การสอบ ถือเป็นธรรมเนียมการเรียนการสอน อันเป็นกิจกรรมสำคัญของโรงเรียน สถานศึกษา ที่วงจร “สอนและสอบ” คือกิจกรรมภาคบังคับ โดยยึดผลการสอบเป็นตัวชี้วัดผลการเรียน ซึ่งการสอบที่เราคุ้นเคยและผ่านกันมาตั้งแต่เด็ก ในทางเทคนิคจะเรียกว่า Close Book Exam หรือปิดตำราเข้าสอบ อนุญาตให้เอาแต่ดินสอปากกายางลบเท่าที่จำเป็นติดตัวเข้าห้องสอบได้ และยังใช้คนคุมสอบ เฝ้าและกวาดสายตาคอยจับผิดตลอดเวลา
ประเด็นก็คือ… การสอบแบบ Close Book Exam เป็นการวัดความจำ ซึ่งหลายครั้งการอ่านหนังสือก่อนสอบตรงหัวข้อในข้อสอบพอดี ก็มักจะสอบได้กันทุกคน… ที่น่าหัวเราะที่สุดก็คือ ข้อสอบหัวข้อ Critical Thingking ที่พยายามสอนกันในระดับปริญญา… บางมหาวิทยาลัยออกข้อสอบเป็น Close Book Exam แถมยังออกเป็น Multiple Choice ตั้งคำถามว่า “ข้อใดคือความหมายของ Critical Thinking” แล้วก็ใส่ตัวเลือกถูกหนึ่งผิดสามเรียงใส่ กขคง ให้นักศึกษาเลือก… ซึ่งแม้แต่นักศึกษาเองยังเอามาค่อนขอดลับหลังอย่างฮา ทั้งที่เรียนจบมาแล้วหลายปี เพราะสอนเรื่องฉลาดคิดดันออกข้อสอบมาวัดความจำ
ประเด็นที่นักการศึกษา ครูอาจารย์ที่อยากเห็นเด็กหรือนักเรียนนักศึกษา “คิดเป็น” จึงเป็นเรื่องโคตรฮาที่การสอบและข้อสอบวัดความรู้ที่ใช้กันอยู่ ท่านวัดความจำ ซึ่งติวเตอร์ใช้เวลาน้อยกว่าครูในโรงเรียน 20 เท่าก็เจาะข้อสอบแบบนั้นได้กระจุย ยิ่งกว่าเปิดหนังสือสอบเป็นไหนๆ
ในโลกปัจจุบัน… ความรู้กับข้อมูลกำลังหลอมรวมเป็นสิ่งเดียวกัน แถมยังมีมากและเกิดเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่งที่มนุษย์คนไหนก็จำไม่ไหวแน่นอน การเรียนการสอนพื้นฐานที่ต้องจำ “จึงต้องระมัดระวังและพิจารณาอย่างรับผิดชอบในการออกแบบหลักสูตรไปจนถึงโมเดลการประเมินหรือการสอบ” และควรเน้นไปที่ หลักคิดเพื่อส่งเสริมทักษะการใช้เครื่องมือสกัดความรู้… ซึ่งอีกชื่อหนึ่งของความรู้ก็คือ “ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง” จากข้อมูลมากมายมหาศาลแทน
การสอนให้คิด จึงต้องใช้เครื่องมือประเมินวิธีคิด และดูผลการคิดประกอบ และไม่ควรใช้การประเมินด้วยข้อสอบวัดความจำ ให้กลายเป็นเรื่อง “วัดระยะทางเป็นกิโลกรัม” ที่เป็นเรื่องตลกร้ายมาช้านานในแวดวงการศึกษา บ่อยครั้งที่เลวร้ายถึงขนาด สอนแบบหนึ่งแต่ไปลอกข้อสอบอีกแบบหนึ่งมาสอบนักเรียน ก็ยังมี!…

ที่สำคัญกว่านั้นคือ การเรียนการสอนหลังวิกฤตโควิด ที่สร้าง New Normal เรื่อง eLearning และการจัดการศึกษาออนไลน์ ที่ผมเห็นการคุมสอบออนไลน์ผ่านโปรแกรม ZOOM มากับตาสดๆ ร้อนๆ จนหัวเราะท้องแข็ง ทั้งที่อยากร้องไห้ใจจะขาด… ความจริงคือ การประเมินความรู้และทักษะ มีวิธีการและหลักการมากมาย ที่ได้รับการยอมรับ โดยเฉพาะการสอบเด็กโตและนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ที่แวดวง eLearning ทั่วโลกพูดถึง Open Book Exam และ Take Home Exam กันมานานแล้วครับ
Open Book Exam หรือการสอบแบบอนุญาตให้ใช้เอกสารหรือหนังสือตำราเรียน เข้าสอบได้อย่างเปิดเผย รวมทั้งการใช้ Search Engine และอินเตอร์เน็ตช่วยหาคำตอบได้ด้วย…
ก่อนอื่นท่านต้องลบภาพการนั่งในห้องสอบที่เงียบสงัด รวมทั้งเสียงส้นรองเท้าครูไสว ที่เดินจับผิดเลาะดูทุกโต๊ะ… ออกไปจากหัวให้หมดก่อน… แล้วนึกถึงการเข้าห้องสอบพร้อมหนังสือสี่ห้าเล่ม มือถือ กับชีทสรุปอีกหอบใหญ่
ซึ่งถ้าเข้าห้องสอบพร้อมหนังสือไปเจอข้อสอบ “เลือกคำตอบที่ถูกต้อง” ก็คงไม่ต้องสอบกันให้เสียเวลา… แต่ข้อสอบ Open Book Exam ที่ดีไม่ได้ออกแบบทดสอบความจำตรงๆ ดื้อๆ อย่างที่เข้าใจ… ข้อสอบ Open Book ที่ดี จะหาคำตอบจากหนังสือหรือในอินเตอร์เน็ตมาตอบตรงๆ ไม่ได้เลย… แถมบางครั้งยังมีการตรวจ Plagiarism หรือการละเมิดวรรณกรรมประกอบอีกด้วยต่างหาก
สาระสำคัญของการสอบและการออกข้อสอบ Open Book Exam จึงเป็นการหาวิธีการประเมิน “ความเข้าใจ” แทนการ “ประเมินความจำ” ที่แก้ได้ง่ายๆ ด้วยการลอกต้นฉบับเท่านั้นเอง… แต่ “ความเข้าใจ” ในขั้นที่สามารถ “อธิบายให้คนตรวจคำตอบเข้าใจสิ่งเดียวกันได้” จึงจะถือเป็นการบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนการสอน ซึ่งมาไกลกว่าการจำได้ ที่อีกหน่อยก็ลืม…
นอกจากนั้น การสอบอีกแบบหนึ่งที่ได้รับการพิจารณาให้ใช้วัดผลการเรียนคู่กับ eLearning ก็คือ Take Home Exam ซึ่งทำผ่านเครื่องมือประเมินที่ออกแบบเป็นชุดการประยุกต์ใช้ความรู้ ที่ต้อง “ค้นคว้าเรียบเรียงคำตอบ” โดยไม่สนใจว่า ผู้เรียนหรือผู้สอบ จะได้คำตอบนั้นมาอย่างไร แม้แต่การได้มาโดยการซื้อหาว่าจ้างคนช่วยจำนวนมาก ซึ่ง Take Home Exam ถือเป็น Open Book Exam ที่ประเมินผ่าน “ผลงาน” ที่ผู้เรียนแก้โจทย์ตามเงื่อนไขและส่งประเมิน
การสอบแบบ Take Home Exam จึงเป็นการสอบแบบเปิดโอกาสให้ใช้ข้อมูล เอกสารอ้างอิง “โดยไม่จำกัดสถานที่และกติกาหยุมหยิม” ในการสอบ… ในขณะที่การสอบแบบ Open Book Exam จะควบคุมการสอบเข้มงวดเรื่องสถานที่และกติกาเฉพาะเกือบทั้งหมด ไม่ต่างจาก Close Book Exam ยกเว้นเรื่องข้อมูล ตำราและเอกสารสืบค้นอ้างอิงที่ “อนุญาตอย่างมีเงื่อนไข” ให้ใช้ประกอบการสอบได้
ประเด็นใหญ่จริงๆ ของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่พื้นฐานการเรียนการสอนออนไลน์ช่วงนี้มีสองประเด็นครับ… เรื่องแรกคือ ผู้สอนไม่เคยมีประสบการณ์การเรียนออนไลน์ หรือแม้แต่เรียนแบบ eLearning มาก่อน แต่กำลังพยายามจะออกแบบการเรียนการสอนออนไลน์แบบลอกตำราและเสิร์ช Google ทำกันอย่างมืดบอด… และ อีกเรื่องคือผู้สอนไม่มี Mindset เรื่องการประเมินความรู้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะประสบการณ์การสอบ การออกข้อสอบและการให้คะแนน Open Book Exam และ Take Home Exam จนขาดภาพและศรัทธาต่อการเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งผมบอกเลยว่า
คิดไม่ได้ ทำไม่เป็น ก็หาทางศึกษาเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์ที่ถูกต้องเสียก่อนยังทันครับ… และกรุณาอย่าออกความเห็นกีดกันอย่างมืดบอด หรือไม่… ก็ถอยไปเถอะครับ คลื่นลูกใหม่มาถึงแล้วจริงๆ
บทความแนะนำเกี่ยวกับการสอบและประเมินความรู้ในบริบท eLearning
- Open Book Exam และ Take Home Exam
- Qualitative eLearning Assessment Methods… วิธีประเมินผลการเรียนเชิงคุณภาพ
- Assessment Method Designed สำหรับ Open Book Examination
- Effective eLearning Assessments Design… ออกข้อสอบออนไลน์อย่างไรให้เข้าท่า
- Summative Assessments in eLearning… กลยุทธ์การวัดความรู้โดยรวมในหลักสูตรออนไลน์
อ้างอิง