มุมมอง… คำพื้นๆ ที่เข้าใจได้ไม่ยาก แม้ในทางปฏิบัติจะเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยสนใจที่จะเข้าใจให้ชีวิตต้องยุ่งยาก… เพราะมุมมองของคนส่วนใหญ่ มาจากการรับรู้ในขณะนั้น บวกประสบการณ์เดิม และ สัญชาตญาณเดิมเป็นหลัก ซึ่งจะถูกใช้โดยอัตโนมัติมากกว่าจะมาหยุดนับหนึ่งถึงสิบพินิจพิเคราะห์ผ่านมุมมองหลายๆ ด้าน… ซึ่งแม้แต่คนที่มีบุคลิกลักษณะโดยพื้นนิสัยเป็นคนรอบคอบ ความรู้สูง ทักษะดี และมีทรัพยากรสนับสนุน “มุมมองและการตัดสินใจ” มากมาย ก็มักจะตอบสนองต่อสถานการณ์ตรงหน้า ด้วยประสบการณ์และสัญชาตญาณเป็นหลักอยู่ดี
ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจดีว่า “มุมมองและการตัดสินใจ” นั้นสำคัญกับตัวเอง… ซึ่งพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออกของทุกคน ล้วนมาจากการตัดสินใจมากมาย ถึงแม้ว่าหลายพฤติกรรมจะทำไปโดยไม่ต้องหยุดคิดหรือไม่ต้องตัดสินใจอะไร แต่ถ้าย้อนกลับไปจนถึงประสบการณ์แรกของพฤติกรรมนั้น ข้อเท็จจริงของการเกิดพฤติกรรมจนสร้างเป็นประสบการณ์และสัญชาตญาณของคนๆ หนึ่ง ล้วนเคยมีจังหวะการตัดสินใจก่อนได้สัมผัสเป็นประสบการณ์นั้นๆ มาก่อนเสมอ… และสถานการณ์ก่อนการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ในภาวะปกติ ก็มักจะคิดและพิจารณาก่อนการตัดสินใจ ผ่านมุมมองของตัวเองมาก่อนทั้งสิ้น… มุมมองจึงมีผลกับการตัดสินใจและอะไรอีกหลายอย่างตามมาทีหลัง โดยเฉพาะ “การปลูกฝังประสบการณ์และสัญชาตญาณ”
ข้อเท็จจริงสำคัญก็คือ… มุมมองไม่ได้เกิดบนข้อเท็จจริงตามที่เห็นทั้งหมดหรือรับรู้ในขณะนั้นทั้งหมด เพราะทุกกรณีที่เห็นภาพจากมุมมอง ก็มักจะมีการตีความโดยใส่ “ทัศนคติและประสบการณ์เดิม” เข้าไปด้วย ซึ่งภาษาพระนักเทศน์ในพุทธศาสนาเรียกว่า “การปรุงแต่ง”
ซึ่งก็ไม่มีอะไรผิด เพราะทุกคนที่เห็นและรับรู้อะไรมาก็ล้วนต้องทำความเข้าใจด้วยความรู้และประสบการณ์เดิม ซึ่งเป็นกลไกทางประสาทวิทยาที่สมองของเรา จะเทียบข้อมูลล่าสุดกับข้อมูลเดิมที่จำไว้ในสมองก่อนโดยอัตโนมัติเสมอ หลายกรณีจึงเกิดภาพลวงขึ้นในสมองโดยสมองเอง ซึ่งปรุงแต่งความเข้าใจขึ้นมา…
การทดสอบภาพลวงตาอันลือลั่นชื่อ Adelson’s Checker-Shadow Illusion ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่อธิบาย “สิ่งที่เห็น กับ สิ่งที่เข้าใจ” อาจจะผิดพลาดจากข้อเท็จจริง
ซึ่งถ้าเรามองภาพตารางหมากรุกช่อง A เทียบกับช่อง B ในภาพฝั่งซ้าย จะดูเหมือนทั้งสองช่องมีเฉดสีต่างกัน… แต่เมื่อใช้แท่งสีเทียบวัดเหมือนรูปฝั่งขวาด้วยซอฟท์แวร์กราฟฟิกกลับพบว่า ทั้งช่อง A และ B มีค่าสีเท่ากันในทางเทคนิคทุกประการ… ซึ่งการที่เราเห็นและสรุปว่าเฉดสีต่างกันในภาพฝั่งซ้ายก็เพราะสมองของเราให้ค่าแสงเงาจากแท่งสีเขียวที่ทอดคลุมช่อง B เลยยังเชื่อว่า เฉดสีในช่อง B ก็ไม่ได้ต่างจากสีตาหมากรุกที่สว่างไม่ถูกเงาบังเหมือนกัน
นั่นแปลว่า… มนุษย์ไม่ได้ป้อนข้อมูลล่าสุดอย่างตรงไปตรงมาให้สมองเท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มี “อารมณ์ กับ ความรู้สึก และ ความเชื่อ กับ ประสบการณ์เดิม” อันหลากหลายปนอยู่กับทุกๆ อิริยาบทเสมอ เราจึงใช้อารมณ์ความรู้สึก ความเชื่อและประสบการณ์เดิมนี่เองมาปรับแต่ง หรือ ปรุงแต่งข้อมูลต้น หรือ Input ใส่สมองให้ต่างไปจากข้อเท็จจริง… ข้อมูลต้นที่ถูกปรุงแต่งก่อนการตัดสินใจจึงมีแนวโน้มที่จะทำให้ “ผลการตัดสินใจ” คาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน… หรือที่แย่กว่านั้นก็คือ เราอาจจะไม่รู้อะไรจริงอะไรลวง จนกว่าจะตรวจสอบทบทวนอย่างดี เหมือนกรณี Adelson’s Checker-Shadow Illusion ก็ได้
หนังสือ Optimism Bias: Why We’re Wired to Look on the Bright Side ของ Tali Sharot ศาสตราจารย์ด้าน Cognitive Neuroscience จาก Department of Experimental Psychology ของ University College London ได้หยิบเอา Bias หรือ ความเอนเอียง ที่มีผลกับการปรับแต่งข้อมูลต้นให้สมองตัดสินใจในกลุ่ม Optimism Bias หรือ ความเอนเอียงด้วยการปรับแต่งมุมมองให้สวยงาม มาอธิบายถึงการมีอยู่ และ ความสำคัญของ “ความลำเอียงให้มุมมองโลกสวย” ที่มีในตัวของทุกคน
Tali Sharot อธิบายว่า… ความเอนเอียงด้วยการปรับแต่งมุมมองให้สวยงาม หรือ มุมมองและการมองโลกในแง่ดี เกิดขึ้นจาก “ขีดจำกัด” ของการมองโลกในแง่ร้าย… ซึ่งด้านหนึ่งของขีดจำกัดนี้ ทำให้คนเรามีความสุขกว่าที่ควรแม้ในยามยากลำบาก… ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของขีดจำกัดนี้ก็ปกปิดสัญญาณเตือนภัยในตัว ที่ควรต้องระมัดระวังผลเสียและผลกระทบด้านเลวร้ายเอาไว้เช่นกัน
การค้นคว้าของ Tali Sharot พบกลุ่มตัวอย่าง 80% มีความเอนเอียงด้วยการปรับแต่งมุมมองให้สวยงาม หรือ เลือกมองโลกในแง่ดี… ซึ่งทำให้คนกลุ่มใหญ่นี้ ประเมินโอกาสที่จะเกิดความพลั้งพลาดกับตนเองไว้ต่ำกว่าข้อเท็จจริง และมี Optimism Bias ซ่อนพลางให้ความคาดหวังด้านดีต่อตัวเองไว้สูงกว่าข้อเท็จจริงที่เป็นไปได้ และ ซ่อนพลางความเชื่อต่อการเกิดเรื่องเลวร้าย ที่อาจจะเกิดกับตัวเองไว้ต่ำกว่าสภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้…

ประเด็นมุมมองที่สร้างมายาคติใส่สมอง และ สมองสะสมมายาคติที่เอนเอียงใส่ประสบการณ์… โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นเรื่องล้ำลึกอย่างมาก
เอาเป็นว่า… การมองโลกในแง่ดี หรือการคาดหวังให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในอนาคต มีข้อดีชัดเจนเรื่องทำให้ลดความกังวลและความสิ้นหวังลงได้ แม้ความผิดพลาดด้วยมุมมองแบบนี้จะสร้างหายนะได้ด้วย… เหมือนกรณีคนที่กล้าเข้าสถานบันเทิงทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงติดโควิดกลับไป แต่เพราะคนกลุ่มนี้คิดว่าตัวเองจะไม่ซวยไปติด และ เชื่อว่าตัวเองไม่โชคร้ายแบบนั้น จึงละเลยจนพลาด
แต่เอกสารด้านจิตวิทยามากมายก็ยืนยันตรงกันว่า… คนมองโลกในแง่ดีจะปรับตัวได้ดีในตอนยากลำบากหรือเกิดปัญหา ถึงแม้ “สิ่งที่วาดหวังไว้” จะไม่เป็นจริงตามที่หวัง แต่คนมองโลกในแง่ดีก็จะรู้จักเรียนรู้จากความผิดพลาดและลองใหม่อีกครั้ง จนทุกอย่างมันลงเอยด้วยดี… คนที่มองโลกในแง่ดีจึงเห็นภาพอนาคตที่สดใสชัดเจนมีรายละเอียดมากกว่าคนมองโลกในแง่ร้ายมาก…
References…