นานมาแล้วที่งบประมาณแผ่นดินจำนวนมาก ถูกใช้ไปเพื่ออุดหนุนภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะนาข้าวและชาวนา ซึ่งเป็นปัญหาซับซ้อนเกินกว่าที่ใครๆ จะสามารถสะสาง “ปัญหาเรื่องข้าวและชาวนา” ได้ง่ายๆ เพราะไม่ว่าจะแตะมุมไหนของข้าวและชาวนา ล้วนซับซ้อนพัวพัน “จากปัญหาหาหนึ่งไปถึงทุกๆ ปัญหา” ได้เท่าที่ความหลากหลายจาก “คนทุกแบบในภาคเกษตรกรรม” สามารถจับคู่กับดินน้ำลมไฟ จนกลายเป็นปัญหาร้อยแปดรูปแบบ
เอาเฉพาะเรื่องเผาตอซังและฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยว เพื่อจะทำนาปรังรอบถัดไป… บางรายเผากันทั้งที่ฟางข้าวและตอซังที่เครื่องเกี่ยวนวดข้าวพ่นกองเอาไว้ยังชื้นอยู่ด้วยซ้ำ… ท้องทุ่งจึงไม่เหลือกลิ่นโคลนสาบควาย อันเป็นวิถีที่พวกเราควรช่วยกันดูแล เพื่อให้วิถีชีวิตชาวนาดั้งเดิมทำหน้าที่สะสมอาหารให้ทุกคนที่กินข้าว มีความมั่นคงทางอาหารที่ไม่ได้ก่อผลกระทบร้ายแรงให้ส่วนอื่นของสังคมและโลกใบนี้โดยไม่จำเป็น
เอกสารจากมูลนิธิเกษตรรักสิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) ได้เคยเผยแพร่เอกสารชื่อ ข้าว ซึ่งระบุประเด็นการเผาตอซังและฟางข้าวของชาวนา โดยเอกสารดังกล่าวระบุว่า
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 65 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ได้ผลผลิตข้าว 24 ล้านตัน มีฟางข้าวเฉลี่ยประมาณปีละ 25.45 ล้านตัน และมีปริมาณตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าว 16.9 ล้านตันต่อปี ดังนั้นจึงนับได้ว่ามีปริมาณฟางข้าวและตอซังข้าวมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับตอซังพืชชนิดอื่น โดยมีปริมาณฟางข้าวและตอซังมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ… มีฟางข้าวจำนวน 13.7 ล้านตันต่อปี และตอซัง 9.1 ล้านตันต่อปี… รองลงมาคือภาคกลางและภาคตะวันออกมีจำนวนฟางข้าว 6.2 ล้านตันต่อปี และมีจำนวนตอซัง 4.1 ล้านตันต่อปี
ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าว 1 ไร่ มีปริมาณฟางข้าวและตอซัง โดยเฉลี่ยปีละ 650 กิโลกรัม
การเผาตอซังและฟางข้าว สร้างปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนแล้ว ยังมีผลต่อคุณสมบัติดินและสิ่งแวดล้อมหลายประเด็นเช่น
- การเผาตอซังภายหลังเก็บเกี่ยวข้าว เป็นการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากพื้นดินสู่บรรยากาศซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
- การเผาตอซังทำให้ดินแน่นทึบ อัตราการซึมของน้ำช้าลง การไหลทางแนวราบสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องใช้น้ำมากกว่าปกติในการปลูกพืช
- การเผาตอซังทำให้ปริมาณไนโตรเจนบนผิวดินลดลง ส่วน pH ของผิวดินเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อน้ำท่วมคราวต่อไปจะมีการปรับ pH ให้เข้าสภาพเดิมอีก
- ปริมาณจุลินทรีย์หลายชนิดลดลงหลังการเผาตอซัง
- การเผาตอซังทำให้สูญเสียธาตุอาหารที่ควรจะหมุนเวียนลงในดิน
ประเด็นก็คือ ในพื้นที่ปลูกข้าว 65 ล้านไร่ มีปริมาณต่อสั่งฟางข้าวหลังเก็บเกี่ยวประมาณ 42 ล้านตันคิดเป็นมูลค่าของธาตุอาหารหลักคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม รวม 44,886 ล้านบาท และปริมาณธาตุอาหารที่สูญเสียไปกับการเผา 11,468 ล้านบาทต่อปี
การเผาตอซังและฟางข้าวก่อให้เกิดมลพิษปล่อยขึ้นสู่บรรยากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กสามารถลอยตัวอยู่ในบรรยากาศได้เป็นเวลานาน และถูกพัดพาเป็นระยะทางไกลจากแหล่งกำเนิด ซึ่งในฝุ่นละอองขนาดเล็กจะมี Black Carbon ซึ่งมีคุณสมบัติดูดกลืนรังสีดวงอาทิตย์ทำให้โลกร้อนขึ้น
ข้อเท็จจริงที่น่าเจ็บปวดก็คือ 69 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกข้าวในประเทศไทย หรือประมาณ 44.85 ล้านไร่ เผาตอซังและฟางข้าว… นั่นแปลว่าประเทศไทยมีปริมาณตอซังและฟางข้าวถูกเผาประมาณ 29.15 ล้านตันต่อปี
งานวิจัยเรื่อง Black Carbon Emissions from Paddy Open Burning in Thailand ของคณะเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับอัตราการปลดปล่อย Black Carbon จากการเผาบนพื้นที่นาในจังหวัดสมุทรสาครและจังหวัดนครสวรรค์ ผลการวิจัยพบว่าการเผาตอซังฟางข้าวในพื้นที่โล่ง 1 กิโลกรัมมีอัตราการปล่อย Black Carbon อยู่ในช่วง 0.04 – 0.08 กรัม… ตัวเลขการเผาตอซังและฟางข้าวในงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุไว้ที่ 29.15 ล้านตันต่อปี มีอัตราการปลดปล่อย Black Carbon จากการเผาตอซังและฟางข้าวอยู่ที่ 1,749 ล้านกรัมต่อปี หรือเท่ากับ 1,749 ตันต่อปีทีเดียว
สองสามวันก่อนแอบได้ยินหัวข้อสนทนาจากโต๊ะกาแฟข้างๆ ในพื้นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ พูดถึงเงินภาษีของพวกเขาที่เอาไปอุดหนุนราคาข้าวช่วยชาวนาอย่างเจ็บปวด… และพวกเขาเสนอให้ตัดสิทธิ์ชาวนาที่พ่นยาและเผาฟางได้มั๊ย?…
ล่าสุด… เวบไซต์ aecth.org ของมูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) ก็ได้เสนอภาพข่าวการทำงานเชิงรุก โดย ดร.ตะวัน ห่างสูงเนิน ประธานมูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) พร้อมเจ้าหน้าที่มูลนิธิ ได้เดินทางเข้าพบนายอำเภอแม่ลาน้อย ดร.ชูชาติ คำมา และเกษตรอำเภอ นายก อบต. แม่ลาน้อย รวมไปถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่แม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อแจ้งการเข้าพื้นที่มาทำกิจกรรมโครงการเพื่ออากาศบริสุทธิ์และหยุดเผา บนพื้นที่สูง รวมถึงฝากตัวอาสาสมัครให้อยู่ในพื้นที่เพื่อร่วมศึกษาและพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม
ส่งกำลังใจให้อาจารย์และทีมงานครับ!
#FridaysForFuture
Reference…