ODOO ลมหายใจอัตโนมัติสำหรับธุรกิจ

ช่วงปีเศษๆ ที่ผ่านมานี้ คำว่า Marketing Automation มีการพูดถึงอย่างมากในวงการธุรกิจ เวบไซต์ thinkwithgoogle.com ได้เผยแพร่บทความชื่อ How turning to automation helped one company drive profitable growth เมื่อช่วงเมษายน 2019 ที่ผ่านมา โดย Jay Roth เจ้าของตำแหน่ง Chief Marketing Officer  ของ Dish Network เครือข่ายทีวียักษ์ใหญ่จากโคโลราโด

บทความของ Roth ชิ้นนี้เองที่ผลักผมออกจาก Comfort Zone และเริ่มมองหาโซลูชั่นเพื่อพัฒนา Business Automation ที่ตัวผมเองเชื่อว่า… วันหนึ่งจะต้องมีลูกค้าบางท่าน สอบถามรายละเอียดกับผมเข้าซักวัน… หรือไม่ก็ลุกมาทำอะไรสนุกๆ แบบที่ผมอยากทำ!

ท่านที่รู้จักผมจะทราบดีว่า ผมเป็นโปรแกรมเมอร์มาค่อนชีวิต Comfort Zone ของผมคือโน๊ตบุ๊คตัวเก่ง กาแฟดำอีกถ้วย หูฟังเบสลึกๆ และ Coding หรือไม่ก็ Contents ตามแผนบ้างตามใจบ้าง กับมุมทำงานตาม Co-working และร้านกาแฟเป็นส่วนใหญ่

ความจริง Marketing Automation ไม่ใช่เรื่องใหม่ และยังมีพัฒนาการมาพร้อมๆ กับ Internet, email และ  Mobile Text Message ตั้งแต่ยุคเพจเจอร์เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว

เพียงแต่ในยุคเริ่มต้น การทำตลาดผ่าน Internet, email และ  Mobile Text Message ยังเป็นการสื่อสารการตลาดแบบทางเดียวเหมือนกับวิทยุหรือทีวีอยู่

จนกระทั่งอินเตอร์เน็ตผ่านความกังวล Y2K เข้าสู่ Web 2.0 ที่โซเชียลมีเดีย มีข้อมูล Audience มากพอและสามารถทำ Segmented ที่แม่นยำทุกมิติ… การตลาดแบบออโตเมติกจึงเกิดขึ้นจริงในยุคของเรา

การตลาดอัตโนมัติ หรือ Marketing Automation กลายเป็นกลยุทธ์ธุรกิจระดับ Enterprise ของทุกองค์กรโดยไม่มียกเว้น รวมทั้งธุรกิจที่ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ต่างก็พาองค์กรและทีม ยกระดับซอฟต์แวร์ในองค์กรไปอีกระดับ เพื่อไปให้ถึงการขับเคลื่อนธุรกิจที่กลไกอัตโนมัติทำงานให้ได้มากที่สุด ซึ่งทุกธุรกิจทราบดีว่า การจะไปถึง Marketing Automation ที่ยอดขายเกิดขึ้นด้วยการออกแรงน้อยกว่าเดิม แต่เพิ่มยอดขายได้มากกว่าเดิม ต้องการข้อมูลและซอฟท์แวร์บริหารจัดการภายในที่ครบเครื่อง…

ผมกำลังพูดถึงซอฟต์แวร์กลุ่ม ERP อยู่ครับ… ERP ย่อมาจาก Enterprise Resource Planning ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์ที่สามารถเชื่อมข้อมูลของทั้งองค์กร ทำให้ข้อมูลที่เคยเป็นแฟ้มๆ กลายเป็นทรัพยากร มากกว่าจะเป็นแค่เอกสารเก่าๆ อย่างที่เคยเป็นมา

เมื่อข้อมูลกลายเป็นทรัพยากร แปลว่าข้อมูลทุกอย่าง สามารถนำมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้ซ้ำแล้วซ้ำอีก… ตรงนี้เองเป็นที่มาของการชูข้อมูลหรือ Data เป็นธงนำในการทำธุรกิจ ที่ในอดีต การทำธุรกิจต้องอาศัยประสบการณ์ล้วนๆ ของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นและเจ้าของกิจการ ในการออกแบบธุรกิจและวางกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

แต่ในปัจจุบัน แม้แต่นักบริหารที่มีประสบการณ์สูงๆ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ต่างก็พาธุรกิจภายใต้การดูแล ไปใช้ข้อมูลชี้นำการตัดสินใจต่างๆ มากขึ้น… และระดับการตื่นตัวที่จะใช้ข้อมูล ผมกล้ายืนยันว่ามีการตื่นตัวกันอย่างกว้างขวาง

สำหรับผม ช่วงปีเศษๆ มานี้ ผมได้รับโทรศัพท์จากเบอร์แปลกๆ ที่ไม่รู้จักเกือบทุกสัปดาห์ ตั้งแต่โทรมาชวนผมไปร่วมงาน ไปเป็นที่ปรึกษา หรือแนะนำซอฟท์แวร์สำหรับใช้ทำธุรกิจในยุคข้อมูลข่าวสาร นำหน้าประสบการณ์และสายสัมพันธ์อย่างที่เคยเป็นมา

คำตอบผมที่มีให้กับทุกท่านจะเหมือนๆ กันคือ ผมงานเยอะจนไปร่วมงานกับท่านเหล่านั้นไม่ไหวแล้ว และผมมีเป้าหมายที่ถอยออกจากการทำงานทีมใหญ่แบบองค์กร และสุดท้ายผมแนะนำซอฟท์แวร์ ERP หลายตัวไป พร้อมกับแหล่งสืบค้นหาผู้เชี่ยวชาญ… และส่วนใหญ่ผมแนะนำระบบ ERP ที่พัฒนาแบบ OpenSource ชื่อ ODOO ไปด้วยเสมอ

Odoo เป็นชุดโปรแกรมจัดการทางธุรกิจ แบบ open source ที่บูรณาการระบบงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ตั้งแต่การจัดซื้อ จัดจ้าง การผลิต การขาย บัญชีการเงิน และการบริหารทรัพยากรบุคคล บัญชี เงินเดือน สวัสดิการ ซึ่งแต่ละส่วนงาน จะมีความเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกส่วนภายในองค์กร และมีส่วนบูรณาการข้อมูลกับนอกองค์กรอย่างลูกค้าและพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจด้วย

ODOO เป็น ซอฟต์แวร์ที่ให้ใช้ได้ฟรี คุณไม่จำเป็นต้องเสียเงินค่าลิขสิทธิซอฟต์แวร์ครับ… แต่การติดตั้งใช้งาน อาจจะต้องพึ่งพาโปรแกรมเมอร์ หรือนักพัฒนาระบบที่ชำนาญด้านซอฟท์แวร์ธุรกิจระดับหนึ่ง… ตัว ODOO เองจะเป็นเหมือนโครงสร้างที่สามารถต่อเติมคุณสมบัติของระบบได้ไม่สิ้นสุด แน่นอนว่าปลั๊กอินหรือโมดูลหลายตัวไม่ได้ฟรี แต่ค่าใช้จ่ายก็ไม่ได้สูงจนแตะต้องไม่ได้เหมือนระบบ ERP ราคาแพงลำดับต้นๆ ส่วนกรณีตัวอย่างการใช้งานก็อย่างเช่น

ท่านเป็นร้านขายอาหารขนาด 20 โต๊ะ ต้องการ Point of Sale (POS) หรือเครื่องคิดเงินหนึ่งเครื่อง… ท่านก็เพิ่มโมดูล POS เข้าไปในระบบของ ODOO หาเครื่องคอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ มาทำระบบและใช้ Tablet อีกตัวกับเครื่องพิมพ์สลิป แค่นี้ก็เครื่อง POS ไว้ใช้งานแล้วครับ… เมื่อท่านไปซื้อวัตถุดิบมาเตรียมอาหารขาย ท่านก็สามารถเพิ่มโมดูลบัญชีต้นทุนเข้าไปในระบบของ ODOO และกรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ… ในครัวอะไรหมดก็สามารถตัดสต๊อคแจ้งคนซื้อของผ่านระบบมาได้เลย… ส่วนบัญชีเงินเดือน สวัสดิการและโบนัส หรือแม้แต่คอมมิชชั่นของพนักงาน ก็สามารถเพิ่มโมดูล HR หรือ Human Resource Management เข้าไปในระบบของ ODOO ได้ด้วยเช่นกัน… สุดท้าย ตัวเลขทั้งหมดที่วิ่งอยู่ในระบบ ก็สามารถดึงออกมาทำบัญชีงบดุลดูภาพทั้งหมดได้

หลายเดือนต่อมา ข้อมูลเหล่านั้นจะบอกหลายอย่างเช่น เมนูไหนขายดี… เมนูไหนขายดีแต่กำไรน้อย… วัตถุดิบชิ้นไหนเหลือค้าง… ลูกค้าเข้าร้านเวลาไหนมากที่สุด… โต๊ะหมายเลขอะไรคนนิยมนั่ง ฯลฯ

ข้อมูลทั้งหมด… ท่านไม่ต้องสังเกตุ ข้อมูลจะบอกให้เอง… ท่านไม่ต้องใช้ประสบการณ์สูงส่งหรือลองผิดลองถูก ข้อมูลจะบอกเอง… สิ่งสำคัญคือตัดสินใจให้เป็นก็เพียงพอครับ

คราวหน้ามาคลี่ดูกันชัดๆ ว่า… ODOO มีฟังก์ชั่นอะไรให้ใช้บ้าง และใช้ยังไง!!!

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts