ความเป็นผู้นำนั้นเกิดจากทักษะและประสบการณ์ และภาวะผู้นำพัฒนาได้ด้วยการเรียนรู้ประสบการณ์ของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ แล้วนำทักษะกับประสบการณ์ และ ทรัพยากรที่ได้จากการเรียนรู้จากทุกมิติ มาใช้นำการตัดสินใจของทีมภายใต้การนำ ให้สามารถขับเคลื่อนเป้าหมายเดียวกัน… ย้ำว่า… ขับเคลื่อนไปที่เป้าหมาย โดยไม่กรอบการมีส่วนร่วมหรือจำกัดการมีส่วนร่วม และ ไม่กรอบการตัดสินใจหรือจำกัดการตัดสินใจ… แบบผู้นำเผด็จการที่สั่งเอา ทุบเอา หรือ บังคับเอาทั้งการตัดสินใจและการขับเคลื่อนเป้าหมายอย่างที่ตนเองต้องการ… ซึ่งเป็นผู้นำแบบนั้นไม่ยากและใครก็ทำได้
แต่ผู้นำแบบประชาธิปไตย หรือ ผู้นำแบบให้สิทธิ์ให้เสียงแก่สมาชิกทีมหรือลูกน้อง… ตามสมควรเป็นอย่างน้อย ภาวะการนำแบบนี้จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Participative Leadership หรือ ผู้นำแบบยอมรับการมีส่วนร่วม… ซึ่งบริบทการนำแบบ Participative Leadership จะไม่ได้มีบทบาทเชิง “กำกับดูแล” เหมือนผู้นำแบบอื่น… แต่จะเป็นผู้นำแบบที่ใช้ภาวะการนำเพื่อเปิดโอกาสให้ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และ การตัดสินใจจากสมาชิกทีมภายใต้การนำ ถูกใช้พิจารณาเป็นแนวทางขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกัน ภายใต้ฉันทามติของสมาชิกทีมที่เกี่ยวข้อง โดยมีความรับผิดชอบของผู้นำเองที่ต้องยืนยันโอบอุ้มฉันทามติที่ได้มาให้ถูกดำเนินการอย่างเหมาะสม
ผมเคยได้ยินคุณหมู… ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ เจ้าของอาณาจักร Ookbee และคีย์แมนคนสำคัญใน 500 TukTuks เล่าเรื่องข้อเสนอและการตัดสินใจจากลูกทีม ที่คุณหมูไม่เห็นด้วยที่จะมี Contents ดูดวง แต่ก็เคารพฉันทามติของทีมจนเกิดแพลตฟอร์ม A Duang หรือ A ดวง ที่มีสมาชิกหนาแน่นคึกคักทั้งหมอดูและคนมาดูหมอ… Bill Gates ในวันที่เป็นผู้นำ MicroSoft บนเก้าอี้ CEO ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนหนึ่งที่ให้อำนาจการตัดสินใจของลูกทีม โดยทำเพียงส่งเสริมการตัดสินใจ หรือ Empowering ให้ลูกทีมกล้าตัดสินใจมากกว่า… และผู้นำอย่าง Jeff Bezos ก่อนจะลงจากเก้าอี้ CEO ของอาณาจักร Amazon ก็ได้ชื่อว่าเป็นนายที่ไม่ตัดสินใจอะไรมากในแต่ละวัน ซึ่งข้อมูลจากหลายแหล่งเล่าตรงกันว่า… Jeff Bezos จะตัดสินใจเรื่องยากๆ ไม่เกิน 3 เรื่องต่อวันเท่านั้น
ประเด็นก็คือ… ผู้นำหรือหัวหน้าส่วนใหญ่ต่างก็เคยมีประสบการณ์ถามเอาข้อมูล และ ถามเอาการตัดสินใจจากลูกทีมหรือลูกน้องกันทั้งนั้น… แต่ท่าทีและความสามารถในการตัดสินใจ หรือ แม้แต่ท่าทีและความสามารถในการเสนอความเห็นของลูกทีม… อาจจะไม่ได้ดั่งใจของผู้นำเท่าไหร่!
ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นเพราะ “ท่าทีไม่ได้ดั่งใจของผู้นำเท่าไหร่” นั่นเองที่ปิดกั้นหลายอย่างที่ผู้นำควรจะได้จากทีม จนสุดท้ายก็กลับมาที่สั่งเอา–บังคับเอาจนได้ดั่งใจเสมอ
การสั่งเอา–บังคับเอาที่ว่านี้ แท้ที่จริงก็คือรูปแบบการสื่อสารจากผู้นำแบบหนึ่ง ที่มีไว้เพื่อขับเคลื่อนวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ผู้นำ “ไตร่ตรองมาแล้ว” ซึ่งการสั่งเอา–บังคับเอาจะเป็นรูปแบบการสื่อสารแบบ Top–Down หรือ บนลงล่างทางเดียว และลูกทีมหรือลูกน้องที่อยู่ข้างล่างทำได้อย่างเดียวคือ… ส่งผลงานตามที่สั่ง… เท่านั้น
การจะเปลี่ยนจากการเป็นผู้นำที่ต้องสั่งเอา–บังคับเอา หรือ เปลี่ยนจากผู้นำเผด็จการจึงไม่ยากที่จะเปลี่ยนแปลงและแก้ไข เพราะสามารถเริ่มต้นได้ที่ “การสื่อสาร” โดยเปลี่ยนจาก Top–Down หรือ บนลงล่างทางเดียว ไปเป็น Top–Down–Top หรือ สื่อสารแบบบนลงล่าง–ล่างขึ้นบน… เพื่อให้ทั้งผู้นำ หรือ หัวหน้า… ได้ยินความคิดเห็นของทีมหรือลูกน้อง ไม่ต่างจากที่พวกเขาได้ยินความคิดเห็นและคำสั่งจากหัวหน้า
แต่ก็อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนต้นคือ… ภาวะผู้นำแบบ Participative Leadership ไม่ได้ง่าย… เพราะภาวะผู้นำแบบ Participative Leadership ต้องการทักษะหลายอย่างอันเป็นทักษะทางอารมณ์ หรือ Soft Skills ซึ่งไม่มีในตัวผู้นำบางประเภท… โดยทักษะทางอารมณ์ หรือ Soft Skills ที่ผู้นำแบบ Participative Leadership ต้องมีเป็นพื้นฐานควรประกอบไปด้วย
- Approachable หรือ เข้าถึงง่าย… ผู้นำประเภทนี้จะดูอบอุ่นกับทีม และ เพื่อนร่วมงาน ไม่เป็นแหล่งที่มาของความเครียดหรือความกดดัน ทั้งกับทีมและบรรยากาศในการทำงานร่วมกัน
- Thoughtful หรือ รอบคอบ… ความรอบคอบถี่ถ้วนในตัวผู้นำจะทำให้ “ศรัทธา และ ความเชื่อมั่น” มีต่อภาวะการนำ… แม้จะเห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับข้อมูลและความคิดเห็นใดๆ ที่จำเป็นต้องร่วมตัดสินใจ
- Good Communicator หรือ เป็นนักสื่อสารที่ดี… การสื่อสารเป็นทักษะทางอารมณ์ของผู้นำที่จำเป็นที่สุด ซึ่งต้องสื่อสารด้วยการ “รับและส่งต่อข้อมูล หรือ สาร” ที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบและภายใต้ภาวะการนำนั้นทั้งหมด ให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนเข้าหาเป้าหมายเสมอ เมื่อข้อมูล หรือ สารถูกถ่ายทอดจากสมาชิกทีมคนหนึ่งไปถึงอีกคนหนึ่ง… รวมทั้งตัวผู้นำ
- Open-Minded หรือ เปิดใจ… การเปิดใจ หรือ การเปิดโอกาสให้… ข้อมูล หรือ สารพร้อมความประสงค์ที่ต่างออกไปจากความคิดเห็นและทัศนะส่วนตัว ได้ถูกพิจารณา ไปจนถึงถูกใช้ขับเคลื่อนภายใต้ความประสงค์ที่ผู้นำอาจจะเห็นต่าง แต่สามารถดำเนินการได้ในแบบที่เรียกว่า Not OK, But Committed หรือ ไม่โอเคแต่เอาด้วย
- Empowering หรือ ให้อำนาจ/สนับสนุนการตัดสินใจ… การให้อำนาจการตัดสินใจ ภายใต้ความเชื่อมั่นที่มีต่อลูกทีมว่า พวกเขาสามารถถือภาวะการนำได้ไม่ต่างจากตัวเอง ซึ่งถ้าไม่อาจเชื่อได้ว่าลูกทีมหรือลูกน้องจะคิดได้ตัดสินใจเป็น นั่นอาจจะเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีอำนาจการตัดสินใจ หรือ อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และตัดสินความคิดเห็นหรือข้อมูลแบบ “ครูตรวจข้อสอบ ที่มีเพียงผิดกับไม่เข้าท่า” ทั้งจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้าเอง ซึ่งเป็นการส่งสารว่า… ผู้นำไม่สนใจความคิดเห็นหรือข้อมูลจากล่างขึ้นบน… แต่ผู้นำสามารถสร้างและสนับสนุนให้ทีมกล้าตัดสินใจได้โดยการเปิดโอกาสให้ลูกทีมได้พัฒนาความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้อง… และฟังข้อมูลที่สื่อสารขึ้นมาจากพวกเขา
คร่าวๆ ประมาณนี้ก่อนครับ… เพราะรายละเอียดปลีกย่อย และ กรณีศึกษาในบริบทของผู้นำแบบ Participative Leadership นั้นมีมากและละเอียดลึกซึ้ง… แต่ยืนยันว่ามีประสิทธิภาพซึ่งจะเห็นชัดตั้งแต่บรรยากาศในที่ทำงานและความสัมพันธ์ภายในทีมโดดเด่นมาก่อนจะเห็นเป้าหมายถูกพุ่งชนเสียอีก… สิ่งสำคัญก็คือ… ผู้นำแบบ Participative Leadership เป็นคนละเรื่องกับผู้นำใจงาม หรือ หัวหน้าใจดี… ซึ่งวัดกันที่ประสิทธิภาพของผลงานเอา… ครับผม!
References…