ชีวิตประจำวันที่เร่งรีบ บวกกับความสนใจและความเอาใจใส่คนแปลกหน้า และ คนอื่นๆ น้อย… ทำให้หลายคนมีพฤติกรรมใจร้อน ฉกฉวยโอกาสก่อน เอาเปรียบคนอื่นด้วยการแทรกลำดับให้ตัวเองได้สิ่งที่ต้องการก่อน รอคอยไม่เป็น อดกลั้นไม่เป็น… ซึ่งหลายคนไม่เคยรู้ว่าได้สร้างความเสี่ยงขึ้นในนิสัยหลายประการ ตั้งแต่อุบัติเหตุที่ไม่ควรจะเกิด ไปจนถึงความผิดพลาดเสียหายต่อสวัสดิภาพและทรัพย์สิน รวมทั้งความขัดแย้งในสัมพันธภาพมากมาย… ซึ่งความสามารถในการอดทนและอดกลั้นถือเป็นทักษะการควบคุมตนเองขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกคน
ทักษะในการอดทน หรือ Patience Skill และ ทักษะในการอดกลั้น หรือ Tolerance Skill จะมีความคล้ายและทับซ้อนกันในพฤติกรรมอยู่บางส่วน แต่ก็มีรายละเอียดแตกต่างกันให้ต้องทำความเข้าใจให้เด่นชัดอยู่หลายส่วน… โดย Patience หรือ ความอดทนจะเป็นทักษะและความสามารถในการรอคอยโดยไม่หงุดหงิด ไม่โกรธ หรือ ไม่พอใจตัวแปร และหรือ เงื่อนไขที่สมเหตุสมผลให้ต้องรอคอย… ในขณะที่ Tolerance หรือ ความอดกลั้นจะเป็น “ชุดความคิด หรือ Mindset” ในการยอมรับข้อเท็จจริงต่อ “สถานการณ์ที่ยังเป็นไปไม่ได้ตามที่ต้องการ” โดยไม่สูญเสียความอดทน และ ความมุ่งมั่น
ประเด็นก็คือ… ความอดทนและความอดกลั้นนั้นให้ผลลัพธ์ด้านบวกเมื่อสิ้นสุดการรอคอย และหรือ ปัญหาถูกจัดการแก้ไขไปตามความต้องการแล้ว โดยส่วนใหญ่จะนำความสุขใจสบายใจมาให้กับคนรู้จักอดทนอดกลั้นได้ยั่งยืนกว่า… ถึงแม้จะได้มาช้ากว่าคนใจร้อนฉกฉวยที่หมดความสุขไปตั้งแต่อดทนรอคอยอะไรไม่ได้จนต้องแสดงพฤติกรรมมักง่าย และ เห็นแก่ตัวออกมาโน่นแล้ว
หลายท่านคงเคยได้ได้ยินการทดลองมาร์ชแมลโลว์ หรือ Marshmallow Experiment ในปี 1972 โดยนักจิตวิทยาเรืองนามอย่าง Professor Dr. Walter Mischel ซึ่งเป็นงานวิจัยเพื่อการวิจัยระยะยาว ที่ติดตามชีวิตเด็กที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่อายุ 4 ปี ไปจนอายุ 55 ปี ซึ่งต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลนาน 40 ปี โดยสิ้นสุดโครงการในปี 2022… ซึ่งแม้แต่ Professor Dr. Walter Mischel ก็ยังเสียชีวิตไปก่อนจะปิดโครงการ ตั้งแต่ 12 กันยายน 2018
การทดลองมาร์ชแมลโลว์ มีคำถามการศึกษาวิจัยถึงการอดทนรอคอย และ ความยับยั้งชั่งใจ หรือ ความสามารถในการอดกลั้นมีผลอย่างไรกับอนาคตของคนๆ หนึ่ง… ซึ่งนักวิจัยได้บันทึกขัอมูลเด็กในโครงการที่รอกินมาร์ชแมลโลว์ตามเงื่อนไข กับ เด็กที่กินมาร์ชแมลโลว์โดยไม่อาจอดกลั้นรอคอยอะไรได้ ถึงแม้นักวิจัยจะให้รอเพื่อจะได้มาร์ชแมลโลว์เพิ่มขึ้นก็ตาม… โดยอนาคตของเด็กเหล่านี้ในอีก 10 ปีต่อมา และ 20 ปี… 30 ปี และ 40 ปีต่อมาได้ถูกติดตาม วิเคราะห์ และ นำเสนอแง่มุมต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ… ซึ่งภาพรวมจากงานวิจัยทางจิตวิทยาพัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งของโลกอย่าง Marshmallow Experiment หรือ Stanford Marshmallow Experiment ยืนยันว่าเด็กที่อดทนอดกลั้น หรือ รอคอยและยั้งใจเป็นส่วนใหญ่จะประสบความสัมเร็จมากกว่า ความสัมพันธ์ดีกว่า และ มั่งคั่งได้มากกว่าด้วย
References…