คนเราแตกต่างกันที่บุคลิกภาพ หรือ Personality ซึ่งเป็นลักษณะส่วนบุคคล ที่ทำให้แต่ละคนแสดงพฤติกรรมต่างกันอย่างชัดเจน บางคนร่าเริง บางคนเครียดง่าย บางคนพิถีพิถัน บางคนอ่อนไหว ในขณะที่บางคนขี้หงุดหงิด ดุร้าย พูดมาก เงียบขรึม บ่อน้ำตาตื้น แสนดี หรือ เอาแต่ใจ
นักจิตวิทยาได้ศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับบุคลิกภาพ และส่งผลต่อพฤติกรรม รวมทั้งการตัดสินใจของผู้คน โดยการศึกษาเทียบเคียงพฤติกรรมของปลาหางนกยูงที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีสัตว์น้ำนักล่าอยู่ร่วมด้วย เปรียบเทียบกับพฤติกรรมของปลาหางนกยูงที่เพาะขึ้นในห้องทดลองจนพบว่า… สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของกลุ่มที่มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งแสดงพฤติกรรมหลบเร้นเพื่อเอาตัวรอดเมื่อมีความเคลื่อนไหวผิดปกติอย่างชัดเจน ผิดกับกลุ่มปลาหางนกยูงที่เพาะขึ้นใหม่ในห้องทดลองที่ไม่เคยเจอผู้ล่ามาก่อน จะยังคงใช้ชีวิตแวกว่ายเป็นปกติ แม้ถูกกระตุ้นให้ตื่นกลัว
พฤติกรรมของปลาจากสองแหล่งที่มา สามารถเทียบเคียงอธิบายถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เติบโตขึ้นของสิ่งมีชีวิต มีผลกับบุคลิกส่วนตนได้อย่างชัดเจนรวมทั้งมนุษย์ด้วย… ในขณะที่การศึกษาพฤติกรรมของคู่แฝดที่ถูกแยกกันเลี้ยงดูจำนวนหนึ่งก็พบว่า… พฤติกรรมและปัจจัยบุคลิกภาพของคู่แฝดส่วนใหญ่ มีการแสดงออกเหมือนกันและคล้ายกันอย่างมีนัยยะสำคัญจนสรุปได้ว่า… ยีนส์และกรรมพันธ์มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพอีกหนึ่งปัจจัยอย่างชัดเจนเช่นกัน
ประเด็นมีว่า… ในทางจิตวิทยาถือว่าบุคลิกภาพบอกและทำนายอนาคตคนได้ เช่น กรณีที่ท่านเป็นคนขยัน เป็นคนวางใจได้ และเป็นคนอดทน… ในทางจิตวิทยาจะจัดท่านให้อยู่ในกลุ่มคนที่มีบุคลิกภาพแห่งความสำเร็จ หรือ กลุ่มบุคลิกภาพพิถีพิถัน ซึ่งระดับความพิถีพิถันที่ต่างกันระหว่างบุคคล สามารถใช้ “พยากรณ์ความสำเร็จล้มเหลว” ของบุคคลได้ค่อนข้างชัดเจน ซึ่งบุคลิกภาพพิถีพิถัน หรือ Conscientiousness ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโมเดลลักษณะบุคลิกภาพหลัก 5 ประการที่นักจิตวิทยาใช้เป็นกรอบประเมินบุคลิกทั่วไป
ลักษณะบุคลิกภาพหลัก 5 ประการ หรือ Big Five Personality Traits หรือ Five Factor Model หรือ FFM ถือเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับมิติหรือปัจจัยใหญ่ 5 อย่าง ที่ใช้อธิบายบุคลิกภาพและสภาพทางจิตใจของมนุษย์ ซึ่งพัฒนาและอธิบายไว้โดย Paul Costa และ R.R. McCrae จากผลงานตีพิมพ์เรื่อง A five-factor Theory of Personality ประกอบไปด้วย
- Openness To Experience หรือ ลักษณะเปิดรับประสบการณ์… จะเป็นคนที่มีพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นแบบมีและใช้สติปัญญา มีสุนทรียภาพ และยินดีที่จะลองสิ่งใหม่ๆ และมีความคิดสร้างสรรค์ เข้าใจความรู้สึกตัวเอง และมีโอกาสที่จะมีความเชื่อในแบบของตนเป็นพิเศษ
- Conscientiousness หรือ ลักษณะพิถีพิถัน… เป็นพฤติกรรมบุคลิกที่โน้มเอียงจะเป็นคนมีวินัย ทำตามหน้าที่ ตั้งเป้าหมายและไขว่คว้าความสำเร็จอย่างมีหลักเกณฑ์ สามารถควบคุม ปรับระดับ และจัดการอารมณ์ชั่ววูบ หรือความหุนหันพลันแล่นของตนได้ ชอบวางแผนและทำตามแผน โดยระดับความพิถีพิถันจะเพิ่มสูงขึ้นตามวัย
- Extraversion หรือ ลักษณะสนใจต่อสิ่งภายนอก… เป็นพฤติกรรมของคนที่ชอบการทำกิจกรรมพัวพันกับโลกภายนอก และปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น มักถูกมองว่าเป็นคนบ้าพลัง กระตือรือร้น และชอบทำมากกว่าคิด มักโดดเด่นในกลุ่ม ชอบพูดคุย และแสดงออก
- Agreeableness หรือ ลักษณะอ่อนโยนเห็นใจ… เป็นพฤติกรรมของคนที่เห็นคุณค่าของผู้อื่น มักจะเกรงใจผู้อื่น ใจดี ใจกว้าง เชื่อใจผู้อื่นและผู้อื่นเชื่อใจได้ เอื้อเฟื้อช่วยเหลือผู้อื่น และประนีประนอม
- Neuroticism หรือ ลักษณะไม่มั่งคงทางอารมณ์… เป็นพฤติกรรมของคนที่มีความอดทนต่อความเครียดและสิ่งเร้าที่ไม่พึงใจต่ำ มีอารมณ์อ่อนไหวและไวต่อเหตุการณ์ที่หวาดระแวง ขุ่นมัวง่าย ขัดข้องคับแค้นกับประเด็นเล็กน้อย และอารมณ์จิตใจ รวมทั้งปฏิกิริยาเชิงลบของคนเหล่านี้มักจะคงอยู่กับเจ้าตัวยาวนาน จึงมักเป็นคนมีพื้นอารมณ์ไม่ดีจนเป็นบุคลิก
การอธิบายลักษณะบุคลิกภาพผ่านกรอบ Five Factor Model ทั้ง 5 ที่กล่าวมานี้ บ่อยครั้งมีการเรียกโมเดลนี้ว่า OCEAN โดยเรียงตามลำดับอักษรตัวหน้าของโมเดล… แต่ก็พบบางกรณีที่สลับตัวอักษรใหม่เป็นเรียกว่า CANOE บ้าง… และให้ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกัน โดยไม่มีนัยยะทางรายละเอียดใดแตกต่างกัน…
การประเมินบุคลิกภาพที่ทำโดยนักจิตวิทยา ภายใต้กรอบ OCEAN จะมีการใช้เครื่องมือประเมินอยู่ 2 แบบหลักๆ คือ Big Five Inventory (BFI) และ The Big Five Personality Test เพื่อนำคะแนนจากแบบทดสอบมาแปลผล โดยเทียบคะแนนเพื่ออธิบายลักษณะบุคลิกภาพที่ได้จากตัวแปรทั้งหมดว่าอยู่ระดับไหนหมายถึงบุคลิกภาพแบบไหนและอยู่ในระดับใดด้วย
ผมขอข้ามที่จะกล่าวถึงการใช้แบบทดสอบและการแปลผลตามคะแนนที่ได้จากเครื่องมือประเมินทั้งสองแบบครับ… หนึ่งคือผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ และอีกหนึ่งคือผมหาเครื่องมือภาษาไทยที่แปลถูกต้องและมีการรับรองชัดเจนไม่ได้
ส่วนประเด็นสำคัญที่อยากจะพูดถึงจริงๆ จนยกมาพูดถึงในวันนี้ก็คือ… คนส่วนใหญ่มองเห็นบุคลิกคนอื่นค่อนข้างชัดเจนและประเมินถูกต้อง ผ่านพฤติกรรมและการแสดงออกที่ติดอยู่กับบุคลิกภาพของคนอื่นที่ตนมองอยู่… แต่น้อยคนที่จะมองเห็นและประเมินบุคลิกตัวเองได้ชัดเจนถูกต้อง โดยเฉพาะพฤติกรรมและการแสดงออกที่ติดอยู่กับบุคลิกภาพของตัวเอง รวมทั้งคำอธิบายพฤติกรรมและการแสดงออกของตัวเอง ที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่า หลายกรณีตัวเองได้แสดงพฤติกรรมเชิงลบต่ออะไร หรือ ต่อใครอย่างไรบ้าง… แม้ในขณะนั้นจะอยู่ในอารมณ์เกรี้ยวกราด ดุดัน หรือ เห็นความเสียหายแตกหัก หรือถึงขั้นบาดเจ็บนองเลือดจากพฤติกรรมตนเองชัดเจนอยู่ตรงหน้าก็ตาม
การเข้าใจบุคลิกของตัวเองที่ถูกต้องว่า… แท้จริงแล้วเราเป็นคนเปิดรับอะไรได้แค่ไหน?… พิถีพิถันกับอะไรแค่ไหน?… อยากรู้อยากเห็นและตื่นเต้นกับสังคมผู้คนและอะไรใหม่ๆ แค่ไหน?… อ่อนไหวเจ้าน้ำตาขี้สงสารกับอะไร?… หรือ เหวี่ยงวีนเดือดดาลกับคนแบบไหนหรือเหตุการณ์แบบไหน?
ซึ่งยีนส์และพันธุกรรมที่แต่และคนสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ บวกกับประสบการณ์ที่มีมากับสิ่งแวดล้อมตลอดตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบันนั้น… หากทำความเข้าใจผ่านมุมมองในมิติของความหมายในชีวิต จุดยืนและตัวตนที่เข้าใจตนผ่านบุคลิกที่ถูกต้อง เหมือนได้มองตนเองผ่านสายตาของคนที่มองเข้ามา… อย่างน้อย ตัวเองก็รับมือกับตัวเอง ให้สามารถรักษาสมดุลย์บุคลิกภาพ ทั้งเชิงบวกลบในตัวให้พลิกเป็นคุณต่อตัวเองได้ดีกว่า
References…