Overconfidence… มั่นใจไร้สติ #SelfInsight

ความมั่นใจ หรือ Confidence ของใครก็ตามแต่ โดยทั่วไปจะถือว่าเป็นทัศนคติผ่านมุมมองในแง่ดีที่มีต่อตนเองอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความพึงพอใจในตนเองที่เกี่ยวพันถึงความสุข ความเชื่อมั่น และ การตัดสินใจที่ดี… แต่ความมั่นใจเกินพอดี หรือ Overconfidence ในทุกกรณี อันเป็นทัศนคติผ่านมุมมองในแง่ดีโดยไม่ใส่ใจผลกระทบ และหรือ ความเสี่ยงอื่นที่เกี่ยวข้อง กลับเป็นจุดเริ่มต้นของความผิดพลาดที่นำพาความเสียหายกระทบกระเทือนมาสู่ตนเองอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้การตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่นเกินพอดีในทุกกรณี มักจะเสียหายกระทบกระเทือนหนักหนากว่าปกติเสมอ โดยหลายกรณีถูกเรียกว่าประมาทบ้าง มักง่ายบ้าง คิดน้อยบ้าง และ ฉลาดน้อยบ้างก็มี

ความมั่นใจ หรือ ความมั่นใจในตนเอง หรือ Confidence เป็น “ความเชื่อ” รูปแบบหนึ่งที่คนๆ หนึ่งมีความเชื่อต่างจากความจริง หรือ ข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน เช่น นักลงทุนคนหนึ่งเชื่อว่าราคาทองคำจะสูงขึ้นจึงทุ่มซื้อทองคำเข้าพอร์ตลงทุนโดยไม่สนใจความเสี่ยงและความผันผวนโดยธรรมชาติของราคาซื้อขายทองคำในตลาดโลก… นักลทุนที่มั่นใจไร้สติจนไม่เคร่งครัดต่อการจัดการความเสี่ยง และ เทเงินลงทุนด้วยความเชื่อแบบนักพนันจึงมักจะมีจุดจบอันน่าเศร้าเสมอ… 

Dr.Don A. Moore จาก Psychology Today อธิบายว่า… Overconfidence หรือ ความเชื่อมั่นเกินพอดี หรือ ความมั่นใจไร้สติ ถือเป็นมาดรแห่งจิตวิทยาความเอนเอียง หรือ Psychological Biases ทุกรูปแบบที่ทำให้คนเรา “เพี้ยน” ไปจากข้อเท็จจริงได้อย่างง่ายดาย

ปรากฏการณ์เชื่อมั่นมากเกินพอดี หรือ Overconfidence Effect จึงเป็นความเอนเอียงทางการรับรู้ที่มีแต่ “ความรู้สึกส่วนตัว และหรือ ความเชื่อส่วนตัว” ซึ่งจะนำไปสู่…

  • การประเมินเหนือข้อเท็จจริง หรือ Overestimation… ซึ่งเป็นการประเมินพร้อมตัวแปรที่เป็นความเชื่อ หรือ ความมั่นใจของตนปะปนอยู่สูงจนการตัดสินใจเอนเอียงไปตามความเชื่อ หรือ ความมั่นใจของตนโดยปริยาย… ซึ่งอาจจะสอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ได้
  • การวางตนเกินฐานานุรูปที่ควรเป็น หรือ Overplacement… ซึ่งเป็นมุมมองเกี่ยวกับตนว่าดี หรือ ด้อยกว่าผู้อื่นโดยขาดข้อเท็จจริงที่ใช้เปรียบเทียบอย่างถูกต้อง ทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับตัวเองถูกบิดเบือนไปจากความจริง เช่น หลายคนเชื่อว่าตนขับรถเก่ง ทั้งๆ ที่การขับในทางโค้งแคบๆ ที่ไม่คุ้นเคยก็ยังใจหายใจคว่ำอยู่ทุกครั้งด้วยซ้ำ
  • การแสดงความเชื่อมั่นโดยไม่สมเหตุผล หรือ Overprecision… ซึ่งเป็นการใช้ความมั่นใจในระดับอวดดี อวดฉลาด โดยไม่หยุดไตร่ตรอง หรือ ฟัง หรือ รับรู้ข้อมูลขัดแย้งความเชื่อนั้น รวมทั้งความย้อนแย้งของความเชื่อส่วนตนที่ทำให้มั่นใจระดับนั้น

ความมั่นใจ หรือ ความมั่นใจในตนเอง หรือ Confidence ซึ่งเกี่ยวพันถึงความสุข ความเชื่อมั่น และ การตัดสินใจที่ดีจึงมีด้านที่ต้องระมัดระวังไม่ต่างจากการใช้มีดเตรียมอาหาร หรือ การใช้ไฟในครัว… ซึ่งมีด้านที่คนใช้ต้องระมัดระวัง และ ไม่ประมาท หรือ เชื่อมั่นเกินพอดี… เพราะนอกจากจะพลาดพลั้งได้ง่ายมากแล้ว ผลกระทบที่ตามมาก็มักจะย่ำแย่เลวร้ายเกินคาดเสมอ

References… 

Facebook
Twitter
LinkedIn
Pinterest
Tumblr

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *