Maslow’s Hierarchy of Needs หรือทฤษฏีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ ได้อธิบายความสำคัญของความสัมพันธ์ มิตรภาพ และความรักต่อคนรอบข้างไว้ว่า… เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์
ประเด็นก็คือ… ครอบครัวที่ดีตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่ดี มีความรักความปราถนาดีระหว่างกัน… องค์กรที่ดีก็ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่ดี ที่สมาชิกองค์กรมีความรักความปราถนาดีระหว่างกัน… เพื่อนที่ดีก็ยึดโยงอยู่ได้ด้วยความสัมพันธ์ที่ดี มีมิตรภาพที่ปราถนาดีระหว่างกัน
โดยความสัมพันธ์ที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นของคุณค่าเชิงบวกมากมาย… โครงการระดับแสนล้านที่ต้องระดมทรัพยากรมูลค่าแสนล้าน ล้วนเป็นไปได้เพราะความสัมพันธ์ที่ยอดเยี่ยม… ลูกหลานที่สืบทอดความสำเร็จของครอบครัวได้ดี ล้วนเติบโตจากครอบครัวที่สร้างบนความสัมพันธ์ที่ส่งต่อ Basic Needs ด้วยรักและปรารถนาดีของสมาชิกครอบครัวเช่นกัน
ประเด็นก็คือ… หลายคนมักเข้าใจผิดว่า การจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ปฏิบัติต่อกัน… ซึ่งแท้จริงแล้ว สิ่งนี้เป็นเพียงปลายทางของการแสดงออก แต่ไม่ใช่คำตอบสู่การเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงลึกที่ยั่งยืน ที่ต้องปรับพื้นฐานที่เรียกว่า Mindset หรือ ปรับวิธีการมองโลกและสภาพแวดล้อมรอบข้างต่างหาก… ที่เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนทุกพฤติกรรมของมนุษย์
เมื่อพูดถึง Mindset… คนส่วนใหญ่รู้จักและเรียนรู้จากหนังสือชื่อ Mindset ที่เขียนโดย Carol S. Dweck ที่โฟกัสไปถึงเพียง Fixed Mindset และ Growth Mindset…
แต่งานของ Dr. Terry Warner นักวิจัยด้านจิตวิทยา ผู้ก่อตั้งสถาบัน Arbinger Institute ประเทศสหรัฐอเมริกา ค้นพบว่า มนุษย์เรามีการกำหนด Mindset ออกเป็น 2 กลุ่มด้วยคือ… Inward Mindset หรือ การมองที่เป้าหมายของตนเองเป็นใหญ่ เห็นคนอื่นเป็นวัตถุสิ่งของ เป็นพาหนะสู่เป้าหมายของตนเอง หรือเป็นอุปสรรคและสิ่งกีดกั้นความสุขของตนเอง หรือแม้แต่เป็นแค่สิ่งไร้ค่า ไร้ตัวตน ไร้ซึ่งความสำคัญ
อีกกลุ่มเรียกว่า… Outward Mindset ที่เป็นการมองคนรอบข้างและเห็นคนเป็นคน ให้ความสำคัญกับผู้อื่นไม่น้อยไปกว่าความสำคัญต่อตัวเอง ทำให้เห็นโลกตามความเป็นจริง และปฏิบัติต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะกับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่กับคนแปลกหน้าในแบบที่ “เห็นเขาเป็นมนุษย์” ผู้มีความปรารถนา เป้าหมาย และความต้องการที่จะมีความสุขที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวเอง… ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการช่วยเหลือและมุ่งเน้นประโยชน์ร่วมกันเป็นที่ตั้ง จนเกิดความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืน

คนที่มี Inward Mindset จะมีพฤติกรรมเชิงลบ ที่ส่งผ่านคำพูดและภาษากายไปยังผู้คนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว แต่คนรอบข้างรับรู้ได้ถึงพฤติกรรมดังกล่าว และจะใช้พฤติกรรมแบบเดียวกันตอบกลับ… เกิดเป็นวงจรแห่งการกล่าวโทษที่ทำให้ความสัมพันธ์ย่ำแย่ เพราะ Inward Mindset จะมอบกล่องหกเหลี่ยมหรือไม่ก็กะลาซักใบ… ที่ครอบงำคนๆ นั้นไว้ให้เห็นแต่ตัวเองไม่ว่าจะหันไปทางไหน
คนมี Inward Mindset จึงใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง ดำเนินชีวิตโดยใช้มุมมองของตนเองเป็นแกน และไม่ใส่ใจแกนร่วมที่มีบนความสัมพันธ์กับคนอื่น ทำให้ภาพและความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้าง ถูกบิดเบือนจนเหลือแต่มุมมองที่เห็นแต่ Needs ของตัวเอง
คนที่มี Outward Mindset จะรักษาความสัมพันธ์ที่เสมอภาค… ให้เกียรติผู้อื่นเท่าๆ กับตัวเอง ซึ่งการพิจารณาบริบทความสัมพันธ์ของคนที่มี Outward Mindset จะไม่มองหาผลประโยชน์หรือการตอบแทนที่เกินจริงจนไร้เหตุผล… โดยเฉพาะการมองหาผลประโยชน์บนความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุล ที่สุดท้าย… มักจะพาคนเห็นแก่ประโยชน์และมักง่าย… ไปติดหล่มความโลภให้เห็นกันมากมาย
คนมี Outward Mindset จึงใช้ความสัมพันธ์เป็นศูนย์กลาง ด้วยการมองคนรอบข้างอย่างที่คนรอบๆ ข้างเป็น… ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งก็คือ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าตัวเองมีทั้ง Growth Mindset และ Outward Mindset ที่คนอื่นๆ ต้องยอมรับและชื่นชมตัวเอง… และจงทราบไว้ด้วยว่า ถ้ายังต้องการการยอมรับจากคนอื่นโดยไม่มีเหตุผลอยู่หล่ะก็!!!… ลองค้น Inward Mindset ตัวเองดูเยอะๆ ก่อนครับ… ลองไล่ตามความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้างดู!
ถ้าเป็นไปได้… ย้ำน๊ะครับว่า ถ้าเป็นไปได้… อย่าลืมข้ามความสัมพันธ์กับคนที่มี Inward Mindset ใต้กะลาครอบเสียด้วย เพื่อที่อย่างน้อยเราจะได้ออกจากวงจรหรือเส้นความสัมพันธ์ที่มี Inward Mindset โยงท่านอยู่
ตามนั้นเลยครับ!!!
One reply on “Outward Mindset…”
[…] Outward Mindset หรือ อ่านหนังสือ The Outward Mindset: Seeing Beyond Ourselves […]