ความเคลื่อนไหวในการผลักดันผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทย โดยมี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา หรือ สกศ. เป็นแกนหลักในการผลักดัน ซึ่ง สกศ. ได้จัดประชุม “แผนการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ… สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ… สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล
เนื่องจากที่ผ่านมาผลการประเมินความสามารถด้านการแข่งขันทางการศึกษาของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับนานาชาติ ยังมีข้อกังวลที่ต้องเร่งแก้ไข เช่น ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ… อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษา… รวมถึงบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาบางส่วนมีสมรรถนะไม่ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ… สกศ. จึงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำแผนการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก ด้วย 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่
- ยกระดับผลการประเมิน PISA หรือ โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ เล็งอัปคะแนนเฉลี่ย PISA ในแต่ละวิชาไม่น้อยกว่า 470 คะแนน ภายในปี 2570 มุ่งให้เด็กไทยอ่านออกเขียนได้ มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ประยุกต์ความรู้เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพได้เป็นอย่างดี
- ยกระดับผลการจัดอันดับ IMD หรือ ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่างๆ โดยในปี 2565 อันดับ IMD ด้านการศึกษาไทยทะยานขึ้น 3 อันดับ อยู่ที่อันดับ 53 แผนยกระดับฯ จะเข้ามาช่วยผลักดันการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยการจับมือกับทุกองค์กรช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม หวังขยับอันดับ IMD ด้านการศึกษาของไทยสู่อันดับที่ 40 ภายในปี 2570
- การยกระดับผลการจัดอันดับ WEF หรือ ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันของสภาเศรษฐกิจโลก ด้วยการจัดการศึกษาให้สามารถผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง ปั้นคนตรงสเปกตลาดแรงงาน เพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีงานทำ
ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการสภาการศึกษาให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวว่า… เบื้องต้นแต่ละองค์กรจะส่งแผนปฏิบัติราชการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผลการจัดอันดับต่างๆ มายัง สกศ. เพื่อประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูลมาต่อยอดยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้าน… มีจุดเน้นคือการร่วมกันกำหนดเป้าหมายด้านการศึกษาไทย สร้างความเข้าใจให้ภาคเอกชนรับทราบผลการจัดการศึกษาตามประเด็นที่อยู่ในการสำรวจความเห็นของ IMD และ บูรณาการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อใช้ประโยชน์ด้านความต้องการ และ ข้อมูลด้านการผลิตกำลังคน เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยต่อไป
ก่อนหน้านั้น… ในการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 โดยมี คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ก็ได้เห็นชอบ “แผนยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาไทยในเวทีโลก” ทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ดังที่ปรากฏในข้างต้น โดยที่ประชุมในคราวนั้น ยังได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการสภาการศึกษา 9 คณะ ได้แก่
- คณะที่ 1 ด้านอำนวยการ… เนื่องจากเลขาธิการ สกศ. นำเสนอต่อที่ประชุมเกี่ยวกับภารกิจของคณะอนุกรรมการฯ ที่มีความสอดคล้องตรงกับภารกิจประจำของ สกศ. จึงขอชะลอการดำเนินการ
- คณะที่ 2 ด้านนโยบายและแผนการศึกษา… วางแนวทางขับเคลื่อนวาระเร่งด่วนสำคัญทางการศึกษาสู่การปฏิบัติในเบื้องต้น คือ ระบบธนาคารหน่วยกิต… การจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (กรณีผู้ที่มีความสามารถพิเศษ)… มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านการศึกษาด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และ ภาคเอกชน และ การพัฒนาและเสริมสร้างสมรรถนะบุคลากรและระบบบริหารการศึกษาภายใต้ Digital Transformation
- คณะที่ 3 ด้านประเมินผลจัดการศึกษา… พิจารณาเสนอความคิดเห็น หรือ ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการประเมินผลการพัฒนาการศึกษา ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ มาตรฐานการศึกษาของชาติ นโยบายการศึกษาของประเทศ และ การประเมินผลประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรทางการศึกษา
- คณะที่ 4 ด้านกฎหมาย… จัดทำข้อเสนอแนวทางพัฒนากฎหมายการศึกษา ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองที่ออกตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ให้ความเห็นข้อกฎหมายที่มีการหารือ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสภาการศึกษา รวมทั้งขับเคลื่อนการส่งเสริมความรู้ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม
- คณะที่ 5 ด้านมาตรฐานการศึกษา… เสนอแนะเชิงนโยบายในการดำเนินงานขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติ การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา และ ระบบจัดการเรียนรู้ เพื่อให้การจัดการศึกษาสอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ ต่อ บอร์ด สกศ. ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566
- คณะที่ 6 ด้านเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา… ศึกษาวิจัยสภาพการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของประชาชนระดับจังหวัด โดยจัดทำและพัฒนาเป็นฐานข้อมูลภาคีเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ 77 จังหวัด
- คณะที่ 7 ด้านวิจัย เทคโนโลยีดิจิทัล และ นวัตกรรมด้านการศึกษา… จัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อตอบโจทย์ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยเป็นการดำเนินการตามภารกิจ ซึ่งต้องฉายภาพมหภาคเชิงระบบ ให้เห็นโจทย์และเป้าหมายของประเทศร่วมกัน อีกทั้งกำหนดกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดทำแผนเชื่อมโยง วิเคราะห์ช่องว่าง และ มุ่งขับเคลื่อนการเรียนรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้รับความสนใจหรือมีมาตรการสนับสนุนน้อยจากหน่วยงานต่างๆ จะสามารถเห็นผลได้ชัด ลดข้อขัดแย้งขับเคลื่อนได้เร็วขึ้น
- คณะที่ 8 ด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะ… ขับเคลื่อนภารกิจ สกศ. ในประเด็นการส่งเสริม สร้างจิตสำนึกในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม จิตอาสาและสำนึกสาธารณะให้กับผู้เรียน
- คณะที่ 9 ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการศึกษาพิเศษ… ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ บุคคลที่มีความสามารถพิเศษ บุคคลที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
References…