New DLTV โดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์

ในบรรดาวิสัยทัศน์ “การศึกษาทางไกล หรือ Distance Learning” ที่ก่อตั้ง และ ยังคงมีความสำคัญกับกลไกทางการศึกษาระดับมหภาคมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเกิน 20 ปีนั้น… ชื่อ Distance Learning Foundation Under The Royal Patronage หรือ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากประเทศไทยย่อมมีชื่ออยู่ในลำดับต้นๆ ของโลกด้วยอายุโครงการที่ดำเนินมายาวนานกว่า 25 ปีแล้ว… นับตั้งแต่พระมหากรุณาธิคุณของ “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” ที่ทรงมีพระราชปณิธานในการจัดการศึกษาให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และ มีคุณภาพ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แก้ปัญหาการขาดแคลนครู ปัญหาครูไม่ครบชั้น และ ปัญหาครูสอนไม่ตรงสาขาวิชาเอก โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล…

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุนประเดิม จำนวน ๕๐ ล้านบาท และ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์เฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี พุทธศักราช 2539 ให้เป็นเครื่องหมายของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สืบมา

มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ก่อตั้งเครือข่ายโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมภายใต้โครงการ DLTV หรือ Distance Learning Television เพื่อถ่ายทอดการเรียนการสอนผ่านโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียม… โดยเปิดรายการเป็นปฐมฤกษ์ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2538 เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปีกาญจนาภิเษก พุทธศักราช 2539… โดยดำเนินการถ่ายทอดสดการเรียนการสอนระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ ดำเนินการถ่ายทอดการเรียนการสอนครอบคลุมชั้นเรียนก่อนระดับปริญญาตรีทั้งสายสามัญ และ สายอาชีพเกือบทั้งหมดมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2560… พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้ทรงสืบทอดพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลก่อน… โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารมูลนิธิทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ชุดใหม่ และ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พัฒนาต่อยอดการดำเนินงานให้ทันสมัย… โดยยังคงยึดถือแนวทางของพระราชบิดาเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายการศึกษาเพื่อสร้างคนไทยให้มีคุณลักษณะสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 

  1. มีทัศนคติที่ดีและถูกต้อง 
  2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็ง มีอาชีพ มีงานทำ 
  3. เป็นพลเมืองดีมีระเบียบวินัย 
  4. ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งสายสามัญ และ สายอาชีพอันสอดคล้องกับสภาวการณ์การศึกษาของโลกให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย

 มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการบริหารจัดการในรูป “คณะกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์” โดยปัจจุบันมี พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิฯ ซึ่งได้น้อมนำพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันมาปฏิบัติ มีการพัฒนาระบบการดำเนินงานรูปแบบใหม่ทั้งโครงสร้างการบริหารงานภายในองค์กร และ ระบบการออกอากาศการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ภายใต้วิสัยทัศน์ NEW DLTV… เพื่อให้รองรับกับสถานการณ์ของโลก และ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการพัฒนาและต่อยอดการดำเนินงานให้บริการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เกิดการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 5 ประการ… ได้แก่

  1. ปรับผังการออกอากาศครอบคลุมการเรียนรู้ตลอดชีวิต… โดยออกอากาศทั้งหมด 15 ช่อง ตลอด 24 ชั่วโมง สำหรับประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย… โดยเวลาออกอากาศ 08.30 – 14.30 น. จากเดิมออกอากาศระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6… เป็นออกอากาศระดับปฐมวัยปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3… เนื่องจากพบว่า การศึกษาระดับปฐมวัยของประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมากจนทำให้เด็กไม่สามารถมีพัฒนาการสมวัยได้ อีกทั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในปัจจุบันส่วนใหญ่มีครูครบชั้น หากแต่ยังมีโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนระดับ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือ

    รายการนอกเวลาเรียน ตั้งแต่เวลา 14.30 น. เป็นต้นไป โดยแบ่งประเภทสาระความรู้ตามช่องรายการ อาทิ รายการสถาบันพระมหากษัตริย์… รายการความรู้รอบตัว… รายการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี… รายการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม… รายการสำหรับเด็ก… รายการผู้สูงวัย… รายการพัฒนาวิชาชีพครู เป็นต้น โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน
  2. เปลี่ยนระบบการออกอากาศจากระบบมาตรฐาน Standard Definition หรือ SD ไปเป็นระบบความคมชัดสูง หรือ High Definition หรือ HD… เพื่อให้โรงเรียนปลายทางได้รับชมภาพการเรียนการสอนที่คมชัด และ เปลี่ยนระบบการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน เพื่อการออกอากาศที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  3. ปรับปรุงอาคารสถานี และ ห้องเรียนต้นทาง รวมทั้งพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย… เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ให้กับนักเรียนห้องเรียนต้นทางและนักเรียนในโรงเรียนปลายทางทั่วทั้งประเทศอย่างสูงสุด อีกทั้งยังพัฒนาบุคลากรครูและเจ้าหน้าที่เทคนิค เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านสื่อและงานสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงอาคารสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมแห่งใหม่ เป็นอาคารสูง 3 ชั้น ประกอบด้วยห้องเรียนออกอากาศ จำนวน 6 ห้อง ห้องควบคุมการส่งสัญญาณออกอากาศ ห้องตัดต่อรายการ ห้องบันทึกรายการฉากเสมือนจริง ห้องปฏิบัติการต่างๆ
  4. เปลี่ยนกระบวนการผลิต หรือ Production จากการถ่ายทอดสดเป็นการบันทึกเทป… มีการวางแผนการถ่ายทำ และ จัดทำ Storyboard รวมทั้งการกำหนดมุมภาพระหว่างครู และ ทีมผลิต รวมถึงการออกแบบสื่อกราฟิกที่น่าสนใจ ถูกต้องตามหลักวิชาการ นอกจากนี้ยังสามารถแก้ไขรายการที่สอนให้มีความสมบูรณ์ที่สุด และ ยังนำรายการขึ้นสู่เว็บไซต์ให้คุณครูปลายทางได้รับชม และ เตรียมการสอนล่วงหน้า 3 วัน รวมทั้งสามารถดาวน์โหลดแผนการสอน ใบงาน สื่อต่างๆ ได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ อีกด้วย
  5. เพิ่มช่องทางการออกอากาศ… สามารถรับชมได้ทั้งระบบทีวีดาวเทียม… ระบบออนไลน์บนเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ ผ่าน https://www.dltv.ac.th และ แอปพลิเคชัน DLTV  กับ ช่องยูทูป DLTV 1 Channel – DLTV 12 Channel และ DLTV 15 Channel เพื่อให้สามารถรับชมได้สะดวกและง่ายขึ้นทุกที่ ทุกเวลา

ปัจจุบัน “New DLTV” เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลกว่า 31,000 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนสังกัด สพฐ. หรือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน… โรงเรียนในสังกัด สช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน… โรงเรียน ตชด. หรือ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน… โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา… โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. 

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงาน ทำให้มีจำนวนครูและนักเรียนที่ได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งล้านห้าแสนคน ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่าสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts