Novel Food

Novel Food… ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาหารใหม่สำหรับ SMEs อาหาร #RederSMEs

ธุรกิจแปรรูปอาหารเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ประเทศไทยและคนไทยมีศักยภาพมาก ซึ่งธุรกิจแปรรูปอาหารเองก็มีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยมานาน และยิ่งสำคัญมากยิ่งขึ้นภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ประชาชาติไปสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม… ซึ่งสินค้าแปรรูปอาหาร หรือ สินค้านวัตกรรมอาหารถือเป็นเป้าหมายสำคัญในโครงสร้างตัวเลข GDP ในอนาคต ที่ต้องช่วยกันหาทางเพิ่มตัวเลข GDP จากสินค้านวัตกรรมอาหารทดแทนตัวเลข GDP จากสินค้าเกษตรต้นน้ำอย่างเดียวเหมือนแต่ก่อน

ความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการอาหารแปรรูป และ วงการวิทยาศาสตร์การอาหาร หรือ Food Science จึงคึกคักด้วยแนวคิดและวิทยาการที่เกี่ยวกับอาหาร จนผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ หรือ อาหารแปลกใหม่ หรือ Novel Food ถูกนำเสนอสู่ตลาดและผู้บริโภคมากขึ้นมาก

กรณีของ Plant Based Meat หรือ อาหารคล้ายเนื้อจากวัตถุดิบที่ได้จากการเพาะปลูก ถือเป็นนวัตกรรมอาหารใหม่ หรือ อาหารแปลกใหม่ หรือ Novel Food ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของตลาดและผู้บริโภคอย่างมาก ซึ่งในอนาคตอันใกล้… อาหารอย่าง Plant Based Meat หรือ แม้แต่อาหารจากการเพาะเนื้อเยื่อ หรือ Cell Cultured Food ก็จะเป็นอาหารที่สามารถปรุง หรือ ผลิตขึ้นเองได้จากห้องครัวหลังบ้าน ซึ่งแปลว่า… Novel Food กำลังรุกคืบจากห้องแล็บ สู่สินค้าอาหารตัวอย่างเพื่อทดสอบตลาด และ กำลังเข้าสู่วัฒนธรรมอาหารที่ใครๆ ก็กินในอีกไม่ช้า

ประเด็นก็คือ… เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าอะไรกินได้และอะไรกินไม่ได้?

เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559… กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศ ฉบับที่ 376 เรื่อง อาหารใหม่ หรือ Novel Food โดยมีสาระสำคัญว่า… ในปัจจุบันนี้มีการนำวัตถุที่ไม่เคยบริโภคเป็นอาหารมาใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบอาหาร อีกทั้งมีการพัฒนากระบวนการผลิตอาหารโดยใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยใช้มาก่อน จึงสมควรมีมาตรการการประเมินความปลอดภัยรองรับเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีการให้ความหมายของอาหารใหม่ไว้ 3 ข้อ ดังนี้

  1. อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการว่ามีประวัติการบริโภคเป็นอาหารน้อยกว่า 15 ปี
  2. อาหารใหม่ หมายถึง อาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร ที่ได้จากกระบวนการผลิตที่มิใช่กระบวนการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้นๆ ที่ทำให้ส่วนประกอบ โครงสร้างของอาหาร รูปแบบของอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต (Metabolism) หรือ ระดับของสารที่ไม่พึงประสงค์
  3. อาหารใหม่ หมายถึง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีวัตถุตามข้อ 1 และ ข้อ 2 เป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้ อาหารใหม่ในประกาศฉบับนี้ ไม่รวมถึงวัตถุเจือปนอาหารและอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรม

การพิจารณาว่าอาหารนั้นจะเป็นอาหารใหม่หรือไม่ จึงพิจารณากันที่ระยะเวลาการมีประวัติถูกนำมาบริโภคเป็นอาหาร และ การใช้กระบวนการผลิตแบบใหม่ที่แตกต่างจากการผลิตโดยทั่วไปของอาหารนั้น 

ตัวอย่างเช่น กรณีนำแมลงชนิดที่ไม่ปรากฏหลักฐานทางวิชาการด้านประวัติการบริโภคเป็นอาหาร หรือ มีหลักฐานการบริโภคมาก่อน ภายในระยะเวลาน้อยกว่า 15 ปี มาบริโภคและผลิตขายเป็นอาหาร… จะจัดว่าแมลงชนิดนั้นเป็นอาหารใหม่… หรือกรณีการผลิตอาหารโดยใช้กระบวนการผลิตระดับ Nanotechnology ซึ่งไม่ใช่กระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมของอาหารชนิดนั้น ที่ส่งผลให้ส่วนประกอบของอาหารเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีขนาดอนุภาคเล็กลงกว่าอาหารที่ได้จากกระบวนการผลิตเดิม ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร ก็ให้จัดได้ว่าเป็นอาหารใหม่เช่นกัน

ประเด็นก็คือ… อาหารใหม่ หรือ Novel Food ถือว่ามีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการบริโภค หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งต่างประเทศ และ ในประเทศ… จึงพยายามกวดขัน และ กำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งอาหารที่เข้าข่ายว่าเป็นอาหารใหม่ หรือ Novel Food มาประเมินความปลอดภัยก่อนนำออกจำหน่าย 

หน่วยงานต้นแบบเพื่อการจัดการ Novel Food ถูกตั้งขึ้นโดยหน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป ตามประกาศ Regulation (ec) no 1924/2006 of The European Parliament And Of The Council of 20 December 2006 on Nutrition and Health Claims Made on Foods ซึ่งถือเป็นระเบียบใหม่เกี่ยวกับ Novel Food ซึ่งสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมอาหาร โดยผู้บริโภคชาวยุโรปยังคงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยของอาหาร… ในขณะเดียวกันก็เป็นการเพิ่มประเภทอาหารให้หลากหลาย เพื่อเพิ่มทางเลือกในการบริโภค… ผู้ประการที่ต้องการส่งสินค้าอาหารแปรรูปเข้าตลาดยุโรป จึงควรศึกษากฏหมาย Novel Food ของยุโรปด้วย

สำหรับประเทศไทย… ปัจจุบันมีหน่วยงานรับประเมินความปลอดภัยของอาหารใหม่ หรือ Novel Food ได้แก่

  1. ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
  3. สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม 

อาหารใหม่ที่ผ่านการตรวจสอบ และ ได้รับการรับรองจากหน่วยงานดังกล่าวแล้ว จะสามารถดำเนินการผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายได้ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป… โดยในบางกรณีอาจมีกฎระเบียบเพิ่มเติมสำหรับการแสดงฉลากของอาหารใหม่ เพื่อแจ้งผู้บริโภคให้สามารถบริโภคอาหารใหม่นั้นได้อย่างปลอดภัย… ทั้งคำเตือน… วิธีการปรุง… วิธีการบริโภค… ความเสี่ยง และ คำกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพ ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย

ท่านที่กำลังสนใจ หรือ กำลังพัฒนาสินค้าอาหารที่เข้าข่าย Novel Food อย่าลืมส่งสินค้าอาหารของท่าน ขอประเมินรับรองอาหารใหม่ให้เรียบร้อยไปพร้อมๆ กับการขอประเมินความปลอดภัยอาหาร หรือ การขอ อย. ทั้งขอรับเลขสถานที่ผลิตอาหาร และ ขอรับเลขผลิตภัณฑ์อาหาร จาก อย. ด้วยครับ… ขาดเหลือติดขัด หรือ ต้องการคำแนะนำเฉพาะกรณี ขอทาง Line ส่วนตัวที่ ID: dr.thum ครับ

References…

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts