Esan Textile

สินค้าท้องถิ่นไทย… ทำไมติดหล่ม!

ผมอยากพูดถึงสินค้า OTOP ในมิติทางการตลาดมานาน… แต่ผมก็มีประสบการณ์กับสินค้า OTOP ที่เกี่ยวกับมิติทางการตลาดแบบงงๆ จากความพยายามผลักดันสินค้า OTOP หลายกรณีที่บอกไม่ได้ว่า… ล้มเหลวหรือสำเร็จ

สินค้า OTOP มีหน่วยงานอย่างกรมพัฒนาชุมชนเป็นแกนในการผลักดัน ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาพรวมของสินค้า OTOP และธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น ดูดีมีตัวเลขและสถิติน่าสนใจมากจากข้อมูลที่เผยแพร่

แต่ภาพรวมของ OTOP 2562 ที่ผ่านมา เครือข่าย OTOP แถลงตัวเลขรายได้จากการขายสินค้า OTOP ของไทยปี  2562 หายไป 5-10% จากที่เคยทำได้ในปี 2561 ราวๆ 100,000 ล้านบาท…

ถ้ามองข้ามการรายงานตัวเลขสถิติ แต่บอกแบบคร่าวๆ… ยังไงก็ยังเห็นช่องโหว่มากมายที่สินค้า OTOP ยังมีการบ้านอีกมากของทุกฝ่ายที่โจทย์ในวันนี้… ยากและซับซ้อนกว่าในอดีตมากเหลือเกิน

OTOP HERITAGE CENTRAL EMBASSY

ช่วงบ่ายของวันที่ 4 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา… หลังจากนักศึกษาปริญญาโทสาขาการตลาด  วิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยในหัวข้อ “ถอดรหัสสูตรลับฉบับแบรนด์ไทย” โดยทำการศึกษา 3 ด้านด้วยแบบสอบถามออนไลน์ จำนวน 1,032 ราย เพื่อศึกษาการรับรู้สินค้าและกระบวนการตัดสินใจซื้อสินค้าไทยและสินค้าท้องถิ่น และมีการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้บริโภคแต่ละเจเนอเรชั่น ในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 30 ราย รวมทั้งการศึกษาจากกรณีศึกษาจากเจ้าของผู้ประกอบการแบรนด์ไทยอีก 20 แบรนด์… จึงได้จัดสัมนาและนำข้อมูลจากงานวิจัยมานำเสนอในงาน ถอดรหัสสูตรลับฉบับแบรนด์ไทย ณ ห้องประชุมชั้น 2 วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนวิภาวดีรังสิต

ต้องถือว่าเป็นงานสัมมนาระดับปริญญาโทที่แม้แต่หลักสูตรปริญญาเอกหลายๆ หลักสูตรในประเทศไทยก็ยังต้องอายที่ได้ Keynote Speaker ระดับอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศอย่างคุณอดุลย์ โชตินิสากรณ์เข้าร่วมงานสัมมนา… ผมไม่ได้เข้าร่วมงานหรอกครับ แต่ทราบว่าวันนั้นสื่อมวลชนไปกันไม่น้อย เพราะมีการแถลงข่าวการจัดงานล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนสิงหาคมอย่างมืออาชีพ… ที่อาจจะหาไม่ค่อยได้ในแวดวงการศึกษาที่ยังจัดการเรียนการสอนแบบยุคคลาสสิคอยู่

ข้อมูลจากงานสัมมนาที่รายงานโดยเวบไซต์ MarketingOops.com เรียบเรียงไว้อย่างน่าสนใจ… ผมแนบลิงค์ไว้ใต้อ้างอิงให้ท่านที่สนใจตามไปอ่านเพิ่มเติมได้ครับ

โดยข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอ… ยืนยันว่าสินค้า OTOP ไทยยังคงเก่งคิดและเก่งผลิต… มากกว่าจะเก่งหาลูกค้า ช่องทางการตลาดและแบรนด์ ที่เป็นความยั่งยืนของกิจการ…

โดยส่วนตัวผมเชื่อมาตลอดว่า… สินค้าท้องถิ่นและ OTOP เติบโตได้เทียบเท่าสินค้าอุตสาหกรรม ถ้าการตลาดเข้มแข็ง… แต่ผู้ประกอบการ OTOP ส่วนใหญ่ที่ผมได้สัมผัส… ยังหวังพึ่งการตลาดจากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนที่ลงพื้นที่ช่วยพัฒนาและผลักดันสินค้า และใช้ความพยายามไปกับการสร้างสรรค์สินค้า แต่ละเลยช่องทางการขายและความต้องการของลูกค้า ที่เป็นปลายทางอย่างแท้จริง… และหลายกรณียังมองหาพ่อค้าคนกลางไม่ต่างโมเดลการเกษตรที่ขอให้มีคนกลางมาเหมาไปแบบไม่ขาดทุนก็สุขใจแล้ว

ส่วนข้อมูลจากงานสัมนาถอดรหัสสูตรลับฉบับแบรนด์ไทยชี้ชัดว่า… Customer Journey และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ “สินค้าท้องถิ่น” ด้วยความที่ “สินค้าท้องถิ่น” เป็นสินค้าที่สะท้อนเอกลักษณ์ และภูมิปัญญาของท้องถิ่นนั้นๆ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก… เมื่อศึกษา “Customer Journey” จึงพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่รู้จักสินค้าท้องถิ่นจากการไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ หรือไม่ก็งานแสดงสินค้า 

เมื่อทดลองซื้อมาใช้หรือบริโภค และเมื่อใช้แล้วหรือบริโภคแล้ว… รู้สึกพึงพอใจต่อสินค้าท้องถิ่นนั้นๆ อยากกลับไปซื้อซ้ำ แต่ปรากฏว่า… สินค้าหาซื้อไม่ได้ หรือแม้แต่จำชื่อแบรนด์ก็ไม่ได้… นั่นเท่ากับว่า สินค้าท้องถิ่นนั้นๆ พลาดโอกาสการขาย และการรักษาฐานลูกค้าไปแล้ว!

ซึ่งการตัดสินใจซื้อสินค้าท้องถิ่นและสินค้า OTOP ก็ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อนมากไปกว่าเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ที่ดึงดูด… โดยเอกลักษณ์หมายถึง ภูมิปัญญาและ Design อันเป็นกลไกฝั่งผลิตสินค้า… ในขณะที่ภาพลักษณ์จะหมายถึง แบรนด์และช่องทางการจำหน่ายที่เป็นฝั่งการตลาด

ประเด็นก็คือ… ต้องทำทั้งเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ให้ครบและสมดุลครับจึงจะรอด… เพราะถ้าทำแค่ครึ่งใดครึ่งหนึ่ง หรือแม้แต่เอาครึ่งหนึ่งไปฝากใครทำให้ โอกาสที่จะเปลี่ยนจาก OTOP ไปสู่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จคงแทบเป็นไปไม่ได้

ท่านที่ลงแรงไปกับ OTOP จนได้สินค้าดีๆ มาแล้ว… เดินต่อน๊ะครับท่านมาครึ่งทางแล้ว การตลาดไม่ใช่การมองหาพ่อค้าคนกลางหรือคนช่วยอย่างเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน… แต่ควรเป็นท่านที่ต้องลุกมาสร้างแบรนด์ เดินเข้าหาช่องทางการขายและลงทุนกับการพาสินค้าไปเจอลูกค้าด้วยตัวเอง… ถ้าท่านบอกไม่รู้ว่าจะทำยังไง?… ไลน์ @reder ยินดีพูดคุยกับทุกท่านที่ทำ OTOP ครับ!!!

อ้างอิง

https://www.prachachat.net
https://www.marketingoops.com

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Recent Posts