การทำงานร่วมกันในยุคที่อินเตอร์เน็ตได้กลายเป็นพื้นฐานและช่องทางการสื่อสารภายในทีม ซึ่งการสื่อสารในทางเทคนิค จะถือเป็น “เครื่องมือความสัมพันธ์” ที่จะทำให้ “คนกับคน” สามารถแบ่งปันความคิด ความรู้สึก ความต้องการ และ จินตนาการระหว่างกัน จนทำให้สังคมที่เกิดจากผู้คนมากมายมาอยู่ร่วมกัน มีพลวัตรในเชิงพัฒนาทุกเรื่องร่วมกัน จนกลายเป็นสังคมมนุษย์อย่างที่เห็นและอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
การทำงานร่วมกันในยุคที่อินเตอร์เน็ตโดยมีเครื่องมือสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตมากมายอย่างในปัจจุบัน ทำให้เกิดการร่วมงานกันได้ทั้งใกล้ชิดแบบเข้าออฟฟิศทำงานพร้อมกัน และ แบบทางไกล หรือ Remote Collaboration ซึ่งปัจจัยความสำเร็จในวันที่การสื่อสารอันเป็นเครื่องมือความสัมพันธ์ ได้เปิดกว้างให้ “คนกับคน” สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายและความสำเร็จร่วมกัน ได้หลากหลายและยืดหยุ่นกว่าการมาเจอกันมาก
แต่ความสำเร็จล้มเหลวบน “ความร่วมมือร่วมแรง” นั้น… ยังไงๆ ก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคนในทีมบน Three Kinds of Collaboration หรือ บริบทความร่วมมือสามเส้า ที่คนในทีมใช้เป็นรูปแบบในการร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย และ ความสำเร็จเดียวกันคือ
- Physical Collaboration หรือ การทำงานใกล้ชิดในสถานที่และเวลาเดียวกัน หรือ การเข้าออฟฟิศทำงานพร้อมกันแบบที่คุ้นเคยกันมานาน ซึ่งถ้าจบงานบนออนไลน์ไม่ได้เพราะอยู่ไกลกัน… ก็จำเป็นต้องนัด หรือ กลับเข้าออฟฟิศมาเจอกันตัวเป็นๆ แม้จะยืดเวลาความก้าวหน้าออกไปบ้างก็ตาม
- Operational Collaboration หรือ การกำหนดกลไกความร่วมมือในการทำงาน หรือ การทำ Action Plan แบบละเอียดว่าใครต้องรับผิดชอบหน้าที่อะไร ตอนไหน เมื่อไหร่ ด้วยเครื่องมือ ทรัพยากร และ ทักษะอะไรอย่างไร… พร้อมจ่ายงาน และ ติดตามผลงานอย่างเป็นระบบ
- Affinity Collaboration หรือ การสร้างและใช้สายสัมพันธ์ของคนในทีม เพื่อให้เกิดผลงานร่วมกันบน Values หรือ ค่านิยมเดียวกัน… ด้วย Trust หรือ เชื่อมั่นนับถือกัน และ Interdependency หรือ พึ่งพาอาศัยกันได้
บทความเรื่อง How to Collaborate Effectively If Your Team Is Remote โดย Erica Dhawan และ Tomas Chamorro-Premuzic บน Harvard Business Review ชี้ว่า… สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในยุคที่ต้องทำงานร่วมกันแบบประสม หรือ Hybrid Collaboration นั้น… ทีม และ ผู้นำควรเฝ้าติดตาม Affinity หรือ ความสัมพันธ์ ของทุกคนในทีม… ซึ่งการสื่อสารทางไกลในหลายๆ กรณีอาจจะกลายเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของความร่วมมือในการทำงานได้ ถ้าการสื่อสารไปทำลายความสัมพันธ์ของคนในทีม… โดยเฉพาะ “ข้อความ” ในช่องทางสื่อสาร ที่มักจะมีทั้งข้อความสั้น และ ข้อความยาว ไปจนถึงข้อความไร้สาระบนมุมมองของสมาชิกทีมบางส่วน โดยเฉพาะข้อความเชิงลบต่อทีม หรือ องค์กร ที่อาจจะมีสมาชิกทีมบางคนแสดงท่าทีคุกคาม หรือ โจมตีสมาชิกทีมคนอื่น… ซึ่งจะไปทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกันลง
นอกจากนั้น… ความอ่อนไหวต่อความคาดหวังในการโต้ตอบ หรือ Response ระหว่างกันผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์ โดยเฉพาะการสื่อสารด้วย “ข้อความ” ซึ่งหลายกรณีคงไม่มีใครสามารถโต้ตอบได้ทันทีแบบแชทบอท… โดยทีมควรมีข้อตกลงเรื่องการตอบข้อความที่สมควรพิจารณาเป็นคาบเวลาที่เหมาะสมในการตอบกลับข้อความ เช่น 3 หรือ 6 ชั่วโมง… แต่ก็ควรมีช่องทางสื่อสารเร่งด่วนแบบ “คุยทันที” เผื่อประเด็นร้อนเอาไว้ด้วย
ประเด็นก็คือ… ทำงานร่วมกันแบบประสม หรือ Hybrid Collaboration ในส่วนที่ใช้การสื่อสารทางไกลระหว่างกันนั้น… แม้จะชดเชยโอกาสที่การมาเจอหน้าช่วยกันทำงานได้หลายกรณี และ มีประโยชน์อย่างมาก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การทำงานร่วมกันบนเครื่องมือสื่อสารออนไลน์นั้นไม่ง่าย และ มีอุปสรรคมากมายไม่ต่างจากการนั่งรถฝ่าการจราจรติดขัดหนักหน่วงมาเจอกัน… โดยเฉพาะรายละเอียดในการสื่อสาร ที่มักจะด้อยค่าและความสำคัญของประเด็นลงกว่าที่เป็นจริงเสมอ ยิ่งถ้าเจอจังหวะเน็ตล่ม ไฟดับ มือถือตกน้ำระหว่างนั้นก็จบกัน
แต่ไม่ว่าจะขับเคลื่อนเป้าหมายแบบไหน โดยทำงานร่วมกันอย่างไร… การมาเจอกันทั้งออนไลน์และออนไซท์ก็ยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งต้องสานต่อเป้าหมายหลังการพบปะนั้นจนได้ทำงานร่วมกันจริงๆ เท่านั้นจึงจะได้งาน… เหมือนที่ Henry Ford เคยบอกไว้ว่า… Coming Together is a Beginning, Staying Together is Progress, and Working Together is Success. / การเจอกันคือการเริ่มต้น, การอยู่ร่วมกันคือความก้าวหน้า, และการได้ทำงานด้วยกันจึงจะเป็นความสำเร็จ
References…