ระหว่างนี้เด็กจึงควบคุมตัวเองได้น้อยหรือไม่ได้เลยในหลายกรณี ในการเรียนการสอนในเด็ก “ที่สมองยังพัฒนาไม่สมบูรณ์” จึงจำเป็นต้องใช้รูปแบบ หรือ Type ของการสร้างอภิปัญญา หรือ Metacognitive แบบ Control and Coaching หรือควบคุมและฝึกหัด

Tracey Tokuhama-Espinosa เจ้าของแนวคิด Mind Brain Education Science หรือ MBE อธิบายว่า…  Novel Learning หรือการเรียนรู้สิ่งใหม่นั้น ผู้ใหญ่มีโอกาสน้อยกว่าที่จะได้รับการพัฒนาด้วย “ชุดทักษะความรู้” นอกเหนือการควบคุมด้วยตนเอง เพราะไม่ได้สอดคล้องกับพฤติกรรมของสมองส่วนหน้า หรือ Executive Control Center ที่มีเป้าหมายของตนชัดเจน

ประเด็นจึงมีว่า… วุฒิภาวะของสมองที่แก่กล้ากรำกร้านใช้งานมามาก จะยิ่งหลงไหลการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตามฟังก์ชั่นการทำงานของสมอง โดยประสิทธิภาพการทำงานของสมองก็ขึ้นอยู่กับ ประสบการณ์เดิมที่มีในสมอง บวกกับชนิด ประเภทและบริบทของข้อมูลความรู้ใหม่ที่นำสู่ฟังก์ชั่นสมอง… และข้อเท็จจริงนี้อธิบายเรื่อง “ระดับสติปัญญาที่ไม่เท่าเทียม” ได้ทั้งหมด รวมทั้งอธิบายได้ด้วยว่า… มนุษย์ฉลาดกว่าเดิมได้

3. The Role of Experience หรือ ต้นแบบจากประสบการณ์

เป็นที่ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่อธิบายผ่านฟังก์ชั่นการทำงานของสมองและประสบการณ์ ซึ่งก็คือ “ผลผลิตของสมอง” อย่างไม่ต้องสงสัย… ซึ่งขั้นตอน หรือ Processed จะเป็นการใช้ Neural Networks หรือ โครงข่ายเซลล์สมอง เรียนรู้ผ่านขั้นตอนเป็นขั้นๆ ตามลำดับและสะสมทั้งหมดไว้กับความจำกลายเป็นประสบการณ์

การวิจัยทางสมองมากมายถกเถียงและถามหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงข่ายเซลล์สมองเหล่านี้ “ส่งเสริมและปิดกั้นการเรียนรู้สิ่งใหม่อย่างไร?” และการศึกษาค้นคว้าบางส่วนอธิบายว่า โครงข่ายเซลล์สมองเหล่านี้ เรียนรู้ผ่านประสบการณ์เดิม และสร้างความรู้ใหม่เชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์เดิมเสมอ

นั่นแปลว่า… โครงข่ายเซลล์สมองเหล่านี้ “ฟังก์ชั่นได้ทั้งการส่งเสริม และ ปิดกั้นความรู้ใหม่” โดยจะส่งเสริมเมื่อ “ทบทวนเปรียบเทียบ” กับประสบการณ์เดิมแล้วสามารถเชื่อมโยงกันได้ และจะปิดกั้นผลักดันเมื่อ “ทบทวนเปรียบเทียบ” แล้วไม่เข้ากับประสบการณ์เดิมจนเกิดภาวะ… เรียนไม่เข้าใจ เรียนไม่รู้เรื่องและไม่อยากเรียนมันแล้วในที่สุด

ประเด็นก็คือ… ความรู้ใหม่กับประสบการณ์เดิมที่เชื่อมโยงกันได้มีน้อยกว่า ความรู้ใหม่ที่ประสบการณ์เดิมของสมองยังไม่มี… ซึ่งพิสูจน์ได้จากองค์ความรู้ในโลกนี้มีมากกว่าที่คนๆ หนึ่งรู้และมีประสบการณ์หลายพันเท่า คำถามสำคัญในการพาสมองฟังก์ชั่นกับความรู้ใหม่ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์เก่า “โดยไม่ปิดกั้น” ต้องทำอย่างไร?

กลยุทธ์การเรียนรู้สิ่งใหม่จึงต้องทำผ่าน “การเตรียมสมองเพื่อลด Negative Emotions” ก่อนใส่ข้อมูลใหม่ให้สมองฟังก์ชั่น… โดยจังหวะที่สมองอยู่ในภาวะ Positive Emotions เพียงชั่วขณะนี้เอง ที่ข้อมูลใหม่หรือความรู้ใหม่ จะถูกฟังก์ชั่นจนกลายเป็นความรู้และประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ในโครงข่ายเซลล์ประสาทไปแล้ว

4. Readiness to Learn หรือ ความพร้อมเรียนรู้

มีหลักฐานเชิงประจักษ์มากมายชี้ว่า สมองมีธรรมชาติของการ “เรียนรู้เพื่ออยู่รอด” ที่ปรากฏและได้รับการยอมรับมายาวนานตามทฤษฎี Maslow’s Hierarchy of Needs หรือ ทฤษฎีลำดับความต้องการของมาสโลว์ จากผลงานเผยแพร่ชื่อ A Theory of Human Motivation โดย Abraham Maslow ที่แบ่งชั้น Needs หรือความต้องการของมนุษย์ จากฐานสู่ปลายยอด ผ่านรูปร่างปิรามิด… จากฐานเริ่มด้วย ความต้องการด้านร่างกาย หรือ ด้านกายภาพ หรือ Physiological Needs… ปิรามิดชั้นที่ 2 เป็นความต้องการด้านความมั่นคงปลอดภัย หรือ Safety Needs… ปิรามิดชั้นที่ 3 เป็นความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ หรือ Belongingness and Love Need… ปิรามิดชั้นที่ 4 เป็นความต้องการเกียรติยศชื่อเสียงและความภาคภูมิใจ หรือ Self- Esteem Need… และยอดปิรามิดชั้นที่ 5 เป็นความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต หรือ Self-Actualization Needs

Andragogy ได้รับการยอมรับว่า… ผู้ใหญ่หรือที่ถูกต้องคือ สมองของผู้ใหญ่พร้อมเรียนรู้เพื่อสนองความต้องการพื้นฐาน หรือ Basic Needs ตามทฤษฎีของ Abraham Maslow… เพื่อไต่ยอดปิรามิดขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงยอด… แน่นอนว่า สิ่งเร้าที่ดึงดูด Needs ในตัวเราเกิดขึ้นมากมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่ถูกเร้าก็คือ สมองส่วนหน้า หรือ Executive Control Center หรือ Frontal Lobes ซึ่งเป็นส่วนการจัดการปัญหาที่ทรงพลังและสัมพันธ์กับ Critical Thinking และ Creativity… จะกำหนดเป้าหมายเชื่อมโยงสิ่งเร้าซึ่งก็คือข้อมูลใหม่หรือความรู้ใหม่ และทำขั้นตอน หรือ Processed หาความต้องการ หรือ Needs และหาทางสนองความต้องการที่เกิดขึ้น… ซึ่งแท้จริงแล้ว การหาทางสนองความต้องการก็คือ การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ที่สมองของคนเราพร้อมเรียนรู้เสมอ โดยมี Basic Needs เป็นสิ่งเร้าและดึงดูดสำคัญ 

5: Orientation to Learning หรือ นิเทศก์การเรียนรู้บนฐานปัญหา

ผู้ใหญ่ถือเป็นกลุ่มผู้เรียนแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน หรือ Problem Based Learners ซึ่งนักการศึกษาและศึกษานิเทศก์การศึกษาผู้ใหญ่ หรือ Andragogical Facilitators ล้วนเข้าใจดีว่า การสร้างแรงจูงใจและเปิดกว้างกับโอกาสในการนำปัญหาที่แท้จริงของผู้เรียนมาใช้ สร้างผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม ตรงกับผลลัพธ์นักวิจัยทางประสาทวิทยาและสมอง

Tracey Tokuhama-Espinosa เจ้าของแนวคิด Mind Brain Education Science หรือ MBE อธิบายว่า สมองมนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุดเมื่อ “ข้อเท็จจริงและทักษะ ประสานกันภายใต้บริบทที่เป็นธรรมชาติและเป็นรูปธรรมในภาวะที่ผู้เรียนเผชิญหน้ากับปัญหาอย่างเข้าใจ” ซึ่งก็สอดคล้องกับแง่มุมที่อธิบายเรื่องสมองคนเราเชื่อมข้อมูลและทักษะใหม่เข้ากับประสบการณ์และความรู้ที่ผ่านมา ขับเคลื่อนผ่านกลไกการแก้ปัญหาตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น ทำให้เกิดการเกาะเกี่ยวระหว่างข้อมูลและทักษะที่เรียนรู้ใหม่ กับประสบการณ์และความรู้เดิม สร้างภูมิรู้ใหม่เพิ่มขึ้นบนปัญหาที่เป็นเป้าหมายการแก้ไข

นอกจากนั้น… การขับเคลื่อด้วยปัญหาของผู้ใหญ่ สร้างแรงจูงใจสูงยิ่งที่จะ “จดจ่อกับการเรียนรู้ หรือ Attention to Learning” เพื่อหาทางคลีคลายปัญหา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สมองส่วนหน้า หรือ Executive Control Center หรือ Frontal Lobes… จะสนใจข้อมูลและความรู้ที่สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้เป็นพิเศษ จนหลั่ง “สารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitters” ที่เหมาะสม เพื่อทุ่มเทหาทางออกให้ปัญหาที่สมองกำลังต้องการคำตอบ หรือข้อมูลความรู้เพิ่มเติม

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ จะแตกต่างสิ้นเชิงจากการเรียนของเด็กในโรงเรียน จริงอยู่ที่การเรียนรู้ผ่านปัญหา หรือใช้ปัญหาเป็นฐานสามารถใช้กับเด็กได้ แต่สมองส่วนที่เป็น Executive Control Center ที่ยังไม่เติบโตเต็มที่เพียงพอ ทำให้ความตระหนักถึงผลลัพธ์การแก้ปัญหา ดูเป็นเรื่องไร้ประโยชน์ที่จะจดจำเรียนรู้สำหรับเด็ก… ในขณะที่ “ฐานปัญหา” ที่ผู้ใหญ่ใช้กระตุ้นเรียนรู้ ได้ชี้นำแนวทางการเรียนรู้จนถึงผลลัพธ์และคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งหลายกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนให้เห็น “การแก้ปัญหา” จนเป็นที่ประจักษ์

6: Motivation to Learn หรือ แรงจูงใจใฝ่เรียน

การค้นพบที่น่าประทับใจอย่างยิ่งจากการวิจัยสมองคือการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางเคมีในสมองผ่าน “สารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitters” การวิจัยค้นคว้ามากมายยืนยันกระบวนการทางเคมีของสมองตรงกัน… Geoffrey Caine และ Renate Nummela Caine เจ้าของหนังสือ Making Connections: Teaching and the Human Brain กล่าวว่า ความกลัวยับยั้งการเรียนรู้ใหม่ในขณะที่แรงจูงใจในเชิงบวกช่วยเพิ่มการเรียนรู้… ซึ่งแรงจูงใจเชิงบวกทำให้เกิดการปลดปล่อยสารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitters ชัดเจน

Judy Willis เจ้าของผลงานชื่อ The Neuroscience of Joyful Education ยืนยันว่า อารมณ์เชิงบวกทำให้เกิดระดับ “สารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitters” เพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มพลังการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทได้ดีกว่าเดิมมาก

Kathleen Taylor และ Annalee Lamoreaux เจ้าของผลงาน Teaching with The Brain in Mind ระบุเช่นกันว่า บริบททางอารมณ์ของการเรียนรู้คือศูนย์กลางการเรียนรู้และขั้นตอนการเรียนรู้

วิทยาการด้านประสาทวิทยาก็ชี้ชัดให้เห็นว่า… การสอนที่ “เชื่อมโยงการเรียนรู้กับอารมณ์” เป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ยิ่งการเรียนรู้เชื่อมโยงกับชีวิตตัวตนและความสนใจของผู้เรียนมากเท่าไหร่ ผลกระทบต่อ “อารมณ์เชิงบวก” ก็ยิ่งเพิ่มพูนดีขึ้นเท่านั้น และอารมณ์เชิงบวกก็ส่งผลต่อการหลั่ง “สารสื่อประสาท หรือ Neurotransmitters” ในสมองและฟังก์ชั่นการทำงานของสมองได้ดีขึ้นด้วย

หลักการจูงใจใฝ่เรียนในผู้ใหญ่ จึงไม่มีอะไรซับซ้อนยุ่งยาก เพียงค้นให้พบปัญหาที่แท้จริงเท่านั้นเอง… แต่ปัจจัยทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น ดูเหมือนข้อมูลทุกส่วนบ่งชี้ไปที่ “Basic Needs หรือความต้องการพื้นฐานและแรงจูงใจในการแก้ปัญหาที่ตรงกับประสบการณ์” ของผู้เรียนเป็นหลัก… ยกเว้น “Contextualize หรือ บริบท” ที่เป็นตัวแปรหนึ่งในการสร้าง “อารมณ์เชิงบวก” ให้ผู้เรียน… ซึ่งบริบทในหลายกรณีเป็นงานเตรียมสอนผ่าน “บรรยากาศการเรียนรู้” 

ตอนหน้ามาโฟกัส “บรรยากาศการเรียนรู้ กับ Neuroscience” กันครับ!!!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts