ปณิธานปีใหม่ของท่านมีมั๊ยครับ?… หาอาชีพที่สอง… เก็บเงินสักก้อน… ไปเรียนทำอาหาร… ลดน้ำหนัก 5 กิโล… ออกกำลังกายมากขึ้น… และอะไรอีกมากที่ผมไม่คิดว่าตัวเองจะบรรยายครบ ซึ่งไม่ว่าท่านตั้งใจจะทำอะไรดีๆ ให้ตัวเองหรือคนที่รักรอบข้าง สิ่งหนึ่งที่อยากจะให้ท่าน “จดจำและดื่มด่ำ” เมื่อท่านคิดถึงเป้าหมายดีๆ ที่อยากสะสางสร้างทำในปีที่จะถึงนี้ก็คือ… ความสุขที่ได้คิดถึงเป้าหมายที่อยากไขว่คว้าเหล่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ… ความตั้งใจและเป้าหมายที่อธิฐานและตั้งปณิธานในช่วงปีใหม่นี้ ล้วนเป็นเป้าหมายที่ดีอย่างมากต่อเจ้าของปณิธาน แต่จากรายงานการวิจัยทางจิตวิทยาคลีนิคหัวข้อ Success predictors, change processes, and self-reported outcomes of New Year’s resolvers and nonresolvers โดย John C Norcross และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารด้านจิตวิทยาคลีนิค หรือ Journal of Clinical Psychology พบว่า… มีคนเพียง 46% เท่านั้นที่ทำ New Year Resolution สำเร็จตามเป้าหมาย… ซึ่งในจำนวนนี้มีคนที่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายเป็นปณิธานปีใหม่ หรือไม่ตั้งเป้าตอนหัวปี แต่ใช้วิธีตั้งเป้าและทำจนสำเร็จไปเลย เพียงแค่ 4% เท่านั้น… นั่นแปลว่า New Year Resolution มีโอกาสสำเร็จในสัดส่วนที่สูงกว่าถึงสิบเท่าเลยทีเดียว
และถ้าท่านใดสนใจจะท้าทายตัวเองด้วย New Year Resolution อีกสักครั้ง… ผมมีคำแนะนจาก Brad Zomick ซึ่งเผยแพร่ผ่านบทความเรื่อง Top 10 Most Common New Year’s Resolutions and How to Follow Through on Them โดยเสนอแนะเทคนิคการทำปณิธานปีใหม่ให้เป็นจริงเอาไว้ 10 แนวคิดคือ
1. Mentally prepare for change หรือ เตรียมใจสำหรับการเปลี่ยนแปลง
ประเด็นที่ว่า… ปณิธานหรือเป้าหมายที่หวัง ย่อมเป็นเรื่องในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งการจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นตามปณิธานดังว่านั้น… ยังไๆ ก็ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแน่นอน จงทำใจให้พร้อมจะเปลี่ยน และเริ่มเปลี่ยนเมื่อท่านพร้อม
2. Set a goal that motivates you หรือ ตั้งเป้าหมายที่ดึงดูดจูงใจ
คนส่วนหนึ่งตั้งเป้าหมายเป็นปณิธานที่อยากเปลี่ยนแปลงตามครอบครัวหรือคนรอบข้าง ซึ่งส่วนใหญ่ประสบความสำเร็จน้อยมาก หาก “เจ้าตัวไม่ได้อยาก หรือ เห็นความสำคัญ” ตามเป้าหมายเดียวกันนั้น… โดยข้อเท็จจริงเบื้องหลังก็คือ ใครก็ตามที่ไม่ได้ขับเคลื่อนเป้าหมายของตัวเอง ก็ย่อมล้มเหลวทุกอย่างตั้งแต่ยอมเป็นลูกหาบเป้าหมายคนอื่นโน่นแล้ว… แต่ “การอยู่ร่วมกัน” ก็ต้องมีทั้งเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมายร่วมที่ต้องสร้างสมดุลย์
3. Limit resolutions to a manageable amount หรือ จำกัดแนวทางการปรับเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่จัดการได้
การกำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง… ย้ำว่าเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง “ควรตั้งมาแต่เป้าหมายที่ทำได้ไม่ยาก” เพราะเป้าหมายระดับทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยๆ ตั้งแต่ต้น สำคัญกับการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการวาดวิสัยทัศน์หรูล้ำห่างไกลจนเป็นได้แค่ฝันลมๆ เช่น อยากพูดภาษาจีนได้ ก็ควรตั้งเป้าว่าจะไปเรียนภาษาจีน 1 คอร์สเอาพื้นฐาน หรือจะลงแอพสอนสนทนาภาษาจีนเปิดเรียนวันละครึ่งชั่วโมง… แทนการตั้งเป้ากลวงๆ ว่าปีนี้ต้องพูดจีนกลางให้ได้
4. Be specific หรือเจาะจงให้ชัด
ตรงๆ ตามหัวข้อเลยคือ เอาให้ชัดว่าอยากทำอะไร และอยากทำสิ่งนั้นให้สำเร็จตามเป้าหมายไปทำไม?
5. Break up big goals into smaller goals หรือ แบ่งเป้าหมายใหญ่ให้เป็นชิ้นส่วนเป้าหมายเล็กๆ
โดยธรรมชายของเป้าหมายที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจะเป็นเป้าหมายค่อนข้างใหญ่ มีรายละเอียดและองค์ประกอบมากมาย… การทำเป้าหมายให้บรรลุจึงต้องเริ่มที่การแกะองค์ประกอบมาทำทีละส่วนจนกว่าจะครบ
6. Write down your goals หรือ เขียนเป้าหมายบันทึกไว้
คนส่วนใหญ่มีเป้าหมายและความหวังกันทุกคน… และคนส่วนใหญ่แยกได้ว่าเป้าหมายที่สร้างทำด้วยตัวเองคนเดียวเท่านั้นมีอะไรและอย่างไรบ้าง ซึ่งคนที่เข้าใจความสำคัญของเป้าหมายและปณิธานของตัวเอง ที่ต้องทำด้วยตัวเอง มักจะประสบความสำเร็จทุกสิ่งที่เขียนไว้ที่ไหนซักแห่งเพื่อเตือนตัวเองถึงเป้าหมายที่อยากได้และต้องทำ… อย่าเผลอเขียนเป้าหมายที่อยากให้คนอื่นทำโน่นทำนี่ให้เรา… ใส่ปนไว้ก็แล้วกัน
7. Share your resolutions with others หรือ แบ่งปันปณิธานและเป้าหมายให้คนอื่นรู้ด้วย
การประกาศให้คนอื่นรู้ว่า… ตัวเราจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง แม้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกหัวเราะเยาะเย้ยบ้าง แต่โดยเนื้อแท้แล้วเป็นการยืมแรงผลักจากคนรอบตัวที่เรา “กล้าบอกเล่าคำท้าทายตัวเอง” ให้คนเหล่านั้นรับรู้ ช่วยจำ กระตุ้นเตือนและเป็นพยาน… ซึ่งเสียงการทักท้วงถามถึงเป้าหมายที่ยังไม่สำเร็จจากคนอื่น แท้จริงแล้วเป็นทั้งเสียงเตือนและความใส่ใจที่คนเหล่านั้นมอบให้ และส่วนใหญ่จะเป็นการใส่อารมณ์หยอกล้อมากกว่าจะถากถางเย้ยหยันจริงจัง… แต่ถ้ารู้ตัวว่า EQ ต่ำจนรับไม่ไหว ก็แนะนำให้ข้ามข้อไป
8. Automate where possible หรือ ทำกลไกการแจ้งเตือนและติดตามอัตโนมัติ
เป้าหมายและปณิธานที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้ตัวเองนั้น ถือเป็น To-Do-List ที่ควรใส่ในตารางกิจกรรมเหมือนๆ กับภาระหน้าที่การงานอื่นๆ โดยใช้เครื่องมือ To-Do-List มากมายที่สามารถแจ้งเตือนและติดตามความคืบหน้าของสิ่งที่ทำได้… ซึ่งการกำหนดชั่วโมงออกกำลังกายลงในแอพ Asana หรือ กำหนดวันไปเยี่ยมพ่อแม่ลงใน Google Calendar เหมือน To-Do-List ที่ต้องไปประชุม เจอลูกค้าหรือไปร่วมแห่กฐิน จะช่วยให้เรามีวินัยกับสัญญาของตัวเองมากขึ้นมาก
9. Review your resolution regularly หรือ ทบทวนรายละเอียดเป็นประจำ
ตัวเป้าหมายปณิธานที่ใหญ่ ซึ่งต้องแกะทำทีละส่วนนั้น… หลายกรณีเมื่อถึงเวลาสะสางสร้างทำ อาจจะมีรายละเอียดให้ต้องปรับเปลี่ยนผ่านองค์ประกอบและตัวแปรที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ด้วย โดยเฉพาะตัวแปรนอกการควบคุมจากตัวเอง ที่จำเป็นต้องตอบสนองอย่างว่องไว และปรับเปลี่ยนแผนการวิธีการให้สอดคล้องเหมาะสมเสมอ
10. If fall off track, get back on quick หรือ ถ้าหลงทางก็จงกลับเข้าที่ให้เร็ว
ความล้มเหลวต่อเป้าหมายส่วนใหญ่มาจากความผิดพลาดต่อเป้าหมาย ที่ถูกโยนทิ้งโดยไร้ความพยายามที่จะสะสาง สานต่อ หรือพยายามเริ่มต้นใหม่ให้เร็ว… ทั้งๆ ที่ความสำเร็จส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากความพยายามเอาชนะความผิดพลาดโดยไม่ละทิ้งเป้าหมาย… ซึ่งทุกคนรู้ดีว่า “ล้มก็เลิก หมายถึง ล้มเหลวตั้งแต่ตอนที่คิดว่าเลิกไปแล้ว” ทั้งนั้น
ท่านที่อยากสานฝัน และกำลังต้องการสร้างปาฏิหาริย์เล็กๆ ให้กับตัวเองในปี 2021… ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่าจะเป็นปีที่หลายๆ คนต้องพยายามครั้งใหม่ที่อาจจะต้องเหน็ดเหนื่อยหนักถึงหนักมาก ยิ่งกว่าปีนี้ที่ COVID19 กดดันการเปลี่ยนแปลงมากมายใส่ผู้คนทั้งโลกอย่างที่เราท่านก็เจอด้วยกัน…
เจอกันปีหน้าครับ!
References…